ผู้นำสิงคโปร์คนใหม่ลอเรนซ์หว่องกับนายกฯอันวาร์อิบราฮิมของมาเลเซียพบกันอย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา...และตอกย้ำว่าไม่มีอะไรสำคัญไปกว่า “ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน”
ความเป็นเพื่อนบ้านที่แนบแน่นทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ แม้จะมีเรื่องระหองระแหงเหมือนลิ้นกับฟัน แต่ทั้งสองประเทศก็ไม่อาจจะมีรอยร้าวต่อกันได้
เพราะเสียหายทั้งคู่
พบกันวันก่อนทั้งสองยืนยันว่าจะมีความต่อเนื่องในแง่ของแนวทางความร่วมมือเชิงกลยุทธ์
“สำหรับผม สิ่งที่สำคัญในช่วงเริ่มต้นนี้ เพิ่งเข้ามารับช่วงต่อ ไม่ใช่การพูดถึงลำดับความสำคัญในแง่ของโครงการหรือวาระการประชุมมากนัก แต่ต้องให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของกันและกันและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับนายกรัฐมนตรี อันวาร์ นายกรัฐมนตรีของผม เพราะความไว้วางใจคือทุกสิ่งทุกอย่าง
“เมื่อมีความไว้วางใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างผู้นำ เราสามารถทำหลายๆ อย่างให้สำเร็จได้” หว่องบอกเพื่อนผู้พี่จากมาเลเซีย
อันวาร์ต้อนรับหว่องด้วยการเลี้ยงข้าวกลางวันที่อาคารเสรีเปอร์ดานา ซึ่งเป็นบ้านพักอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย
ถือเป็นการเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนที่แล้ว
หว่องบอกว่าอันวาร์เป็นผู้นำต่างชาติคนแรกที่โทรหาเขาเช้าวันที่หลังจากที่เขาสาบานตนแสดงความยินดี
“เรากำลังสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งมากจากรุ่นก่อนๆ ” หว่องกล่าว
“นายกรัฐมนตรีอันวาร์มีความสัมพันธ์ที่ดีอย่างยิ่งกับนายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ซึ่งปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีอาวุโส และผมกำลังต่อยอดความสัมพันธ์นั้นและสานต่อความสัมพันธ์นั้นในระดับผู้นำ”
ความสำคัญของการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเพื่อนบ้านคือการสร้างกลไกทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ระดับ
เพราะเพียงแต่ระดับผู้นำเท่านั้นไม่อาจจะสร้างความสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพเหนียวแน่นได้
และไม่เพียงแต่จะเน้นเรื่องเก่าเท่านั้น แต่ยังต้องขยายความร่วมมือไปในด้านใหม่ ๆ
หว่องใช้คำว่า “the right spirit” ซึ่งมีความสำคัญมากในการทำให้สองประเทศทำงานร่วมกันอย่างจริงใจและจริงจังเ
เพราะมันแปลว่า “จิตวิญญาณที่ถูกต้องและตรงกัน”
และเน้นความร่วมมือที่ครอบคลุมถึงภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม และมหาวิทยาลัยด้วย
เพราะลำพังแค่รัฐมนตรีและข้าราชการติดต่อกันอย่างเป็นทางการ ก็มิอาจจะสร้างความแน่นแฟ้นในทุก ๆ มิติได้
โครงการร่วมของสองประเทศที่หว่องเรียกว่า "ผู้เปลี่ยนเกมสำคัญ" หมายรวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์-สิงคโปร์ (SEZ) ที่กำลังจะมีขึ้น
และการเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนด่วนยะโฮร์บาห์รู-สิงคโปร์ (RTS)
แต่ทั้งสองผู้นำก็รู้ดีกว่าสองประเทศมีการแข่งขันกันในหลาย ๆ ด้าน
นายกฯสิงคโปร์บอกว่าแม้ว่าผู้คนจะพูดถึงการแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างสิงคโปร์และมาเลเซียค่อนข้างหนาหู แต่ทั้งสองประเทศก็เสริมซึ่งกันและกัน
และการแข่งขันระดับใหญ่กว่านั้นอยู่นอกเหนือพลวัตของสิงคโปร์-มาเลเซียและอยู่นอกภูมิภาค
"ในความเป็นจริง เรามีความคล้ายคลึงมากกว่าความแตกต่าง เราเป็นสองประเทศที่มีความผูกพันกันอย่างยั่งยืนทั้งในด้านวัฒนธรรม เครือญาติ และประวัติศาสตร์ เราทั้งสองมุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้นบนพื้นฐานของธรรมาภิบาลและความสามัคคีในสังคม" หว่องกล่าว
ใช่ว่ามาเลเซียกับสิงคโปร์จะไม่มีข้อพิพาทที่ยังรอการแก้ไขอยู่
ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องน่านน้ำ น่านฟ้า และชายแดนทางทะเล
“ไม่ว่าความแตกต่างใดๆ ที่เราอาจมีในประเด็นเหล่านี้ ไม่ควรส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์โดยรวม และไม่ควรเบี่ยงเบนไปจากความเป็นไปได้ในการแสวงหาความร่วมมือด้านใหม่ๆ” หว่องย้ำ
นักข่าวถามว่ามีกรอบเวลาในการจัดการกับประเด็นเรื่องที่ยังค้างคาใจกันอยู่หรือไม่ อันวาร์ตอบทันควันว่า
“ความจริงควรจะแก้ไขมันไปแล้วตั้งแต่เมื่อวานด้วยซ้ำ”
ทั้งสองประเทศกำลังคุยกันเรื่องรถไฟความเร็วสูงที่จะเชื่อมต่อกัน
แม้จะมีความเห็นแย้งกันอยู่ แต่ผู้นำเพื่อนบ้านทั้งสองก็ต้องพิสูจน์ให้ประชาชนของตนเห็นว่าต้องสามารถเคลียร์กันให้ได้
เพราะเศรษฐกิจของสองประเทศนี้ผูกพันกันอย่างเหนียวแน่น
ใครจะเล่นแง่อย่างไรในอดีต วันนี้ก็ต้องหาทางประสานกันเพื่ออนาคตเท่านั้น
โครงการรถไฟความเร็วสูงของทั้งสองชาติมีเป้าหมายเพื่อลดเวลาการเดินทางระหว่างสิงคโปร์และกัวลาลัมเปอร์ให้เหลือประมาณ 90 นาที
แต่ที่ผ่านมาก็มีอุปสรรคอยู่ไม่น้อย
เพราะเคยถูกยกเลิกแล้วหลังจากการเลื่อนหลายครั้งตามคำร้องขอของฝั่งมาเลเซีย
ถึงจุดหนึ่งถึงกับประเทศยกเลิกเมื่อเดือนธันวาคม 2563
ต้องคอยดูว่าผู้นำใหม่ทั้งสองจะหาทางฟันฝ่าอุปสรรคเรื่องนี้อย่างไร
อีกเรื่องหนึ่งคืออาเซียน
หว่องบอกว่าสิงคโปร์จะสนับสนุนมาเลเซียอย่างเต็มที่ในการดำรงตำแหน่งประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในปีหน้า
“เราหวังว่าจะสามารถทำงานร่วมกันเพื่อกำหนดวาระที่ทะเยอทะยานและมองไปข้างหน้าสำหรับอาเซียนในอีก 10 ถึง 20 ปีข้างหน้า” เขากล่าว
หว่องบอกว่าสิงคโปร์และมาเลเซียกำลังทำอยู่นั้นเป็นสิ่งที่อาเซียนควรทำในหลาย ๆ ด้านเพื่อเสริมสร้างการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจให้เป็นประชาคมเดียวกัน
ผู้นำสิงคโปร์คนใหม่ต้องข้อสังเกตว่าอาเซียนมีความก้าวหน้าในหลาย ๆ มิติในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
แต่ยังไม่พอ เขาเชื่อว่า "ยังมีขอบเขตอีกมากสำหรับเราที่จะมารวมตัวพลังเพื่อทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น"
ก้าวต่อไปของสองเพื่อนบ้านที่เป็นเพื่อนบ้านไทยด้วยมีความหมายต่อย่างก้าวของไทยอย่างแน่นอน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว