ทำไมคนไทยร่ำเรียนวิชา เมืองนอกไม่กลับบ้าน?

ถ้าจำไม่ผิด นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เคยไปนั่งคุยกับนักศึกษาไทยที่อเมริกาและไปชักชวนให้กลับมา “ช่วยชาติ”

แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลไทยจะไม่ได้คิดเรื่องนี้จริงจังอะไร

เพราะไม่มีมาตรการอะไรที่จะดึงให้เด็กไทยเก่ง ๆ ที่เรียนวิชาที่ทันกับความเปลี่ยนแปลงมากมายให้อยากกลับมาทำงานในบ้าน

มิหนำซ้ำยังมีคนรุ่นใหม่อีกจำนวนหนึ่งในประเทศที่คิดจะ “ย้ายประเทศ” เพราะมองไม่เห็นโอกาสที่จะสร้างอนาคตของตนอย่างที่ตนอยากเห็น หรือที่อยากให้ลูกของตนเองได้เติบโตขึ้นมาในบรรยากาศที่เอื้อต่อความฝันของตน

วันก่อน ผมอ่านบทความเรื่องนี้ใน “บีบีซีภาคภาษาไทย” ภายใต้คำถามที่ว่า

“พวกท็อป ๆ อยู่ต่างประเทศหมดเลย”: ทำไมนักเรียน ป.เอก ไม่อยากกลับบ้าน ?

คำให้สัมภาษณ์ของหลาย ๆ คนสรุปเหมือนกับที่เราเคยรับรู้ว่ายาวนานว่า

ปัญหาไม่ใช่แค่เรื่องค่าตอบแทนเท่านั้นที่ทำให้บุคลากรระดับ “ครีม” ของประเทศที่ไปร่ำเรียนในต่างประเทศไม่อยากกลับไทย

แต่ “ระบบ” ที่เป็นปัญหาคาราคาซังมาหลายทศวรรษคือเงื่อนสำคัญที่ทำให้พวกเขาและเธอกลายเป็นส่วนหนึ่งของปรากฎการณ์ “สมองไหล”

อาจารย์คนหนึ่งตั้งข้อสังเกตวา

“เด็กเก่งแบบสุด ๆ เลยนะ ที่ 1-20 [ของประเทศ] ยกตัวอย่างเช่น คอมพิวเตอร์โอลิมปิค พวกท็อป ๆ อยู่ต่างประเทศหมดเลย”

กลายเป็นว่าสำหรับหลายคนการกลับประเทศกลายเป็น “ทางเลือกสุดท้าย”

อีกคนหนึ่งเล่าว่า แรกเริ่มค่อนข้างชัดเจนกับเส้นทางอาชีพของตนเองมาตั้งแต่ช่วงที่ศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศไทย ตอนแรกวางแผนว่าเมื่อมาศึกษาต่อระดับปริญญาโทจนจบก็จะกลับมาสอนที่ไทยทันที

แต่เมื่อเรียนระดับปริญญาโทจบจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเยอรมันนี ก็ได้รับข้อเสนอให้ศึกษาต่อระดับปริญญาเอก

“พอเรามาอยู่ที่นี่ มันต่างกันมาก ๆ มีโอกาสเยอะมาก กลายเป็นว่าการกลับไทยเราปัดไปเป็นชอยส์สุดท้ายเลย” เขาบอกบีบีซีไทย  

ประเด็นรายได้เป็นปัจจัยแน่ แต่ปัญหาใหญ่กว่านั้นที่ทำให้คนไทยเก่ง ๆ ไม่กลับบ้านคือ “ระบบ”

หนึ่งในนักศึกษาที่เรียนทางด้านวิทยาศาสตร์บอกว่านโยบายด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐไทยไม่มีทิศทางชัดเจนเลย

งานวิจัย “ขึ้นหิ้ง” สำหรับวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และ “ขึ้นห้าง” สำหรับวิทยาศาสตร์ประยุกต์

คนที่กลับมาก่อนเตือนคนที่ยังไม่กลับมาว่าพอต้องกลับมาในระบบจริง ๆ ว่ามันไม่คุ้ม

บางคนบอกบีบีซีไทยว่า “เราโดนเตือนมาตลอดว่าให้หาทางไปต่อ… อย่ากลับมา”

“ผู้ใหญ่ก็จะเลือกสนับสนุนงานวิจัยขึ้นห้างเป็นหลัก แล้วงานวิจัยขึ้นหิ้ง คืองานประเภทสายทฤษฎี จะได้รับการสนับสนุนที่น้อยมาก ๆ เพราะผู้ใหญ่เขามองไม่เห็นว่าเราเรียนไปทำไม”

แต่บางคนก็บอกว่าอยู่เมืองนอกได้ “เปิดหูเปิดตา” ในระดับสากล จึงอยากเอาความรู้กลับไปพัฒนาเด็กรุ่นใหม่ในไทย “เพราะเรามั่นใจว่าเรามีเด็กที่สนใจวิทยาศาสตร์อยู่เยอะ และเราอยากจะแบ่งปันประสบการณ์ตรงนี้”

แต่ก็ได้รับคำเตือนจากรุ่นพี่ว่าหากกลับบ้านจะไม่คุ้มทั้งเรื่องค่าตอบแทนและไม่มีโอกาสได้ “ปล่อยของ” ที่แต่ละคนสู้ไปร่ำเรียนมาจากสถานศึกษาระดับโลกและอาจารย์ระดับหัวกะทิ

ความจริง ปัญหาที่ทำให้ “สมองไหล” อย่างต่อเนื่องนอกจากเรื่องรายได้และระบบราชการแล้ว ก็ยังมีประเด็นเรื่องคุณชีวิตด้านบรรยากาศการถกแถลงประเด็นการบ้านการเมือง

คนที่อยู่ในบรรยากาศที่เสรีและเอาจริงเอาจังกับมาตรฐานจริยธรรมและความยุติธรรมของสังคมหากกลับมาเจอกับสภาวะสังคมไทยที่ยังมีเรื่องของการเล่นเส้นสายและระบบอุปถัมภ์อย่างที่เห็นอยู่ ก็จะมีความรู้สึกอึดอัด

หลายคนที่ไม่กลับไทยเพราะไม่ต้องการให้ลูกกลับมาเรียนหนังสือในบรรยากาศแบบไทย ๆ ที่เป็นอยู่

เมื่อได้ประสบการณ์ของการใช้ชีวิตที่เน้นการแข่งขันบนพื้นฐานของความรู้ความสามารถและการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในสังคมข้างนอกแล้ว, การจะกลับเมืองไทยก็กังวลว่าลูกของตนเองจะต้องเติบโตในบรรยากาศที่สะท้อนถึงความล้าสมัยทางความคิดและความเชื่อในมาตรฐานของความถูกต้อง

ยิ่งการเมืองบ้านเราวันนี้เป็นอย่างที่เห็น แนวทางการบริหารประเทศที่ยังติดยึดอยู่กับกลุ่มผลประโยชน์ไม่กี่กลุ่ม คนที่ไปเรียนเมืองนอกและสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยตนเองย่อมจะไม่อาจจะปรับตัวกลับเข้ากับสภาพสังคมไทย

เราอาจจะชักชวนชาวต่างชาติมาเที่ยวและลงทุนในไทยด้วยการระบุถึงร้อยยิ้มของคนไทย, อาหารไทยที่อร่อยและความธรรมชาติที่สวยงาม ตลอดจนค่าครองชีพที่ยังต่ำกว่าหลาย ๆ ประเทศ

แต่ปัจจัยด้านบวกเหล่านี้จะถูกเปรียบเทียบกับปัจจัยลบของสังคมไทยเช่นเรื่องคอร์รัปชั่น, การขาดวินัยของคนไทย, และการไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

รวมไปถึงการเลือกใช้กฎหมายกับคนบางคนบางกลุ่มไม่เท่าเทียมกับคนอื่น ๆ ซึ่งกลายเป็นรอยด่างที่ฝังแน่นในสังคมไทย

คนไทยที่ไปร่ำเรียนหนังสือต่างประเทศส่วนใหญ่ก็คงอยากจะกลับมา “ใช้ชีวิตสบาย ๆ” ที่บ้าน แต่คำว่า “สบาย ๆ” นั้นบ่อยครั้งก็จะถูกเปรียบเทียบกับคำว่า “คุณภาพชีวิต” ด้านสติปัญญาและความศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ในหลาย ๆ ด้าน

ท้ายสุดวันนี้ เราก็ยังไม่เห็นรัฐบาลทำอะไรจริงจังกับการสร้างแรงจูงใจให้คนไทยที่เก่ง ๆ ในด้านต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่มากมายทั่วโลกกลับมาช่วยกันสร้างชาติบ้านเมืองกันอย่างเป็นรูปธรรมเลย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ