เมื่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน เปิดไฟเขียวให้ยูเครนสามารถใช้อาวุธอเมริกันโจมตีเป้าหมายในดินแดนของรัสเซีย นั่นย่อมเท่ากับเป็นการเปิดเกมใหม่ที่จะทำให้มอสโกต้องมีปฏิกิริยาตอบโต้เช่นกัน
ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียเคยประกาศว่า หากตะวันตกอนุญาตให้ยูเครนใช้อาวุธของตนถล่มดินแดนรัสเซียก็ย่อมหมายความว่าตะวันตกประกาศสงครามกับมอสโกโดยตรง
เกมสงครามยูเครนก็จะถูกยกระดับไปสู่การเผชิญหน้าที่กว้างขวางขึ้นอย่างไม่มีข้อสงสัย
แต่ประธานาธิบดีเซเลนสกีแห่งยูเครนเตือนแล้วว่าถ้าเขาถูกบังคับให้ทำสงครามแบบ “มัดมือชก” โอกาสพ่ายแพ้ก็จะมีสูง
และหากยูเครนแพ้, ยุโรปก็เตรียมทำสงครามกับรัสเซียได้
หลังจากลังเลอยู่หลายเดือน ไบเดนก็ยอมอนุมัติให้ยูเครนใช้อาวุธที่ได้รับจากสหรัฐฯ โจมตีเป้าหมายในรัสเซียที่กำลังทำการโจมตีเมืองคาร์คิฟ
เป็นไปตามคำขอจากทางกรุงเคียฟเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่แล้ว
เป็นการเปิดเผยของรัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน เองที่เป็นคนออกข่าวว่าไบเดนยอมลดเงื่อนไขดั้งเดิมแล้ว
แต่ยังยืนยันว่าเป็นการช่วยยูเครน “ป้องกันตัวเอง”
มิใช่เป็นการ “รุกคืบเข้าครอบครองดินแดนของรัสเซีย”
บลิงเคนเปิดเผยเรื่องนี้ระหว่างการแถลงข่าวหลังร่วมประชุมไม่เป็นทางการกับรัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกกลุ่มองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว
แต่แม้จะถูกซักถามก็ไม่ยอมชี้แจงว่าภายใต้กติกาใหม่นี้ทหารยูเครนจะสามารถขยายพื้นที่และเป้าหมายการโจมตีลึกเข้าไปในรัสเซียหรือไม่อย่างไร
เพียงแค่บอกว่าการปรับเปลี่ยนนโยบายของไบเดน ที่เดิมทีปฏิเสธการใช้อาวุธอเมริกันเข้าไปในรัสเซีย มีสาเหตุจากการ “ปรับยุทธศาสตร์ไปตามเงื่อนไขในสนามรบ”
โดยใช้คำว่า adapt and adjust
ซึ่งกินความหมายกว้างขวางมาก ตีความได้ทั้ง “ปรับ, เปลี่ยนได้ในทุกรูปแบบ”
รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ บอกว่า “ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ยูเครนได้ขออนุญาตใช้อาวุธที่เราให้ไปเพื่อป้องกันการรุกรานนี้ รวมถึงต่อต้านกำลังของรัสเซียที่มาระดมพลที่บริเวณชายแดนในฝั่งรัสเซียเพื่อการรุกโจมตีเข้ามาในยูเครน”
บลิงเคนบอกต่อว่า “เรื่องนั้นไปถึงท่านประธานาธิบดี และอย่างที่ท่านได้ยินกัน ท่าน (ไบเดน) ได้อนุมัติการใช้อาวุธเพื่อวัตถุประสงค์นั้นแล้ว”
และสำทับว่าต่อแต่นี้ไปวอชิงตันก็จะยังคง “ปรับตัว” และ”ปรับเปลี่ยน” ท่าทีตามความจำเป็นของสถานการณ์
การปรับเปลี่ยนล่าสุดเกิดจากการที่รัสเซียเปิดฉากถล่มคาร์คิฟซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับที่สองของยูเครน ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากชายแดนรัสเซียเพียง 30 กม.อย่างต่อเนื่อง
ระเบิดหลายลูกไปลงที่ซูเปอร์มาร์เก็ตกลางเมือง เซเลนสกีตอบโต้ว่านี่เป็นการกระทำของ “ผู้ก่อการร้ายรัสเซีย” ที่มุ่งโจมตีเป้าหมายพลเรือนอย่างไร้ความรับผิดชอบ
ความจริง ไบเดนไม่ได้เพิ่งปรับท่าทีกับเรื่องนี้
ก่อนหน้านี้ไม่นาน ไบเดนผ่อนปรนกับยูเครนมากขึ้นโดยได้เปิดไฟเขียวให้สหรัฐฯ จัดส่งขีปนาวุธพิสัยไกลที่เรียกว่า ATACMS ให้กรุงเคียฟเป็นการเพิ่มศักยภาพการทำสงครามของยูเครนอย่างเห็นได้ชัด
หนึ่งวันก่อนการแถลงข่าวเรื่องนี้ของบลิงเคน วอชิงตันมีนโยบายห้ามกองทัพยูเครนใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลประเภทนี้ซึ่งมีพิสัยการโจมตีไกลสุด 300 กม. รวมถึงอาวุธระยะไกลอื่นๆ ที่สหรัฐฯ ช่วยเหลือ โจมตีเข้าไปในรัสเซีย
ที่มีการปรับท่าทีของอเมริกานั้นเป็นเพราะประเทศอื่นๆ ใกล้ยูเครนต่างก็เริ่มแสดงความกังวลว่ายูเครนอาจจะกำลังเพลี่ยงพล้ำรัสเซียในสมรภูมิรบในยูเครน
หนึ่งในประเทศที่แสดงความร้อนรนเป็นพิเศษคือเอสโตเนีย ซึ่งถือว่าตนเองเป็นรัฐแนวหน้า
เอสโตเนียเป็นสมาชิกนาโตและมีเจ้าหน้าที่รักษาชายแดนจ้องมองข้ามแม่น้ำนาร์วาที่ป้อมปราการอิวานโกรอดของรัสเซีย
รัฐบอลติกเล็กๆ แห่งนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต
วันนี้ เอสโตเนียกลัวว่าหากรัสเซียเอาชนะยูเครนได้ เป้าหมายต่อไปของปูตินคือประเทศในทะเลบอลติก
มีความหวั่นหวาดในเหล่าบรรดาประเทศบอลติกว่ามอสโกอาจต้องการจะให้กลุ่มตนกลับไปอยู่ใต้อิทธิพลของรัสเซียอีกครั้ง
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลเอสโตเนียจึงได้ทุ่มงบประมาณและอาวุธเพื่อช่วยเหลือยูเครน โดยบริจาคแล้วกว่ากว่า 1% ของ GDP
“หากประเทศนาโตทุกประเทศทำเช่นนี้” คาจา คัลลาส นายกรัฐมนตรีของเอสโตเนียประกาศ “ยูเครนคงเป็นผู้ชนะ”
เป็นที่รู้กันว่ายูเครนขาดแคลนปืนใหญ่ กระสุน ระบบป้องกันทางอากาศ
นักข่าวถามว่าเอสโตเนียมี “แผนสำรอง” อย่างไร
นายกฯ ตอบว่า “เราไม่มีแผน B เพราะเราไม่ต้องการเห็นรัสเซียชนะยูเครน”
“ดังนั้น เราจึงต้องเน้นไปที่แผน A เพื่อช่วยให้ยูเครนต่อต้านการรุกรานของรัสเซียให้สำเร็จ
“เราต้องไม่ยอมมองโลกในแง่ร้าย หากยูเครนเข้าร่วมกับนาโต เราก็จะไม่มีวันแพ้”
นายกฯ หญิงของเอสโตเนียคนนี้ปัจจุบันอายุ 46 ปี และเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2021
ชาวเอสโตเนียจำนวนมากไม่พอใจกับการขึ้นภาษีเพื่อจ่ายค่าสนับสนุนการป้องกันประเทศยูเครน
แต่นายกฯ คาจา คัลลาส ต้องการให้ตะวันตกตื่นขึ้นกับสิ่งที่เธอมองว่าเป็นภัยคุกคามที่มีอยู่จากท่าทีของรัสเซียที่ก้าวร้าวครั้งนี้
“รัสเซียต้องการหว่านความกลัวในสังคมของเรา” เธอบอกนักข่าว
เธอเรียกการรุกรานของรัสเซียเป็น “สงครามไฮบริด”
“การโจมตีแบบผสมผสาน” หรือที่รู้จักกันในชื่อสงคราม “จำกัดเขต” หรือ “สงครามสีเทา” อันเป็นการกระทำที่ไม่เป็นมิตรที่สงสัยว่าดำเนินการโดยฝ่ายตรงข้าม
โดยรัสเซียไม่จำเป็นต้องยิงปืน ไม่มีใครถูกฆ่า และมักถูกตำหนิ ปักหมุดยาก-แต่ความเสียหายก็อาจเกิดขึ้นได้อย่างกว้างขวาง
ตัวอย่างคือ การระเบิดลึกลับใต้น้ำที่ทำให้ท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีมใต้ทะเลบอลติกระเบิดในปี 2022
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ข้อกล่าวหาล่าสุดว่ารัสเซียแทรกแซงทางอิเล็กทรอนิกส์ในเที่ยวบินที่แล่นผ่านใกล้กับเขตคาลินินกราดบนชายฝั่งทะเลบอลติก
ในรายงานประจำปีล่าสุด Kapo หน่วยงานรักษาความปลอดภัยภายในของเอสโตเนียยกตัวอย่างฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว ที่โรงเรียนหลายร้อยแห่งในเอสโตเนียและรัฐบอลติกอื่นๆ ได้รับอีเมลแจ้งว่ามีการทิ้งระเบิดในอาคารเรียน
รายงานระบุ "ภัยคุกคามดังกล่าวมุ่งเป้าไปที่การสร้างความตึงเครียดทางจิตใจและอารมณ์โดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มเปราะบางที่สุด ซึ่งคุกคามความปลอดภัยของเด็กๆ"
เธอถูกถามว่าเอสโตเนียมีความเสี่ยงเพียงใดต่อการรุกรานของรัสเซียในอนาคต?
คำตอบคือ: ไม่มีใครควรประเมินความทะเยอทะยานของปูตินต่ำเกินไปเป็นอันขาด!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว