กระแสการเมืองขวาจัดในอียู จะกระทบอาเซียน-ไทยอย่างไร?

ประธานาธิบดีฝรั่งเศสเอ็มมานูเอล มาครง สร้างความแตกตื่นพอสมควรที่ประกาศยุบสภาเลือกตั้งใหม่ 30 มิถุนายนนี้

ท่ามกลางความหวาดหวั่นว่ากระแส “ขวาจัด” ทางการเมืองกำลังเกิดกระแสแรงจัด

ไม่เฉพาะในฝรั่งเศส แต่อีกหลายประเทศในยุโรป ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายสำคัญๆ หลายด้าน รวมถึงการช่วยเหลือยูเครนในการทำสงครามกับรัสเซีย และนโยบายการค้าการลงทุนกับต่างชาติ กับนโยบายรับคนต่างชาติเข้าเมืองและท่าทีต่อเรื่องความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศที่เป็นประเด็นร้อนอยู่ขณะนี้

และหากโดนัลด์ ทรัมป์ กลับเข้าทำเนียบขาวหลังการเลือกตั้งสิ้นปีนี้ที่อเมริกา กระแส “ขวาจัด” ก็จะแพร่กระจายไปทั่วโลกตะวันตก

ความกลัวว่าสงครามการค้าจะหวนกลับมา และนโยบายการกีดกันการค้าทั่วโลกจะระบาดกว้างไกล เป็นแนวโน้มที่จะมีผลกระทบต่ออาเซียนและไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้

เหตุผลชัดเจนที่มาครงประกาศยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้นฉับพลันหลังจากพรรคการเมืองฝ่ายขวาของฝรั่งเศสได้รับเสียงมากกว่าพรรคของมาครงในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป หรือ European Parliament เมื่อวันอาทิตย์

ทันใดนั้นก็มีเสียงวิเคราะห์ว่าแนวโน้มอย่างนี้จะเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับทิศทางทางการเมืองในอนาคตของยุโรปอย่างแน่นอน

แม้พรรคการเมืองแนวสายกลาง, เสรีนิยมและสังคมนิยมจะยังรักษาเสียงข้างมากในรัฐสภายุโรปซึ่งมีที่นั่ง 720 ที่นั่ง แต่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ก็มีผลกระทบต่อสถานภาพของผู้นำทั้งฝรั่งเศสและเยอรมนีอย่างเห็นได้ชัด

เกิดคำถามว่ามหาอำนาจสำคัญของสหภาพยุโรปสองประเทศนี้จะสามารถขับเคลื่อนนโยบายในสหภาพยุโรปได้อย่างไร

แน่นอนว่า การตัดสินใจยุบสภาเป็นการตัดสินใจเสี่ยงทางการเมืองแบบมีเดิมพันสูง

เพราะไม่แน่ว่าเขาจะสามารถน้าวโน้มคนฝรั่งเศสให้เลือกเขาและพรรคของเขากลับมานั่งในเก้าอี้เดิมหรือไม่

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ แห่งเยอรมนีก็เผชิญกับ “ค่ำคืนอันเจ็บปวด” ที่พรรคโซเชียลเดโมแครตของเขาได้รับคะแนนเสียงแย่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา

เพราะคะแนนเทไปทางเครือข่ายพรรคอนุรักษนิยมกระแสหลักและกลุ่มทางเลือกขวาจัดสำหรับเยอรมนี (AfD)

อีกด้านหนึ่ง นายกรัฐมนตรีจอร์เจีย เมโลนี ของอิตาลีกลับได้รับการเสริมส่งให้แข็งแกร่งขึ้นโดยกลุ่มการเมืองสายอนุรักษนิยมของเธอที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด สูงสุด

เมื่อการเมืองเอียงไปด้านขวาจัด มีความหมายอย่างไร?

การที่ สส.ของประเทศสมาชิกต่างๆ ในรัฐสภายุโรปเอียงไปทางขวามากขึ้นหมายความว่าจะทำให้การผ่านกฎหมายใหม่ยากขึ้น

จะมีผลกระทบต่อนโยบายความมั่นคง, กฎหมายที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจะกระทบต่อความมุ่งมั่นของอียูในการแข่งขันทางอุตสาหกรรมกับจีนและสหรัฐอเมริกา

อาจารย์ปิติ ศรีแสงนาม วิเคราะห์ว่าผลจากการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปครั้งนี้เป็นการเลือกตั้ง European Parliament ครั้งแรกหลัง Brexit เมื่อผลออกมาเช่นนี้จะเห็นความปั่นป่วนในยุโรปมากขึ้น เช่น

1.ฝ่ายขวาจัดได้ที่นั่งเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ

2.แม้ฝ่ายขวากลางยังได้เสียงข้างมาก แต่ก็จะทำให้การผ่านกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคงและนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่เปิดกว้างตามยุทธศาสตร์ระดับโลกที่เรียกว่า EU Global Strategy ทำได้ยากขึ้น

3.ที่กระทบไทยโดยตรงคือการเจรจาระหว่างไทยกับอียู หรือ FTA Thailand-EU อาจชะงักหรือล่าช้าลง

4.ฝรั่งเศสยุบสภาเพราะฝ่ายตรงข้ามประธานาธิบดีมาครงที่นำโดย Marine Le Pen ได้คะแนนนิยมสูงมาก

5.นายกฯ เบลเยียมก็ลาออกเพราะเหตุผลเดียวกัน ขวาจัดมาแรง

6.ต้องดูต่อว่า เยอรมนีจะมีท่าทีอย่างไร เพราะขวาจัดก็มาแรง

7.นโยบายขวาจัดมาแบบนี้ นโยบายช่วยเหลือผู้อพยพ เงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ลดลงแน่นอน

8.นโยบายของยุโรปต่ออาเซียน โดยเฉพาะการยกระดับสู่ Comprehensive Strategic Partnerships การขอเข้าร่วม East Asia Summit และ ADMM+ น่าจะยังคงเดินหน้า แต่กระบวนการคงช้าและมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น

9.เงินสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ เช่น capacity building program ที่อาเซียนเคยได้สนับสนุนอาจจะลดลง

10.เมื่อผสมกับการคาดการณ์เรื่อง Trump จะกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอีกรอบ... ท่าทีของ NATO ในการสนับสนุนสงครามในยูเครนอาจเปลี่ยนแปลง

มีคำถามว่า สาเหตุของการที่ประชาชนในอียูหันไปสนับสนุนพรรคการเมืองขวาจัดมีอะไรบ้าง คำตอบคือเรื่องปากท้องเป็นสำคัญ

ชาวบ้านบ่นเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซ้ำเติมด้วยความกังวลเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานของผู้อพยพจากต่างแดนที่มาแย่งงานและความมั่นคงปลอดภัยของตน อีกทั้งยังมีปัญหางบประมาณที่เพิ่มขึ้นสำหรับการเข้าสู่ “เศรษฐกิจสีเขียว”

และปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาชนในยุโรปไม่น้อยเริ่มจะเห็นว่างบประมาณที่รัฐบาลของตนใช้สนับสนุนสงครามยูเครนเกินกว่า 2 ปีนั้นเป็นภาระที่หนักเกินไป

โลกกำลังเข้าสู่ภาวะเปลี่ยนผ่านที่พลิกกลับไปสู่ยุค “ตัวใครตัวมัน” และลดระดับของ “โลกาภิวัตน์” หันมาคบเฉพาะคนที่อยู่ใน “ค่าย” เดียวกันตน

ความขัดแย้งและโอกาสเกิดสงครามก็พุ่งพรวดพราดขึ้นมาอย่างน่าหวั่นเกรง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว