คนไทยต้องกังวลเมื่อเศรษฐกิจ ยังโตต่ำกว่าก่อนโควิด-19

เรากำลังเข้าสู่ช่วงจังหวะเวลาที่ต้องพิจารณางบประมาณปี 2568 ในขณะที่มีคำถามมากมายหลายด้านเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ผมติดตามแนวทางวิเคราะห์ของหลายสถาบันที่นำเสนอทางแก้ปัญหาแล้วก็พอจะสรุปตรงกันว่า เศรษฐกิจทั้งปี 2024 นี้น่าจะอยู่ที่ไม่เกิน 2.6%

แต่ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแอและถูกรุมเร้าด้วยปัญหาเชิงโครงสร้างในหลายๆ ด้าน ไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้ามากที่สุดในภูมิภาค

หลังเศรษฐกิจโตติดลบ 6.1% ในปี 2020 เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตได้เพียง 1.6%, 2.5% และ 1.9% ในปี 2021, 2022 และ 2023 ตามลำดับ

รองนายกฯ และรัฐมนตรีคลังพิชัย ชุณหวชิร บอกว่า ศักยภาพของไทยควรจะโตได้ที่ 3.5% ปัญหาใหญ่ของปีนี้คือความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณ และการส่งออกยังไม่ฟื้น อีกทั้งการท่องเที่ยวแม้จะฟื้นดี แต่ก็ไม่ต่อเนื่องและอัตราการใช้จ่ายต่อหัวลดลง

พอเข้าฤดูฝนอันเป็นช่วง low season, รัฐบาลก็ใช้วิธีการระยะสั้น โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหาตลาดตะวันออกกลาง

การสั่งงานแบบฉุกละหุกเฉพาะหน้าอย่างนี้คงไม่ได้ผลอะไรเป็นกอบเป็นกำ ต้องมองไปปีหน้าว่าจะมีแผนทั้งสำหรับ high season กับ low season อย่างไร

ไม่มีใครบอกได้ว่านโยบายแจกเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet จะเกิดขึ้นในไตรมาส 4 ได้จริงหรือไม่ และหากเกิดจริงก็ไม่มีใครบอกได้ว่าจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด

ข่าวบอกว่าทางการยัง TOR สำหรับทำ Super Apps ไม่เสร็จด้วยซ้ำไป

สำนักวิจัย KKP Research มองว่า การส่งออกของไทยในปีนี้จะฟื้นตัวได้ในระดับต่ำแม้ว่าการส่งออกโลกจะฟื้นตัวได้ดี เหตุผลสำคัญคือปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคการส่งออกไทย

ประเด็นที่ยังคงน่ากังวลคือ ดุลการค้าที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ แม้ราคาน้ำมันจะเริ่มคงที่แล้ว ซึ่งส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยยังไม่กลับมาเกินดุลเต็มที่ และเป็นแรงกดดันต่อค่าเงินบาท

ในระยะข้างหน้า KKP Research ปรับลดตัวเลขประมาณการดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP ลงเล็กน้อยจากเกินดุล 0.8% เหลือเกินดุล 0.7% สอดคล้องกับมุมมองว่าค่าเงินบาทจะยังมีแนวโน้มอ่อนค่าอย่างน้อยในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ของปีนี้

สำนักวิจัยนี้ยังคงประเมินว่าแบงก์ชาติจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดทั้งปีนี้และจะลดดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 2 ปีหน้าหลังผลจากมาตรการภาครัฐต่อเศรษฐกิจเริ่มลดน้อยลง ที่น่ากังวลเป็นพิเศษคือเศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตได้ต่ำกว่าระดับก่อนโควิด-19

แม้ว่าหลายสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ทั้งการท่องเที่ยวที่เริ่มมีจำนวนนักท่องเที่ยวกลับมาใกล้เคียงกับระดับก่อนโควิด โดยเฉพาะในไตรมาส 1 ปี 2024 อุปสงค์โลกเริ่มมีทิศทางกลับมาฟื้นตัวเต็มที่มากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกในหลายประเทศที่เริ่มมีทิศทางกลับมาขยายตัว การเปิดเมืองที่เปิดกลับมาอย่างเต็มที่และเงินเฟ้อเริ่มปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถเติบโตแตะระดับ 3%

คำถามจึงต้องเป็นว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นปัญหาชั่วคราวจากปัจจัยภายนอก หรือเป็นปัญหาถาวรจากปัจจัยเชิงโครงสร้างภายในประเทศ?

KKP Research ประเมินว่าหลายปัจจัยทั้งภายนอกและภายในกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวรจากปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจมาเป็นปัจจัยฉุดเศรษฐกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้

ในกรณีของไทย แม้เศรษฐกิจจะปรับดีขึ้นในระยะสั้นจากประเด็นเชิงเทคนิค คือฐานที่ต่ำของการใช้จ่ายภาครัฐและการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวหลังโควิด แต่ยังมี 3 ปัจจัยฉุดรั้งที่สำคัญที่ยังเป็นความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยทั้งในปีนี้และในระยะต่อไป คือเศรษฐกิจไทยอาจกำลังเข้าสู่วัฏจักรการลดหนี้ (Deleveraging Cycle)

สะท้อนจากยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ที่หดตัวลงต่อเนื่อง ซึ่งโดยปกติกินระยะเวลาหลายปี เป็นปัญหาจากการเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของหนี้ครัวเรือนในช่วงก่อนหน้า ในขณะที่รายได้ของครัวเรือนไม่สามารถเติบโตได้ทัน

ตัวเลขการเติบโตของสินเชื่อล่าสุดยังคงมีทิศทางที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องตามธนาคารพาณิชย์ที่มีความเข้มงวดมากขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน

การชะลอตัวดังกล่าวส่งผลสำคัญ คือ แม้การบริโภคในภาพรวมขยายตัวได้ดีขึ้นจากภาคบริการแต่การบริโภคสินค้าคงทนโดยเฉพาะการบริโภครถยนต์ที่เติบโตติดลบอย่างหนักและยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว

 (พรุ่งนี้: อย่าอ่านเฉพาะตัวเลข GDP).

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว