ชะตากรรมของโครงการ “เติมเงินหมื่นผ่านดิจิทัลวอลเล็ต” ยังแขวนอยู่บนเส้นด้าย
ยังไม่มีคำอธิบายว่าทำไมโฆษกรัฐบาลบอกว่าจะแจกให้คนถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.98 ล้านคนก่อน 30 กันยายนนี้ แต่รัฐมนตรีช่วยคลังบอกว่าจะแจกพร้อมกันทั้ง 50 ล้านคนในไตรมาสสี่
ยิ่งวันยิ่งเห็นความสับสนอลหม่านภายในการบริหารรัฐบาลในเรื่องนี้มากขึ้น
แต่ไม่มีใครอธิบายว่ามันเกิดอะไรขึ้นจริงๆ
มิหนำซ้ำยังมีคำเตือนจากหน่วยงานด้านวิเคราะห์เศรษฐกิจอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย, สภาพัฒน์ และสำนักงบประมาณที่ยังมีข้อข้องใจและข้อสังเกตว่าการแจกเงินยังมีความเสี่ยงอะไรบ้าง
เอกสารจาก ธปท.-สศช. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ส่งถึงคณะรัฐมนตรีประกอบการพิจารณาเรื่องนี้เตือนว่าการแจกเงินดิจิทัล เสี่ยงฉุดความเชื่อมั่นวูบ
เพราะจะทำให้ภาระการชำระหนี้ภาครัฐพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะหนี้สาธารณะและภาระดอกเบี้ยภาครัฐที่เพิ่มขึ้น
มิหนำซ้ำยังเพิ่มความเสี่ยงทางการคลังที่อาจเกิดขึ้นในวันข้างหน้า
ความกังวลนี้เกิดจากการเพิ่มวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท
เพื่อใช้สำหรับการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ตามนโยบายรัฐบาล
หนังสือของ ธปท.แจ้งว่าไม่ขัดข้องกับวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ที่สำนักงบประมาณเสนอ
แต่ย้ำว่าจะต้องเป็นไปตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561
ซึ่งกำหนดให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกระทำได้เมื่อมีเหตุผลความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายเงินระหว่างปีงบประมาณ โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไปได้
รวมถึงต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย
จึงควรพิจารณาจัดการกับความเสี่ยงทางการคลังที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าควบคู่ไปด้วย
โดยเฉพาะหนี้สาธารณะและภาระดอกเบี้ยภาครัฐที่เพิ่มขึ้น
ซึ่งอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและต้นทุนการระดมทุนของภาครัฐและเอกชน
และต้องหาทางเก็บภาษีให้เพิ่มขึ้น
จึงควรให้ความสำคัญกับการปฏิรูปและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้รัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม
รวมถึงดำเนินนโยบายภาษีที่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้รัฐบาลเท่าที่จำเป็น
สศช.เป็นห่วงว่าภาระหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นและพื้นที่ทางการคลังลดลงในช่วงปีงบประมาณ 2567-2568
ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
ด้านสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า ไม่ขัดข้องหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ และกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะแล้ว
เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของคณะรัฐมนตรีที่จะพิจารณาให้ความเห็นชอบได้ตามที่เห็นสมควร
ส่วนสำนักงบประมาณได้เผยแพร่ 6 หลักเกณฑ์ในประเด็นเดียวกันนี้
วงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ 1.22 แสนล้านบาทนี้มีแหล่งเงินจาก 2 แหล่ง ได้แก่ การจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิม 10,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 1.12 แสนล้านบาท
หลักเกณฑ์ฯ ไว้ 6 ข้อที่ว่านี้คือ
1.น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบแนวคิด โดยคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ความเป็นธรรมทางสังคม นโยบายงบประมาณ เสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลัง นโยบายรัฐบาล ความจำเป็นและภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณและเกิดผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการภาครัฐ
2.ดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ 2561-2580), แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2566-2580) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม), แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570), นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ.2566-2570), เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน, แผนปฏิบัติราชการของกระทรวง, ความจำเป็นและภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ, แผนย่อยของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ, นโยบายสำคัญของรัฐบาล, ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ
และปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2567 เรื่องวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 กำหนดวัตถุประสงค์ไว้เพื่อดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เม.ย.2567 สำหรับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล
ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
โดยสามารถกระจายไปทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจถึงระดับฐานรากเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ และการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศต่อไป
รวมถึงปฏิบัติตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561, พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 รวมถึงกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีอย่างครบถ้วน
3.ทบทวนวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมายการให้บริการ ผลผลิต โครงการ กิจกรรม ตัวชี้วัดให้สะท้อนถึงผลสัมฤทธิ์ของหน่วยรับงบประมาณที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี และโครงสร้างแผนงานตามที่สำนักงบประมาณกำหนด
4.ให้แสดงวัตถุประสงค์ ความจำเป็น ผลสัมฤทธิ์ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ แผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ กรอบประมาณการรายจ่ายล่วงหน้าระยะปานกลาง (MTEF) รายงานเกี่ยวกับสถานะและแผนการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ ตามแบบที่สำนักงบประมาณกำหนด
5.หน่วยรับงบประมาณที่สามารถนำเงินนอกงบประมาณมาใช้จ่ายได้ ให้พิจารณานำเงินนอกงบประมาณที่มีอยู่นั้นมาสมทบตามความเหมาะสม โดยถือเป็นหลักการว่าเงินนอกงบประมาณนั้น เป็นเงินที่พึงต้องนำมาใช้ดำเนินภารกิจเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน เช่นเดียวกับเงินงบประมาณ
6.ให้นำข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายในปีที่ผ่านมา ใช้เป็นแนวทางในการจัดทำคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายคู่มือปฏิบัติการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567
คำเตือนและข้อสังเกตของหน่วยงานทั้ง 4 นี้แม้จะมองว่าเป็นการแสดงความเห็นจากที่ทาง ครม.ขอไปตามขั้นตอนปกติ แต่ก็สังเกตได้ว่าทุกหน่วยงานมีความกังวลตรงกันว่ารัฐบาลจะมีความสามารถในการทำให้การแจกเงินหมื่นครั้งนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่
และใครจะได้ประโยชน์ที่แท้จริง
หน่วยงานเหล่านี้อาจจะไม่ได้ระบุถึงความห่วงใยต่อผลของนโยบายที่ตอบโจทย์เฉพาะหน้าแบบนักการเมือง แต่ถ้าอ่านระหว่างบรรทัดก็จะเข้าใจได้ว่าคนที่เขาทำงานด้านนโยบายการเงินการคลังมายาวนานในกลไกรัฐเหล่านี้กำลังส่งสัญญาณเตือนที่ประชาชนกำลังมีคำถามทำนองเดียวกัน
อยู่ที่รัฐบาลเองจะหารายได้และใช้เงินภาษีประชาชนอย่างชาญฉลาดและตอบโจทย์ของปัญหาบ้านเมืองอย่างแท้จริงหรือไม่!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ