ให้มันได้แบบนี้สิ...
การเมืองคนรุ่นใหม่ ไม่ต้องสนใจกติกาอะไรกันแล้ว
อยากทำอะไรกูก็ทำ
วันก่อน ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งว่าจะพิจารณาคดีที่พรรคก้าวไกลถูกร้องยุบพรรค ตามคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่ามีพฤติกรรมกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ๒๕๖๐ มาตรา ๙๒ วรรคหนึ่ง (๑) (๒) ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓/๒๕๖๗ ในวันที่ ๑๒ มิถุนายนนี้
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งทิ้งท้ายว่า คู่กรณีไม่สมควรแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีที่เป็นการชี้นำสังคมอันอาจกระทบต่อการดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาล
คือห้ามทั้ง กกต. และพรรคก้าวไกล พูดหรือแถลงข่าวชี้นำสังคม
แต่...มีหรือที่พรรคก้าวไกลจะฟัง
วานนี้ (๖ มิถุนายน) "ชัยธวัช ตุลาธน" ประกาศความยิ่งใหญ่ของพรรคก้าวไกล ไปเรียบร้อยแล้ว
"...ในวันที่ ๙ มิถุนายน พรรคคงจะแถลงเหมือนเดิม เพราะเป็นเพียงแค่แถลงว่าพรรคก้าวไกลได้ต่อสู้ในประเด็นไหน อย่างไรบ้าง ซึ่งไม่ได้มีอะไรใหม่มากกว่าที่อยู่ในคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาอยู่แล้ว
และคงไม่ไปกระทบกับกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้คิดว่าถ้าทุกอย่างเป็นไปหลักตามกฎหมาย ตามหลักนิติรัฐ คิดว่าศาลไม่ต้องกังวลอะไร..."
เป็นไงครับ... ศาลไม่ต้องกังวลอะไร!
ที่จริงก่อนพูด "ชัยธวัช ตุลาธน" ควรอ่านข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๖๒ ให้เข้าใจเสียก่อน
ข้อ ๙ ศาลอาจออกคำสั่งให้บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดกระทำการหรืองดเว้นกระทำการเพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปโดยสงบเรียบร้อยและรวดเร็วศาลไม่ได้สั่งสุ่มสี่สุ่มห้า หรือสั่งเพราะอยากสั่ง แต่มีมันเหตุผล
สังเกตมั้ยครับ คดีที่เกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกล ศาลมักออกคำสั่งก่อนเสมอเพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
เพราะพรรคก้าวไกลมักสร้างกระแสกดดันศาล
และหลายครั้งที่ศาลมีคำวินิจฉัยแล้ว ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ แต่ พรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า มักมีความเห็นแย้ง นำไปสู่การโจมตีศาล มีการปั่นกระแสในโซเชียลให้ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญอยู่บ่อยครั้ง
ทั้งๆ ที่ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ ข้อ ๑๐ ห้ามมิให้ผู้ใดบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายตามคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาล หรือวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาลโดยไม่สุจริต หรือใช้ถ้อยคำหรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี ปลุกปั่น ยุยง หรืออาฆาตมาดร้าย
ใครฝ่าฝืน มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล มีบทลงโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
แต่ก็ยังมีการละเมิดอยู่บ่อยครั้ง
การแถลงข่าวของพรรคก้าวไกล วันที่ ๙ มิถุนายน หากเกิดขึ้น ไม่มีทางที่จะไม่พาดพิงไปถึงศาลรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน
เบื้องต้นที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ให้คู่กรณีแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีที่เป็นการชี้นำสังคม "ชัยธวัช ตุลาธน" ก็แอบหลังมวลชนเสียแล้ว
"...คิดว่าเรื่องนี้ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามหลักกฎหมาย อธิบายได้ พี่น้องประชาชนยอมรับได้ คิดว่าไม่ต้องมีความกังวลอะไรว่าจะไปกระทบต่อการพิจารณาของศาลได้..."
"...ที่มีการมองว่าอาจเกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองจนอาจเกิดความวุ่นวายได้นั้น คงไม่เกี่ยวกับการชี้แจงของพรรคก้าวไกล..."
เรื่องอยู่ในโรงในศาล จะมาอ้างว่าพอใจหรือไม่พอใจของประชาชนเป็นตัวชี้นำไม่ได้
ถ้าทำแบบนั้นก็เหมือนยุคหนึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีซุกหุ้นของ "นักโทษชายทักษิณ" ว่าบกพร่องโดยสุจริต เพราะประชาชน ๑๑ ล้านเสียงเลือกมา
แบบนี้ระบบกฎหมายไม่พังหมดหรือครับ!
การที่ "ชัยธวัช ตุลาธน" บอกปัดความรับผิดชอบ ถ้าเกิดความวุ่นวาย ไม่เกี่ยวกับพรรคก้าวไกล ดูจะมักง่ายไปหน่อย
พูดแบบนี้ก็เท่ากับโยนความผิดไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเต็มๆ
ก็เห็นกันอยู่ พรรคก้าวไกลปั่นกระแสในโซเชียลมาพักใหญ่แล้ว และปั่นกันมาอย่างเป็นระบบ ถึงขั้นแก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ
วันที่ ๑๒ มิถุนายนนี้ ก็คงจะดุเดือดหน่อย พรรคก้าวไกลจะรอดจากการยุบหรือไม่ ต้องแยกให้ออกระหว่างคดีกับการแก้ปัญหาทางการเมือง เพราะพรรคก้าวไกลมักเหมารวมว่า การยุบพรรคไม่สามารถแก้ปัญหาทางการเมืองได้
มันคนละเรื่องกันครับ
ศาลรัฐธรรมนูญมิได้มีหน้าที่แก้ปัญหาทางการเมือง
แต่มีหน้าที่พิจารณาคดีไปตามพยานหลักฐาน
นักการเมืองต่างหากที่ต้องแก้ปัญหาทางการเมือง
คดียุบพรรค เป็นผลสืบเนื่องจากคดี "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" และพรรคก้าวไกล ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ
คือ แก้ หรือยกเลิก ม.๑๑๒
ศาลจึงได้สั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒
อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย
ฉะนั้นโอกาสที่จะถูกยุบพรรคก็มี
หรือศาลอาจวินิจฉัยว่า ได้มีการหยุดการกระทำแล้ว จึงไม่ยุบพรรค ก็เป็นไปได้
จึงต้องจับตามองว่า ในวันที่ ๙ มิถุนายนนี้ หากพรรคก้าวไกล โดย "ชัยธวัช ตุลาธน" ยังยืนกรานว่าสามารถแก้ ม.๑๑๒ ได้ ก็เท่ากับยังไม่หยุดการกระทำ
มีโอกาสสูงที่ศาลจะสั่งยุบพรรค.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทลายทุนผูกขาด
ชื่นใจ... ชื่นใจในความรวยของเศรษฐีไทยครับ วารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยติดต่อกันปีนี้เป็นปีที่ ๓๑ แล้วครับ
นายกฯ ฝึกงาน
ขยี้ตาสิบที... แถลงผลงานในรอบ ๓ เดือนแน่นะ "อิ๊งค์" ไปดูอีกทีกับการแถลงข่าววานนี้ (๑๒ ธันวาคม)
ชะตากรรม 'นายกฯ ชินวัตร'
วันนี้ (๑๒ ธันวาคม) นายกฯ อิ๊งค์ แถลงผลงาน อยากรู้ว่าผลงานมีอะไรบ้าง เชิญเฝ้าหน้าจอสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที หรือช่อง ๑๑ นั่นแหละครับ
ในวันที่ 'ส้ม' โหยหาเพื่อน
ไอ้เสือถอย! ไปไม่ถึงสุดซอยครับ "หัวเขียง" ยอมเลี้ยวกลับเสียก่อน
ง่ายๆ แค่เลิกโกง
อาจถึงขั้นเปลี่ยนขั้วตั้งรัฐบาลกันเลยทีเดียวครับ... หากพรรคเพื่อไทย จะเอาให้ได้ กับร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ด้วยการจับยัดเข้าสภาฯ ก็สามารถยึดอำนาจกองทัพได้สำเร็จครับ
'อุ๊งอิ๊ง' แถลงผลงาน
ล้างตารอไว้นะครับ นายกฯ แพทองธาร นัดไว้แล้ววันที่ ๑๒ ธันวาคม มีข่าวใหญ่