ยิ่งใกล้ปลายปี ผมเริ่มได้ยินเสียงแสดงความกังวลเรื่อง Trump.2 ในทำเนียบขาวหนาหูขึ้น
เพราะนโยบายด้านความมั่นคงและการค้าจะมีผลต่อเอเชียอย่างไรคือคำถามใหญ่ หากโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งต่อโจ ไบเดน ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้
ช่วงนี้สหรัฐฯ อยู่ในช่วงกลางฤดูกาลหาเสียงสำหรับการเลือกตั้ง ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาอาจเปลี่ยนแปลงทิศทางทางการทูต ความมั่นคง และเศรษฐกิจของวอชิงตันต่อเอเชียเป็นอย่างมาก
เพราะใครๆ ก็กลัวนโยบาย America First หรือ Make America Great Again (MAGA) ของทรัมป์เป็นอย่างยิ่ง
มีคำเตือนในสื่อมะกันแล้วว่า หากทรัมป์กลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เขาจะกำเริบเสิบสานถึงขั้นไร้เหตุไร้ผลเลยก็ได้
กลุ่ม “ถังความคิด” หรือ Think Tank ที่อยู่ใกล้ชิดกับทรัมป์เริ่มจะร่างนโยบายที่จะชงให้กับทรัมป์หลายเรื่อง ที่สอดคล้องกับความคิดของทรัมป์และสโลแกน “Make America Great Again”
เอกสารชุดนี้สะท้อนถึงโอกาสสูงขึ้นที่จะเห็นสงครามการค้ากับจีนอย่างร้อนแรงอีกรอบ
อีกทั้งยังมีประเด็นที่จะเพิ่มความเสี่ยงด้านความมั่นคง เพราะทรัมป์จะกดดัน NATO และพันธมิตรในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ฟิลิปปินส์และอาเซียนมากขึ้น
กดดันในแง่ที่จะลดงบประมาณของสหรัฐฯ และบังคับให้พันธมิตรควักกระเป๋ามากขึ้น
เพราะทรัมป์เคยขู่จะให้อเมริกาออกจาก NATO ถ้าสมาชิกในยุโรปไม่เพิ่มงบประมาณด้านการทหารตามที่เขาต้องการ
โดยทรัมป์อ้างว่าพันธมิตรทั้งหลายเอาเปรียบวอชิงตันด้วยการใช้เงินใช้ทองของสหรัฐฯ มากเกินไป
ด้านกลาโหมและความมั่นคงนั้น กลุ่มนักคิดของทรัมป์เสนอว่าพันธมิตรในยุโรปต้องเลิกคิดจะพึ่งพาอเมริกาทุกอย่าง
ยุโรปเองก็เริ่มมีอาการหวาดผวา จนมีเสียงดังขึ้นในหมู่ผู้นำฝรั่งเศสและเยอรมันว่าได้เวลาแล้วที่พวกเขาจะต้องคิดสร้างกลไกใหม่ที่จะพึ่งพาตนเองมากขึ้น
เลิกมองว่าจะต้องอาศัยอเมริกามาปกป้องหรือเป็นพี่เลี้ยงต่อไป
ยิ่งเมื่อมองจากแง่ยุโรปแล้วก็ยิ่งกังวลว่าทรัมป์จะเห็นประธานาธิบดีปูตินแห่งรัสเซียเป็น “เพื่อนที่พูดกันรู้เรื่อง”
ขณะที่ผู้นำยุโรปส่วนใหญ่ไม่ไว้วางใจปูตินเลย
หากทรัมป์กับผู้นำยุโรปมองรัสเซียต่างกันอย่างนี้ก็มีความเป็นไปได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรปจะเริ่มเหินห่าง
เปิดทางให้รัสเซียและจีนเจาะเข้าไปยุโรปเพื่อแยกให้ออกจากสหรัฐฯ
อันจะเป็นการง่ายขึ้นสำหรับการที่สองประเทศนี้จะบริหารความสัมพันธ์กับยุโรปเพื่อถ่วงดุลผลประโยชน์กับสหรัฐฯ
หากเกิดขึ้นเช่นนั้นจริง ความเป็นมหาอำนาจของตะวันตกก็จะแตกสลาย
และภาพของจีนกับรัสเซียในการก่อตั้ง “ขั้วอำนาจโลกใหม่” ก็อาจจะใกล้ความจริงขึ้นไปอีกหนึ่งขั้น
เมื่อทรัมป์มองว่า “อเมริกาต้องมาก่อน” และเพิ่มมุมมองด้านผลประโยชน์ด้านธุรกิจและการพาณิชย์ของอเมริกามากกว่าเดิม ก็อาจกระตุ้นให้มีการถอนกำลังทหารของสหรัฐฯ ออกจากยุโรปและเอเชีย
อย่างน้อยก็เริ่มแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเพียงแค่แสดงท่าทีเช่นนี้เท่านั้นก็จะก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมไปทั่วโลกได้ทันที
ขณะเดียวกันก็คาดได้ว่าทรัมป์จะกดดันญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ให้เพิ่มเงินสนับสนุนสำหรับการประจำการกองทหารสหรัฐฯ
เป้าหมายหลักของทรัมป์ในกรณีนี้น่าจะเป็นเกาหลีใต้ที่เขาเคยกล่าวหาว่าใช้เงินของอเมริกาแบบ “ขอโดยสารฟรี” มาตลอด
ทรัมป์ให้สัมภาษณ์เมื่อเร็วๆ นี้ว่าเขาจะพิจารณาการถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากเกาหลีใต้ “โดยสมบูรณ์”
พูดอย่างนี้ไม่ใช่ล้อเล่นหรือเกทับ เพราะทรัมป์เคยยุติการซ้อมรบร่วมกับเกาหลีใต้ในอดีตมาแล้ว
เมื่อทรัมป์มีแนวทางอย่างนี้ มีหรือที่คิม จองอึน แห่งเกาหลีเหนือจะไม่รอวันที่ทรัมป์กลับมาทำเนียบขาว
อย่างน้อยคิมก็คาดหวังว่าทรัมป์จะแสดงท่าทีเป็นมิตรกว่าโจ ไบเดน วันนี้
และอาจจะมีการจัดฉากประชุมสุดยอดระหว่างทรัมป์กับคิมอีกรอบก็ได้ ใครจะรู้
แต่ยุโรปน่าจะต้องรับภาระหนักที่สุด หากทรัมป์กลับมาจริง เพราะอาจจะมีการกดดันจากทำเนียบขาวให้ยุโรปจัดตั้งกองทัพด้านความมั่นคงของตนเองแทนที่จะพึ่งพิงงบประมาณสหรัฐฯ อย่างแต่ก่อน
กรณีไต้หวันก็เกิดความไม่แน่นอนเช่นกัน
แม้ว่าทรัมป์ปฏิเสธที่จะตอบว่าสหรัฐฯ จะมาช่วยเหลือไต้หวันหรือไม่ในกรณีที่มีการรุกรานโดยปักกิ่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านคลังสมองในเครือ MAGA เสนอว่าไต้หวันควรได้รับการสนับสนุนทางการทูตและการทหารจำนวนมากจากวอชิงตันต่อไป
ทั้งนี้เพื่อขัดขวางจีนอันเป็นเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของทรัมป์เช่นกัน
อย่างไรเสีย ไต้หวันจะยังคงเป็นจุดเปราะบางที่พร้อมจะระเบิดในภูมิภาคเอเชีย
จุดยืนของทรัมป์ต่อทะเลจีนใต้และความมุ่งมั่นในการเป็นพันธมิตรกับฟิลิปปินส์ คาดว่าจะยังคงมั่นคงต่อไป...หากอ่านเอกสารของ “Think Tank” ใกล้ชิดทรัมป์กลุ่มนี้
ที่ค่อนข้างแน่ชัดคือ ทรัมป์ยังมีแนวโน้มที่จะคงจุดยืนที่เป็นปฏิปักษ์ทั่วไปต่อจีน
และนั่นจะเป็นตัวกำหนดวาระแรกในการดำรงตำแหน่งของทรัมป์ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างกับท่าทีของฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ปัจจุบันภายใต้ไบเดนมากนัก
ท้ายที่สุดแล้ว เป้าหมายทางยุทธศาสตร์โดยรวมของสหรัฐฯ ในการดำรงไว้ซึ่งความเป็นเบอร์หนึ่งทางด้านทหารในภูมิภาคเอเชียยังเหมือนเดิม
เพราะทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่มีแนวคิดเรื่องนี้ละม้ายกัน
คือ ไม่ต้องการให้จีนผงาดขึ้นมาแซงหน้าสหรัฐฯ ทั้งในด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ
ในส่วนของ “ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง” ของสหรัฐฯ ทีมนักคิดนโยบายด้านความปลอดภัยของทรัมป์คาดว่าจะยังเชื่อในแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายของไบเดนอย่างใกล้ชิด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการสนับสนุนโครงการริเริ่มระดับย่อยที่มุ่งสร้างสมดุลหรือขัดขวางจีน เช่น AUKUS และ Quad
แต่อาจจะมีการซ้อมรบทวิภาคีหรือระดับภูมิภาคเพิ่มขึ้นในหมู่พันธมิตรเช่นญี่ปุ่นและออสเตรเลีย
แต่ทีมงานที่กำลังช่วยร่างนโยบายทั้งหลายเหล่านี้ก็ยังเตือนว่ายังไม่มีอะไรแน่นอนว่าทรัมป์จะเชื่อตามข้อเสนอ หรือจะหันไปใช้กลยุทธ์อีกแบบหนึ่งหากชนะเลือกตั้งจริง
มีความเป็นไปได้ว่าทรัมป์อาจตัดสินใจเพิ่มศักยภาพทางทหารของสหรัฐฯ ในเอเชียมากขึ้นก็ได้
ทรัมป์อาจเพิ่มจำนวนเครื่องสกัดกั้นขีปนาวุธของสหรัฐฯ และขีปนาวุธนำวิถีที่ใช้นิวเคลียร์ได้ในภูมิภาคนี้ เพื่อตอบโต้ภัยคุกคามสองประการจากการรุกรานของจีนต่อไต้หวัน และขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ
ทรัมป์อาจเอาแนวคิดนี้ไปวางกำลังเรือรบสหรัฐฯ ในระดับสูงขึ้นในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก เพื่อตอบโต้การมีอยู่ทางทหารที่เพิ่มขึ้นของจีนในภูมิภาคนี้
แต่แม้ว่าทรัมป์จะเดินตามแนวนี้ ก็อาจจะไม่สามารถลดดีกรีความเสื่อมถอยของอำนาจทางการทหารของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ได้
เพราะมีสัญญาณว่าจีนจะเพิ่มศักยภาพทางทหารอย่างต่อเนื่องและสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์อาจจะสลับสับเปลี่ยนลำดับความสำคัญที่มีต่อเอเชียได้เช่นกัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว