เลือกตั้งอินเดีย: ทำไมโมดีชนะ สมัยที่ 3 แต่กลับเครียด?

ทำไมพรรครัฐบาลชนะแต่เครียด?

ทำไมพรรคฝ่ายค้านแพ้แต่ประกาศชัยชนะ?

เพราะชนะไม่ขาด และแพ้ไม่ราบคาบ

ตลอด 6 สัปดาห์ของการหย่อนบัตรเลือกตั้งของอินเดีย นักวิเคราะห์การเมืองส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า พรรคภารติยะชนตะ หรือ BJP ของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี จะได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย

แต่พอผลการนับคะแนนออกก็พากันตื่นตะลึงไม่น้อย

เพราะจากการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่สุดของโลกที่นับคะแนนเสร็จเมื่อวันอังคารที่แล้ว ปรากฏว่าพรรครัฐบาลสูญเสียเสียงส่วนใหญ่โดยสิ้นเชิงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ขึ้นสู่อำนาจเมื่อทศวรรษที่แล้ว

BJP ได้ที่นั่งเพียง 240 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมี 543 ที่นั่ง ซึ่งขาดเสียงข้างมากมากกว่า 30 ที่นั่ง และบังคับให้ต้องหันไปพึ่งพาพันธมิตรเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่

สาเหตุหนึ่งของความสูญเสียของพรรค BJP คือความพ่ายแพ้ที่ไม่คาดคิดในรัฐที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

มีสัจธรรมในแวดวงการเมืองอินเดียว่าถนนสู่อำนาจในเมืองหลวงนิวเดลีนั้นต้องตัดผ่านเมืองลัคเนา เมืองหลวงของรัฐอุตตรประเทศ ทางตอนเหนือ

ลัคเนาเป็นพื้นที่สำคัญทางการเมืองอย่างมาก

ด้วยประชากรประมาณ 241 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงกับเพื่อนบ้านของอินเดียอย่างปากีสถาน รัฐมีที่นั่งในรัฐสภา 80 ที่นั่งหรือ 15% ของทั้งหมด

อย่างนี้จะไม่ให้เมืองนี้กลายเป็นหัวใจของการหาเสียงของทุกพรรคได้อย่างไร

ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว พรรค BJP ชนะ 62 ที่นั่งจากทั้งหมด 80 ที่นั่งของรัฐนี้

แต่ครั้งนี้ ร่วงลงมาเหลือเพียง 33 ที่นั่ง

ในระหว่างการหาเสียง โมดีและพรรคชาตินิยมฮินดูของเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์เพราะจุดยืนของนายกฯ เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยที่เป็นมุสลิมในอินเดีย

เหตุเพราะโมดีไปร่วมพิธีเปิดสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างขึ้นบนพื้นที่ซึ่งเคยเป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างศาสนาฮินดู-มุสลิมอย่างเปิดเผยเมื่อเดือนมกราคม

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวมุสลิม 38 ล้านคนในรัฐอุตตรประเทศ ออกมาลงคะแนนเสียงให้กับพรรคฝ่ายค้านเพื่อ “สั่งสอนรัฐบาล”

BJP คาดไม่ถึงจริงๆ ว่าจะพ่ายแพ้อย่างหนักในรัฐนี้

เพราะแต่ไหนแต่ไรมารัฐอุตตรประเทศเป็นฐานที่มั่นของพรรคนี้มาตลอด

 อีกเหตุผลหนึ่งของการถดถอยในผลการเลือกตั้งครั้งนี้คือการคัดเลือกผู้สมัคร นั่นคือการนำเอาคนข้างนอกมาลงแทนคนเก่าแก่ในพื้นที่

แต่ที่น่าจะเป็นเหตุผลหลักของความพ่ายแพ้คือความไม่พอใจของคนยากจนในชนบท

ก่อนหน้านี้ในเดือนกุมภาพันธ์ เกษตรกรได้จัดการประท้วงครั้งใหญ่เพื่อเรียกร้องเรื่องราคาพืชผลตกต่ำ

มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการบรรเทาหนี้ และจ่ายเงินบำนาญสำหรับคนงานในภาคเกษตรกรรม

แต่ BJP ไม่สามารถให้ความมั่นใจกับกลุ่มเกษตรกรกลุ่มใหญ่ที่เป็นฐานเสียงสำคัญของทุกพรรคการเมืองได้

ชาวไร่ชาวนาของอินเดียที่เข้าข่ายยากจนข้นแค้นมีจำนวนมาก และมีผลต่อการเลือกตั้งทุกครั้ง

และ BJP สูญเสียที่นั่งหรือไม่ก็ไม่สามารถเพิ่มที่นั่งในหลายรัฐที่การชุมนุมได้ปะทุขึ้น รวมถึงรัฐปัญจาบที่มีความสำคัญด้านฐานเสียงเลือกตั้งอีกรัฐหนึ่ง

ผลการเลือกตั้งสะท้อนว่า BJP เสียที่นั่งในรัฐพิหารทางตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐที่ยากจนที่สุดอย่างเห็นได้ชัด

แปลว่าพรรครัฐบาลถูกฐานเสียงผู้ยากไร้ “ลงโทษ” เสียแล้ว

ปัญหาคนตกงานก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งของความพ่ายแพ้ของ BJP

จำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้น รายได้ลดลง และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นปัญหาสำคัญสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากที่ไม่พอใจกับผลงานด้านการสร้างงานของพรรครัฐบาล

ตัวเลขคนว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 8.1% ในเดือนเมษายน ขยับจาก 7.4% ในเดือนมีนาคม

ที่สำคัญ เยาวชนคิดเป็นประมาณ 83% ของผู้ว่างงาน

อีกทั้งเพราะผู้สนับสนุนที่เป็นฮินดูดั้งเดิมของ BJP อาจจะตายใจเพราะเชื่อว่าอย่างไรเสียพรรคก็เชื่อว่าจะได้ที่นั่งมากกว่า 400 ที่นั่ง

ทำให้ผู้สนับสนุนหลายคนสันนิษฐานว่าพรรคจะกลับมาสู่อำนาจไม่ว่าพวกเขาจะออกมาหย่อนบัตรเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม

เหตุผลอีกด้านหนึ่งคือฝ่ายค้านของอินเดียได้ฟื้นกลับจากความสับสนวุ่นวายภายในของตน

ก่อนเลือกตั้ง พันธมิตรฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคคองเกรสดูเหมือนจะตกอยู่ในความอลหม่านภายในกันเอง

เพราะผู้นำ 2 คนถูกจับกุมด้วยข้อหาที่มีผลเสียต่อความน่าเชื่อถือของพรรคพอสมควร

และผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าฝ่ายค้านคงไม่มีโอกาสแข่งกับโมดีที่ดูเหมือนจะยืนหยัดบนฐานที่มั่นคง

แต่กลับปรากฏว่าฝ่ายค้านได้ที่นั่งมากกว่า 230 ที่นั่ง โดยพรรคองเกรสพรรคเดียวได้ที่นั่งเพิ่มเกือบสองเท่าเป็น 99 ที่นั่งจาก 52 ที่นั่งคราวก่อนหน้านั้น

ในช่วง 18 เดือนก่อนการเลือกตั้ง ราหุล คานธี ผู้นำอาวุโสของพรรคคองเกรสและทายาทแห่งราชวงศ์การเมืองเนห์รู-คานธี ออกตระเวนเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตรสองครั้งเพื่อแสดงความใกล้ชิดกับชาวบ้าน

โดยย้ำในการหาเสียงว่าจะมีนโยบายแก้ปัญหาการว่างงาน ราคาข้าวของที่แพงขึ้น

และโจมตีต่อเนื่องว่ารัฐบาลโมดีมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มธุรกิจและมหาเศรษฐี ไม่สนใจคนยากคนจนอย่างจริงจัง

เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาอย่างนี้ การที่โมดียังรักษาตำแหน่งนายกฯ เป็นสมัยที่สามก็คงจะทำให้บารมีลดน้อยถอยลง

การสูญเสียเสียงข้างมากในสภาอาจส่งผลเสียต่อวาระการปฏิรูปของโมดีอย่างปฏิเสธไม่ได้

การที่มีเสียงส่วนมากในสภาลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญนั้น จะส่งผลกระทบต่อความสามารถของโมดีในการดำเนินนโยบายปฏิรูปตามที่ได้หาเสียงเอาไว้

นโยบายปฏิรูปที่โมดีถือว่าเป็นคำมั่นสัญญากับประชาชน มีทั้งเรื่องการผ่อนปรนการได้มาซึ่งที่ดินและการนำกฎหมายแรงงานมาใช้อย่างเท่าเทียมกันทั่วทั้งรัฐ

รวมไปถึงการออกกฎหมายธรรมาภิบาลสำหรับพื้นที่เกิดใหม่ เช่น เทคโนโลยีหรือพลังงานหมุนเวียน การแปรรูป การสร้างรายได้ เป็นต้น

ผลการเลือกตั้งอินเดียครั้งนี้จึงกลายเป็น “ชัยชนะที่ไม่หอมหวาน” เลยสำหรับโมดี

แต่กลับกลายเป็น “ความพ่ายแพ้ที่สร้างกำลังใจ” ให้กับผู้นำฝ่ายค้านราหุลที่เริ่มมีความหวังจะขึ้นมาเป็นนายกฯ ในการเลือกตั้งสมัยหน้าเสียที!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว