ไล่ ชิงเต๋อจะพาไต้หวันรบจีนไหม (2)

การประกาศเอกราชอาจอยู่ในแผนที่ต้องดำเนินตามขั้นตอน ดังผู้เชี่ยวชาญตะวันตกบางคนวิเคราะห์ว่ากองทัพจีนจะบุกไต้หวันในสมัยรัฐบาลไล่ชุดนี้

ระบอบเสรีประชาธิปไตยส่งเสริมเสรีภาพทางความคิด เปิดโอกาสคิดต่างเห็นต่าง สามารถประพฤติตามความต้องการส่วนตนตามกฎหมาย ด้วยความคิดว่ามนุษย์มีความคิดอ่านจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดแก่ตัวเอง สังคมจะปรับสมดุลในความคิดต่างเห็นต่าง ได้สิ่งดีที่สุดเมื่อเป็นเช่นนี้

ระบบเลือกผู้แทนเข้าสภาแสดงความต้องการของสังคม มีการปรับสมดุลในตัวเอง ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้านจะทำตามอำเภอใจไม่ได้ มีกรอบรัฐธรรมนูญ กฎหมาย รวมทั้งข้อตกลงต่างๆ ที่ทำไว้กับนานาชาติ

ภาพ: ไล่ ชิงเต๋อขณะหาเสียง

เครดิตภาพ: https://www.taipeitimes.com/News/feat/archives/2023/06/05/2003800980

ในทางทฤษฎี นโยบายพรรคสะท้อนความต้องการของประชาชน พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party) หรือ DPP ชี้ว่า คนไต้หวันไม่ใช่คนจีน คนไต้หวันคือคนไต้หวัน สามารถกำหนดอนาคตตัวเอง ด้วยเหตุนี้ไต้หวันที่เป็นไท มีอธิปไตย จึงตอบโจทย์คนไต้หวันได้ดีที่สุด และควรเป็นเช่นนั้นตามหลักเสรีประชาธิปไตย พรรค DPP จึงชูนโยบายไต้หวันที่เป็นตัวเอง

มกราคม 2019 ไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) ผู้นำไต้หวันจากพรรค DPP ประกาศไม่ยอมรับข้อเสนอรวมชาติ หลังผู้นำจีนชี้การรวมเป็นชาติจะต้องเกิดขึ้นแน่นอนไม่วันใดวันหนึ่ง เสนอ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” แก่ไต้หวัน ดังที่ใช้กับฮ่องกงและมาเก๊าในขณะนี้

ข้อดีจุดยืนพรรค DPP คือเปิดทางให้คนไต้หวันมีทางเลือกมากขึ้น ไล่ ชิงเต๋อ (Lai Ching-te) ประธานาธิบดีคนที่ 16 จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party) เดินตามแนวทางนี้

ผูกความมั่นคงทางทหารกับสหรัฐ:

ในสุนทรพจน์รับตำแหน่งใช้คำว่า “ไต้หวันตั้งอยู่ตรงแนวห่วงโซ่เกาะแรก” (first island chain) เป็นที่รับรู้กันว่าคำนี้คือยุทธศาสตร์ความมั่นคงเอเชีย-แปซิฟิกที่รัฐบาลสหรัฐใช้เรื่อยมา เป้าหมายคือปิดล้อมจีนทางทหาร เป็นหลักฐานชี้ว่ารัฐบาลนี้ผูกความมั่นคงทางทหารกับสหรัฐอย่างชัดแจ้ง ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ต้านจีนของอเมริกา ประธานาธิบดีไช่ลดตัวเอง ลดไต้หวันให้เป็นเบี้ย (a pawn) ของสหรัฐ เป็นของด้อยค่ามากกว่าของล้ำค่า

น่าเห็นใจที่กองทัพไต้หวันไม่อาจเทียบกองทัพมหึมาของจีน ยิ่งในระยะหลังกองทัพจีนพัฒนาต่อเนื่อง กระทั่งสหรัฐยังเกรงขาม นักวิชาการบางคนตีความว่าสหรัฐอาจสู้จีนไม่ได้ นับวันกองทัพสหรัฐจะอ่อนแอลงเมื่อเทียบกับจีน (ประเด็นนี้มีหลายมุมมอง บางคนตีความว่ากองทัพสหรัฐยังอานุภาพสูงสุด จีนต้องพัฒนาอีกมาก ขาดประสบการณ์รบแบบใหม่) ดังนั้นการพึ่งพาสหรัฐจึงจำเป็น ยิ่งหากรัฐบาลไต้หวันคิดประกาศเอกราชดังที่พรรค DPP ใฝ่ฝัน ยิ่งต้องคิดถึงการปกป้องจากสหรัฐในวันที่กองทัพจีนบุกไต้หวันหลังประกาศเอกราช

เรื่องนี้กลับไปสู่คำถามยอดฮิต หากไต้หวันกับจีนรบกัน สหรัฐจะส่งกองทัพเข้าช่วยหรือไม่

ผลโพลของ Taiwanese Public Opinion Foundation (TPOF) เมื่อมีนาคม 2022 พบว่าคนไต้หวัน 10.5% เท่านั้นที่ “มั่นใจมาก” ว่าสหรัฐจะปกป้องไต้หวันหากจีนรุกราน 24% คิดว่าน่าจะช่วย 26.5% ไม่ค่อยเชื่อ และ 29.4% ไม่เชื่อเลย

คนไต้หวันน้อยกว่าครึ่งที่มั่นใจหรือคิดว่ารัฐบาลสหรัฐจะปกป้องไต้หวัน แม้มีสนธิสัญญา แม้นักการเมืองอเมริกันคนแล้วคนเล่ารับปากว่าจะปกป้องไต้หวัน เรื่องนี้มาจากฐานความคิดว่า ถ้าสหรัฐปกป้องไต้หวันจะหมายถึง 2 มหาอำนาจรบกันโดยตรง อาจนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์

หรือหากไม่ใช้นิวเคลียร์ แต่รบหนัก เกิดความสูญเสียมหาศาล เศรษฐกิจอเมริกันปั่นป่วนหนัก คนอเมริกันตกงานหลายล้านคน นำไปสู่คำถามว่าทำไมสหรัฐต้องหายนะหรือสูญเสียมหาศาลเพื่อคนไต้หวัน คนอเมริกันยอมเสียหายหนักเพื่อปกป้องเสรีภาพประชาธิปไตยไต้หวันหรือ ประธานาธิบดีสหรัฐจะอธิบายต่อคนของเขาอย่างไร

หรือจะเป็นยูเครนโมเดลที่สหรัฐกับพวกส่งให้แต่อาวุธ ชี้แจงว่าขอไม่ร่วมรบโดยตรง เพราะหากรบกับจีนโดยตรงจะกลายเป็นสงครามล้างโลก สุดท้ายไต้หวันยิ่งรบยิ่งพัง เพื่ออนาคตของฝ่ายประชาธิปไตยดังที่ยูเครนเป็นอยู่

ล่าสุดต้นเดือนมิถุนายน 2024 ประธานาธิบดีโจ ไบเดน (Joe Biden) ยืนยันอีกครั้งว่าสหรัฐไม่ส่งเสริมให้ไต้หวันเป็นอิสระ และอาจใช้กองทัพปกป้องไต้หวันถ้าจีนเปลี่ยนสถานภาพช่องแคบไต้หวัน (status quo) เช่น กองทัพจีนโจมตีไต้หวัน ทุกวันนี้ได้ปรึกษาหารือกับพันธมิตรในภูมิภาคเป็นระยะ

เสี่ยงพาประเทศเข้าสงคราม?:

ตั้งแต่สมัยรัฐบาลประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน มักพูดแบบสองแง่สองง่าม ส่อเจตนาต้องการไต้หวันที่เป็นอิสระ (Taiwan independence) พรรคนี้มักพูดเรื่องนี้แบบสองแง่สองง่าม ไม่พูดโดยตรงว่าต้องการประกาศเอกราช แต่ตีความได้เช่นนั้น เมื่อมาถึงรัฐบาลไล่ยังคงพูดแบบเดิม

รัฐบาลจีนยืนยันเรื่อยมาว่าหากไต้หวันประเทศเอกราช กองทัพจีนจำต้องบุกไต้หวันเพื่อรักษาอธิปไตยจีน คำพูดที่ชวนคิดว่าต้องการแบ่งแยกดินแดนจึงอันตราย เสี่ยงนำประเทศเข้าสู่สงคราม ชาวไต้หวัน 23 ล้านคนไม่อาจใช้ชีวิตสงบสุข ไม่สามารถเสพสุขจากระบบเสรีทุนนิยมอย่างสบายใจอีกต่อไป น่าคิดว่ารัฐบาลกับคนไต้หวันจะตัดสินใจอย่างไร 

สุดท้ายการจะตัดสินใจว่ารัฐบาลไล่ต้องการสงครามหรือสันติภาพ ต้องดูที่พฤติกรรมมากกว่านโยบาย หรือคำพูดสวยหรู

ไม่ง่ายที่จะฟันธงว่าสุดท้ายคือสงครามหรือสันติภาพ เพราะนโยบายที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติจะเป็นความลับ ที่เปิดเผยต่อสาธารณะเป็นเพียงบางส่วน และอาจไม่ตรงตามแผนลับทั้งหมด แต่หากศึกษาวิเคราะห์รอบด้านจะเห็นแนวโน้ม สถานการณ์จะบ่งชี้ทิศทาง ยิ่งใกล้สงครามจะยิ่งเห็นภาพดังกล่าว

ก่อนจะถึงวันนั้น:

อย่างไรก็ตาม ต้องตระหนักว่าแม้สมัยไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) จะพูดทำนองว่าต้องการประกาศอิสรภาพ แต่ 2 สมัยของรัฐบาลไช่ไม่ได้ทำเช่นนั้น เป็นท่าทีหรือจุดยืนอนาคตมากกว่า และตีความได้ว่าเป็นวาทกรรมเพื่อเป้าหมายทางการเมืองเพื่อชนะเลือกตั้ง ซึ่งทำได้ดีจนพรรค DPP เป็นรัฐบาล 3 สมัยติดกันแล้ว นักวิเคราะห์การเมืองไต้หวันบางคนถึงกับชี้ว่า พรรคนี้ใช้วาทกรรมเอกราชกลบเกลื่อนความผิดสมาชิก (เช่น คอร์รัปชัน) ความบกพร่องของรัฐบาล

และต้องเข้าใจว่า แม้พรรค DPP เป็นรัฐบาล 3 สมัยติดต่อกันแล้ว แต่ใช่ว่าคนไต้หวันทั้งหมดจะเห็นด้วยกับการประกาศเอกราช ยิ่งถ้าเอ่ยถึงการสงครามกับจีน คนไต้หวันยิ่งไม่ต้องการ ไม่สนใจว่ารัฐบาลสหรัฐต้องการใช้ไต้หวันทำสงครามตัวแทนกับจีนหรือไม่

หากสถานการณ์ตึงเครียดขึ้นตามลำดับ ก่อนถึงวันสงคราม จีนคงใช้หลายมาตรการกดดัน เช่น กีดขวางเส้นทางการบิน การเดินเรือ สร้างความวุ่นวายทางเศรษฐกิจสังคม ให้ชีวิตอยู่ยาก เพื่อให้ชาวไต้หวันกดดันรัฐบาลตัวเองอีกที พรรคฝ่ายค้านคงได้โอกาสเคลื่อนไหว เมื่อถึงตอนนั้นจะเห็นธาตุแท้ของรัฐบาลไล่มากขึ้นว่าต้องการเอกราชหรือสันติภาพ

รวมความแล้ว แนวทางประกาศเอกราชของประธานาธิบดีไล่ไม่ต่างจากรัฐบาลชุดก่อน นั่นคือ แสดงท่าทีไต้หวันต้องการเอกราชและต้องการสันติภาพ อยู่กับจีนอย่างสันติ 2 ข้อนี้ย้อนแย้งกันเอง เพราะเส้นทางสู่เอกราชคือการเดินเข้าสู่สงคราม ถ้าต้องการสันติจะต้องเลี่ยงไม่ทำสงคราม ภายใต้แนวคิดว่าจีนจะไม่บุกไต้หวัน ตราบเท่าที่ไต้หวันไม่ประกาศเอกราชหรือทำการอื่นใดที่คุกคามอธิปไตยจีนจนรับไม่ได้ (เช่น กองทัพสหรัฐตั้งฐานทัพที่ไต้หวัน ติดตั้งระบบขีปนาวุธ)

อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์นี้ใช้ข้อมูลจนถึงเมื่อประธานาธิบดีไล่ ชิงเต๋อ รับตำแหน่ง การประกาศเอกราชอาจอยู่ในแผนที่ต้องดำเนินตามขั้นตอน ดังผู้เชี่ยวชาญตะวันตกบางคนวิเคราะห์ว่า กองทัพจีนจะบุกไต้หวันในสมัยรัฐบาลไล่ชุดนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กระสุนนัดเดียวเปลี่ยนโลก

บรรยากาศหาเสียงตอนนี้ไม่ต้องคิดถึงเรื่องอื่นใดอีก ทรัมป์ควรชนะเลือกตั้ง กระสุนนัดเดียวชี้ขาดผลเลือกตั้ง ชี้นำโลกอนาคตควรทำตามนโยบายทรัมป์

ทำไมสมาชิกอาเซียนสนใจเข้าBRICS

ประเทศไทย มาเลเซีย และเวียดนามพยายามสัมพันธ์ดีกับมหาอำนาจทั้งหลาย ไม่อิงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจนเกินตัว มอง BRICS เป็นโอกาสใหม่

ระบบโลกที่บิดเบี้ยว (2) สงครามยูเครน

เงื่อนไขสงบศึกของปูติน การใช้ทรัพย์รัสเซียที่ยึดได้เป็นหลักฐานชี้ว่าต่างฝ่ายต่างยืนยันรบต่อ บ่งชี้ระเบียบโลกที่บิดเบี้ยว ต้องสู้กันต่อไป

ปูตินยกระดับสัมพันธ์เกาหลีเหนือ-รัสเซีย

บัดนี้เกาหลีเหนือสามารถส่งกระสุนอาวุธต่างๆ ช่วยรัสเซียทำศึกยูเครน แม้กระทั่งส่งกองทัพเกาหลีเข้ารบโดยตรง ดังที่ผู้นำเกาหลีเหนือกล่าวว่า ปูตินคือเพื่อนแท้ที่ดีที่สุด

ระเบียบโลกที่บิดเบี้ยว (1)

สัจนิยมมีข้อดีหลายอย่างแต่เปิดช่องให้รัฐบาลบางประเทศตีความว่าสามารถรุกรานประเทศอื่นๆ เป็นเรื่องปกติของโลก บางประเทศพยายามทำให้ดูดีอ้างว่าเป็นการป้องกันตนเอง