Trump.2 อาจจบลงด้วย Make China Great Again!

ถ้าบอกว่าแนวทางของโดนัลด์ ทรัมป์ หากกลับมานั่งทำเนียบขาวด้านความมั่นคงน่ากลัวแล้ว แนวรบด้านการค้าและการลงทุนของสหรัฐฯ ต่อโลกน่าหวั่นเกรงกว่าเยอะเลย

นโยบายของทรัมป์เรื่องการค้าการขายอย่างที่เขาเคยทำมาในสมัยแรก และวาทะในช่วงหาเสียงที่เน้นเรื่องชาตินิยมและปกป้องผลประโยชน์ของตนเป็นหลัก ยิ่งสร้างความน่ากังวลให้กับเอเชียมากขึ้นหลายเท่า

เป็นที่รู้กันว่าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ในเอเชียเกือบทั้งหมดมีส่วนได้ประโยชน์จากการค้าและการลงทุนจากจีนเพิ่มมากขึ้น

จนถึงระดับที่ห่วงโซ่อุปทานและมูลค่าในภูมิภาคตอกย้ำความเป็นศูนย์กลางของประเทศจีนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หากทรัมป์กลับมาอาจจะเพิ่มภาษีของสินค้าจีนที่เข้าประเทศเพิ่มขึ้นอีก

ในขณะที่ ฝ่ายบริหารของไบเดนเพิ่งกำหนดอัตราภาษีใหม่ชุดหนึ่งสำหรับยานพาหนะไฟฟ้าที่ผลิตในจีนและส่วนประกอบที่เกี่ยวข้อง

หน่วยงานคลังสมอง ที่หรือ Think Tank ที่นำเสนอแนวคิดเหล่านี้ให้ทรัมป์ก็ย้ำเรื่อง Make America Great Again อย่างต่อเนื่อง ทรัมป์เองก็ตอกย้ำว่าเขาจะเดินหน้าเพิ่มภาษีสินค้าจีนต่อไปแน่นอน

เพราะทรัมป์อ้างว่าจีนมี "กลยุทธ์ในการครอบงำโลก" ดังนั้นสหรัฐฯ จึงมีอาวุธที่ได้ผลชัดเจนคือต้องตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้าจีนที่กำลัง “ท่วมตลาดโลก”

จึงเชื่อว่าได้รัฐบาล Trump.2 จะขึ้นภาษีและดำเนินนโยบายการค้าที่แข็งกร้าวและแยกห่วงโซ่อุปทานหรือ supply chain ของอเมริกาออกจากจีนเพิ่มเติมอีก

นั่นจะสร้างความปั่นป่วนให้กับการค้าโลกทันที...และนั่นก็จะกระทบประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

หากมองว่าการเผชิญหน้าของสหรัฐฯ กับจีนเป็น Zero-sum Game (ใครได้อีกฝ่ายหนึ่งต้องเสียหมด) ก็จะเพิ่มความน่ากลัวตรงที่ว่าทรัมป์จะต้อง “บดขยี้จีน” อย่างรุนแรงจนปักกิ่งต้องยอมตามเงื่อนไขของวอชิงตัน ซึ่งจีนไม่มีวันยอมศิโรราบโดยง่ายแน่นอน

แต่ในวิกฤตก็มีโอกาส

ขณะที่วอชิงตันเปิดศึกการค้ากับปักกิ่ง การนำเข้าจากประเทศอื่นๆ ในย่านนี้ก็เพิ่มขึ้นทั้งไปสู้สหรัฐฯ และจีน การส่งออกของจีนไปยังและการนำเข้าจากส่วนที่เหลือของเอเชียก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และการส่งออกจากประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ซึ่งมักพึ่งพาการนำเข้าของจีนในการส่งออกจำนวนมากไปยังสหรัฐอเมริกา ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกได้เช่นกัน

ตัวอย่างเช่น การส่งออกไปยังสหรัฐฯ จากประเทศต่างๆ เช่น เวียดนามหรืออินโดนีเซีย รวมถึงไทยก็เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจาก "สงครามการค้า" ครั้งแรกของทรัมป์กับจีน ซึ่งนำไปสู่ความไม่สมดุลทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้นอีกเช่นกัน

เป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของทรัมป์คือการลดการเสียดุลการค้ากับจีนและสหภาพยุโรป รวมถึงประเทศอื่นๆ ด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ทรัมป์น่าจะทำให้ประเทศในเอเชียที่มีการเกินดุลการค้า เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม หรืออินโดนีเซีย ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันเพิ่มขึ้นด้วย

หากตัวเลขการค้าของไทยมีปัญหากับสหรัฐฯ ก็คาดได้ว่าจะเจอกับแรงกดดันด้วยเช่นกัน สถาบันวิจัยที่ทำงานให้ทรัมป์ยังได้เสนอให้มีการเปิดตัวโครงการ “สหรัฐอเมริกา พ.ร.บ.การค้าต่างตอบแทน”

ซึ่งจะช่วยให้ฝ่ายบริหารของทรัมป์ในอนาคตสามารถกำหนดอัตราภาษีกับประเทศที่ปฏิเสธที่จะลดภาษีได้ แนวทางนี้จะส่งผลเสียต่อพันธมิตรของสหรัฐฯ เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แต่ประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย ก็จะได้รับผลกระทบด้วย

ทรัมป์เคยวิพากษ์วิจารณ์อัตราภาษีที่สูงของอินเดีย โดยเรียกอินเดียว่าเป็น “ราชาแห่งภาษี” และมีข้อเสนอแนะด้วยว่ารัฐสภาสหรัฐฯ ควรทบทวนสถานะความสัมพันธ์ทางการค้าปกติถาวรของจีน (PNTR) ซึ่งให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่จีน เช่น ลดภาษีศุลกากรหรือยกเลิกโควตานำเข้า

กรอบเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิก (IPEF) ซึ่งเปิดตัวโดยฝ่ายบริหารของ Biden ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นความคิดริเริ่มเชิงบวกจากกลุ่ม Think Tank

แต่ก็มีการเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยน IPEF เพื่อเน้นประเด็นทางการค้ามากขึ้น และลดการเน้นหัวข้อที่ไม่ใช่การค้า เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลง แต่ทรัมป์เองก็ขู่ว่าจะถอนสหรัฐฯ ออกจาก IPEF

ซึ่งก็จะซ้ำรอยที่ทรัมป์เคยสินใจถอนอเมริกาออกจากความตกลงหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ในช่วงวาระแรกที่เขาดำรงตำแหน่งครั้งก่อน

IPEF ซึ่งเปิดตัวในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2565 โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ถูกมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญของการขยายการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ ในภูมิภาค โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้รัฐในเอเชียมีทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการครอบงำทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของจีน การล่มสลายของ IPEF ที่เสนออาจส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อระเบียบเศรษฐกิจของภูมิภาค

IPEF (Indo-Pacific Economic Framework) ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อต้านอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีน

พันธมิตรในสหรัฐฯ มีความคาดหวังสูงสำหรับกรอบการทำงานที่จะมอบผลประโยชน์ที่จับต้องได้ เช่น ห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง ความพยายามในการลดคาร์บอนในการทำงานร่วมกัน และแนวทางปฏิบัติทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

แต่หากทรัมป์ถอนตัวออกจาก IPEF ด้วย จะไม่เพียงทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของอเมริกาเท่านั้น แต่ยังเพิ่มการพึ่งพาทางเศรษฐกิจต่อจีนโดยประเทศในเอเชียอีกด้วย

กลุ่มนักคิดที่ใกล้ชิดทรัมป์ยังเสนอให้มีการแยกตัวทางเศรษฐกิจออกจากจีนเพิ่มเติม รวมถึงเพิ่ม "การสนับสนุนเพื่อน" ในการค้าและการลงทุนของสหรัฐฯ เท่ากับการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาค

เพราะสินค้าจะถูกส่งไปยังหรือประกอบในประเทศอื่น ซึ่งอาจนำไปสู่การส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังสหรัฐอเมริกา

เวียดนามซึ่งมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญอยู่แล้ว อาจได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอิเล็กทรอนิกส์ แต่มีแนวโน้มที่จะเชื่อมโยงเศรษฐกิจเหล่านั้นอย่างใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น เพราะนั่นคือที่มาของเงินทุน ห่วงโซ่อุปทาน และเงินทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานใหม่จำนวนมาก

นอกจากนี้ ทีมงานนี้ยังเสนอแนะให้ใช้ความช่วยเหลือของ USAID อย่างมีกลยุทธ์เพื่อตอบโต้โครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน (BRI) โดยให้ความช่วยเหลือเฉพาะกับประเทศที่ “ภักดีต่อทรัมป์หรือรัฐบาลสหรัฐฯ” เท่านั้น

แนวทางการทำธุรกรรมเพื่อช่วยเหลือต่างประเทศนี้อาจยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตึงเครียด และบ่อนทำลายตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ในวงกว้างของสหรัฐฯ หากทรัมป์กดดันประเทศในเอเชียให้ปรับแนวทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นกับจีนอาจผลักดันให้พวกเขาใกล้ชิดกับปักกิ่งมากขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนอิทธิพลของจีนต่อไป

ความน่ากลัวของ Trump.2 คือการที่เขาไม่สนใจว่าประเทศอื่นๆ จะคิดกับอเมริกาอย่างไรหากเขาปรับเปลี่ยนนโยบายเข้าสู่โหมดของการที่จะเอาประโยชน์ใส่อเมริกาเท่านั้น ผลที่ตามมาอาจจะยิ่งกดกันให้ประเทศต่างๆ ขยับเข้าใกล้จีนมากขึ้นไปอีก

ที่ทรัมป์คิดว่าจะ Make America Great Again อาจจะกลายเป็นว่าทรัมป์ Make China Great Again จริง!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว

อองซาน ซูจี: เสียงกังวล จากลูกชายในวันเกิดที่ 79

วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาคือวันเกิดที่ 79 ของอองซาน ซูจี...ในวันที่เธอยังถูกคุมขังเป็นปีที่ 4 หลังรัฐประหารโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021