ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 14)

 

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร)  การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476

ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี  แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง

ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า

ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า

และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า

การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่  8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ? 

การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ

หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์ 

สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก

สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา

สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร

ต่อจากกบฏบวรเดชเป็นเวลาเกือบสองปี ได้เกิด “กบฏนายสิบ” ขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ไม่มีข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกบฏนายสิบนี้ นอกเหนือไปจากข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลที่เริ่มต้นจากการที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมได้รับแจ้งเบาะแสมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่สืบรู้มาว่ามีผู้สมคบคิดกันวางแผนจะยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์และวางแผนกำจัดบุคคลสำคัญบางคนในคณะรัฐบาล

และเช่นกัน กบฏพระยาทรงสุรเดช ก็ไม่ต่างจากกรณีกบฏนายสิบ นั่นคือ   “ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความผิดจริงหรือไม่ หากแต่หลวงพิบูลสงครามเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีแนวคิดต่อต้านตน” (ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้าhttp://wiki.kpi.ac.th/index.php?title =พันเอก_พระยาทรงสุรเดช_(เทพ_พันธุมเสน)  ) 

กล่าวได้ กบฏที่เกิดขึ้น 3 ครั้งก่อนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่นำไปสู่การเกิด รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490  เป็นกบฏจริงอยู่เพียงครั้งเดียว นั่นคือ กบฏบวรเดช ส่วนอีกสองครั้งนั้น เป็นกบฏในจินตนาการของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม

ในหนังสือ “ท.ส. เจ้าคุณทรงสุรเดช: สารคดีเบื้องหลังประวัติศาสตร์การเมือง” ของ สำรวจ กาญจนสิทธิ์ อดีตนายทหารหลายเหล่าทัพ ผู้เป็นศิษย์และเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่สนิทของ พันเอก พระยาทรงสุรเดช ได้เล่าถึงความเป็นมาของเหตุการณ์ที่ถูกเรียกขานว่า  “กบฏพระยาทรงสุรเดช” ไว้ในบทที่เจ็ด ที่เขาตั้งชื่อบทว่า “อาณาจักรแห่งความหวาดกลัว”

ผู้เขียนจะได้หยิบยกสาระสำคัญมาเล่าต่อจากตอนที่แล้ว

“เนื่องจากประกาศครึกโครมทางวิทยุกระจายเสียงของทางราชการถึงการจับกุมกวาดล้างครั้งใหญ่ ทำให้ข้าราชการทหาร พลเรือน ประชาชน เชื่อถือมากในขณะนั้น ผู้ที่ได้ยินได้ฟังเกลียดกลัวคนที่ถูกกล่าวหา (กบฏในจินตนาการของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม/ผู้เขียน)  ไม่ประสงค์จะให้ความร่วมมือแสดงความเป็นมิตรแต่ประการใด้ทั้งสิ้น เขาเข้าใจและเชื่อถือว่าเป็นความจริงตามที่ราชการประกาศ (พันเอก หลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น/ผู้เขียน)

สังคมเมืองไทยสมัยนั้น ยังดื่มด่ำกับความเห็นแกตัว ชีวิตใครชีวิตมัน ไม่เหลียวแลแยแสต่อผู้อื่น ถ้าผู้นั้นถูกทางการกล่าวร้ายป้ายผิด เขาก็จะหลีกหลบไม่ยินดีติดต่อด้วยทันที ปราศจากการพิจารณาไตร่ตรองรอบคอบว่าเป็นการใส่ร้ายโดยอยุติธรรมหรือไม่  มันไม่ใช่เรื่องของเขา การเผื่อแผ่น้ำใจไมตรีเพื่อผดุงความยุติธรรมของสังคมยังไม่เกิดขึ้นเหมือนปัจจุบัน

ทั้งนี้เป็นเพราะเหตุใด ?  ความหวาดกลัวภัยเป็นสาเหตุสำคัญ ภัยจากทางราชการโดยเฉพาะตำรวจ ทำให้ประชาชนไม่ยอมยุ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ของผู้อื่นและของชาติบ้านเมือง ตำรวจได้ใช้อำนาจกดขี่ ข่มเหงผู้ที่ทางการกุมอำนาจว่าเป็นปฏิปักษ์เป็นตัวอย่างโดยทั่วไป การใช้อำนาจในทางที่ผิดความยุติธรรม แพร่กระจายไปทั่วทุกหัวระแหงเมืองไทย ตำรวจชั้นผู้น้อยยินยอมทำตามคำสั่งเจ้านายทุกประการ ผิดกฎหมาย ไร้ความยุติธรรม ก็ยินดีเพื่อแลกกับขั้นเงินเดือนและยศเพียงสิบตำรวจตรีเท่านั้น

ประชาชนส่วนใหญ่ ปราศจากความรู้สึกนึกคิดในสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตย ไม่มีการรวมตัว รวมพลัง กระทำการตามแนวทางความยุติธรรมของสังคม ระบอบเผด็จการจึงครอบคลุมประเทศไทยได้อย่างง่ายดาย

ผู้แทนราษฎรประเภท 1  ซึ่งราษฎรเลือกมาเป็นตัวแทนควบคุมการบริหารประเทศ ก็ต้องสงบนิ่งชั่วขณะ เพราะเกรงภัยมืด

หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์แพร่หลายมีชื่อเสียงขณะนั้น ได้เสี่ยงภัยมืดส่งผู้แทนสัมภาษณ์ พ.อ. พระยาทรงสุรเดช ก่อนเดินทางไปเขมรเพียงวันเดียว ท่านตอบคำถามอย่างสั้น กินความหมายว่า ไม่รู้ตัวมาก่อนจะถูกปลดออกจากราชการ ไม่สนใจที่จะสอบถามว่าปลดเพราะเรื่องไร และไม่รู้สึกเสียใจ

เย็นวันที่ 30 มกราคม 2481 มีนายทหารก่อการ ฯ ผู้เคยนับถือ พ.อ. พระยาทรงสุรเดช คนหนึ่งได้มาเยี่ยมเยียนท่าน จะสนทนากันด้วยเรื่องใดบ้าง มิอาจทราบได้ ตอนกลับ ข้าพเจ้า (สำรวจ กาญจนสิทธิ์) เดินมาส่ง เขาพูดว่า ขอให้ท่านอาจารย์ไปอยู่เขมรสักพักหนึ่ง เขาอยู่ทางนี้ จะหาทางแก้ไขให้รูปการดีขึ้น และจะพยายามหาเงินส่งไปให้ใช้สอย ระหว่างที่ไม่มีรายได้ สุดท้าย เขาบีบมือข้าพเจ้าแนบแน่นพูดว่า         

‘น้องชาย ดูแลท่านอาจารย์ให้ดี เราคงพบกันอีก’

มันเป็นเสมือนยาหอม ที่ใช้ปลอบใจคนหนุ่ม ข้าพเจ้าไม่เคยคิดในทางที่จะเป็นผลดี

คืนนั้นทั้งคืน ภายในบริเวณบ้านคงเงียบเหงาและหวาดภัยเช่นเคย  เสียงรถเกราะวิ่งไปมาตามถนนหน้าบ้าน ไม่ขาดระยะ ข่มขวัญ ทำลายประสาท

………..               

แม้จะเป็นการเดินทางไปต่างประเทศ แต่จะมีผู้ไปส่งเพราะเคารพนับถือ หรือมีความห่วงใยสักคนก็หามีไม่ ตรงกับที่คาดคะเนไว้ภายในใจ ความหวาดกลัวในความทารุณโหดร้ายของตำรวจ บีบบังคับให้มิตรสหายไม่กระทำการใดๆ ว่าเป็นผู้รู้จักเคารพรักต่อ พ.อ. พระยาทรงสุรเดช ทางเดียวเท่านั้นที่สมควรคือ นิ่งสงบอยู่กับที่

การจับตาย 3 ศพ (พ.ต. หลวงราญรณกาจ พ.ต. หลวงวรณสฤช และ พ.ต. หลวงสงครามวิจารณ์ โดยทางการอ้างว่า ทำลายชีวิตตัวเองบ้าง โดนลูกหลงบ้าง/ผู้เขียน) และดำเนินการกวาดล้างตรวจค้นจับบุคคลอื่นๆ อีกในขณะนั้น ได้ผลชะงัดนัก ไม่มีผู้ใดจะกล้าหาญฝ่าฝืน

ตำรวจสันติบาลกลุ่มใหญ่ ให้เกียรติติดตามไปในขบวนรถไฟกรุงเทพฯ - อรัญประเทศ

ข้าพเจ้าไม่มั่นใจนักว่า เขาจะเพียงคอยดูเฉยๆ ว่าเราไปถึงไหนอย่างไร หรืออาจจะก่อเหตุยัดเยียดข้อหาต่อสู้เจ้าพนักงานตำรวจแล้วยิงทิ้งเสียก็ได้  ความไม่เห็นแก่ตัวและระแวงภัยทำให้คิดตลอดทางว่า มันอาจจะเป็นไปอย่างประการหลังมากกว่า ไม่เพียงข้าพเจ้าคนเดียวเท่านั้นที่หวาดระแวงว่าตำรวจจะยิงทิ้ง แม้ พ.อ. พระยาทรงสุรเดชเอง ก็ยังมีความเห็นและรู้สึกเช่นนั้น ดังจะเห็นได้จากคำพูดของท่านตอนหนึ่ง ซึ่งกล่าวเตือนข้าพเจ้า

‘สำรวจ ถ้าลื้อนั่งบนบานประตูกั้นทางขึ้นลงเช่นนั้น มันผลักทีเดียว ลื้อก็เสียหลัก กลิ้งตกรถตาย คราวนี้ มันก็หันใส่กันคนเดียว ระวังหน่อย !’       

เป็นความจริงที่ข้าพเจ้านั่งบนเก้าอี้รถไฟจนเมื่อยและเบื่อหน่าย จึงเดินออกมาที่ชานท้ายรถ และนั่งบนประตูปิดกั้นทางขึ้นลง เท้ายันพื้นและสายตามิยอมคลาดจากตัวท่านอาจารย์ใหญ่แม้เพียงวินาทีเดียว นั่งเล่นแก้เมื่อยเช่นนั้นเพียง 2-3 นาที

ตราบใดที่เท้ายังเหยียบพื้นแผ่นดินที่จอมเผด็จการครอบคลุมด้วยอำนาจ ตราบนั้น ความหวาดระแวงว่าถูกปองร้ายหมายชีวิต ก็ยังมีอยู่ในประสาทสำนึกตลอดไป

เมื่อฝรั่งผิวขาวนั่งมาในรถไฟ ห่างจากเก้าอี้ พ.อ. พระยาทรงสุรเดชเพียง 3-4 ตัว ย่อมเป็นที่เบาใจได้ว่าการยิงทิ้งจะยังไม่บังเกิด มันทำให้ใจคอดีขึ้น แต่ไม่ช้านัก ชายต่างชาติคนนั้นก็ลงรถไฟที่สถานีหนึ่งเสียแล้ว คราวนี้ต้องระมัดระวังมากขึ้น ประสาทเครียด สายตาจ้องจับบุรุษนอกเครื่องแบบผู้พกปืนกระเป๋าตุง ด้ามโผล่ แสดงท่าทีศักดา มีอภินิหาร เพื่อให้สบายใจ ข้าพเจ้าตัดสินใจแน่วแน่ไม่ยอมหวาดกลัวจนเกินไป แต่ตายเป็นจุดสุดขีด มันก็เท่านั้นเอง มีดพกในกระเป๋ากางเกงเล่มเดียวก็พอจะต่อสู้ มิยอมให้ทำร้ายข้างเดียว เหมือนยิงหมากลางถนน ข้าพเจ้าไม่กล้าพกปืนมาด้วย เพราะเกรงจะก่อให้เกิดเป็นสาเหตุอื่น ทำให้การเดินทางออกนอกดินแดนล่าช้าโดยไม่จำเป็น แผ่นดินไทยร้อนเป็นไฟสำหรับเราสองคน เหยียบแผ่นดินชนต่างชาติได้เร็วเท่าใด ก็มีความปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น”                                             

----------------

บ้านเมืองขณะนั้นจึงนับว่าอยู่ใน “อาณาจักรแห่งความหวาดกลัว”  จริงๆ

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สุริยะ' ชี้ 'วิโรจน์' พูดให้ดูดี ไม่สนนามสกุลเดียวกับ 'ธนาธร' ก็จะตรวจสอบ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม กล่าวกรณีฝ่ายค้านออกมาระบุว่าเตรียมจองคิวอภิปรายไม่ไว้วางใจกระทรวงคมนาคมว่า เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะตรวจสอบรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องปกติ

พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ? (ตอนที่ 53)

ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร