ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 13)

 

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 

การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร)  การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476

ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี  แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง

ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า

ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า

และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า

การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่  8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ? 

การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490                 

มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ  หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์  สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก  สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร

ต่อจากกบฏบวรเดชเป็นเวลาเกือบสองปี ได้เกิด “กบฏนายสิบ” ขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ไม่มีข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกบฏนายสิบนี้ นอกเหนือไปจากข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลที่เริ่มต้นจากการที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมได้รับแจ้งเบาะแสมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่สืบรู้มาว่ามีผู้สมคบคิดกันวางแผนจะยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์และวางแผนกำจัดบุคคลสำคัญบางคนในคณะรัฐบาล

และเช่นกัน กบฏพระยาทรงสุรเดช ก็ไม่ต่างจากกรณีกบฏนายสิบ นั่นคือ   “ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความผิดจริงหรือไม่ หากแต่หลวงพิบูลสงครามเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีแนวคิดต่อต้านตน” (ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้าhttp://wiki.kpi.ac.th/index.php?title =พันเอก_พระยาทรงสุรเดช_(เทพ_พันธุมเสน)  ) 

กล่าวได้ กบฏที่เกิดขึ้น 3 ครั้งก่อนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่นำไปสู่การเกิด รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490  เป็นกบฏจริงอยู่เพียงครั้งเดียว นั่นคือ กบฏบวรเดช ส่วนอีกสองครั้งนั้น เป็นกบฏในจินตนาการของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม

ในหนังสือ “ท.ส. เจ้าคุณทรงสุรเดช: สารคดีเบื้องหลังประวัติศาสตร์การเมือง” ของ สำรวจ กาญจนสิทธิ์ อดีตนายทหารหลายเหล่าทัพ ผู้เป็นศิษย์และเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่สนิทของ พันเอก พระยาทรงสุรเดช ได้เล่าถึงความเป็นมาของเหตุการณ์ที่ถูกเรียกขานว่า  “กบฏพระยาทรงสุรเดช” ไว้ในบทที่เจ็ด ที่เขาตั้งชื่อบทว่า “อาณาจักรแห่งความหวาดกลัว”

ผู้เขียนจะได้หยิบยกสาระสำคัญมาเล่าต่อจากตอนที่แล้ว

รัฐบาลพันเอก หลวงพิบูลสงครามได้ประกาศแถลงการณ์จับตาย พ.ต. หลวงราญรณกาจ (พุฒ วินิจฉัยกุล) และ พ.ต.ต. หลวงวรณสฤช  (อั้น สิงคะวิภาต) และหลังจากปฏิบัติการ รัฐบาลได้มีประกาศจากสำนักงานโฆษณาการในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2481 ความว่า

“ด้วยเมื่อเช้าวันนี้ เวลา 04.30 น. ทางราชการได้ดำเนินการสั่งจับบุคคลที่คิดก่อการไม่สงบแก่ชาติ และการประทุษร้ายต่อสมาชิกคนสำคัญแห่งรัฐบาลนี้หลายท่านด้วยกัน เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองและเปลี่ยนแปลงรัฐบาลนี้ โดยคิดจะเชิญพระปกเกล้าฯหรือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิจ มาเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไป 

เนื่องในการสั่งจับกุมคราวนี้ เท่าทางการได้รับรายงานมาแล้วในวันนี้ ได้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นบ้าง บางรายถึงแก่ชีวิตและบาดเจ็บ คือ

1. พ.ต. หลวงราญรณกาจ นายทหารกองหนุนได้ยิงเจ้าหน้าที่บาดเจ็บสองคน ในขณะที่เข้าทำการจับกุม ฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้ยิงป้องกันตัว พ.ต. หลวงราญรณกาจได้ถูกยิงถึงแก่กรรม

2. พ.ต. หลวงวรณสฤช ผู้บังคับกองตำรวจปากพนัง เดิมทางการได้รับรายงานมาบ้างแล้วว่าจะก่อการไม่สงบ เพื่อเป็นทางป้องกัน ทางราชการได้สั่งย้ายไปรับราชการที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีคำสั่งลับไปยังผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 7 ห้ามมิให้ออกนอกเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช  เว้นแต่จะได้รับการคำสั่งเฉพาะจากกรมตำรวจ ก่อนจับกุมครั้งนี้ ทางการได้ให้ตำรวจสันติบาลไปเชิญตัวมากรุงเทพฯ  ระหว่างทางที่ตำบลสถานีจังหวัดชุมพร พ.ต. หลวงวรณสฤชได้ทำลายชีวิตตนเองเสีย

ทางราชการจึงขอประกาศให้ประชาชนทั้งหลายทราบทั่วกัน และขอให้อาณาประชาราษฎร์ทั้งหลายจงอยู่ในความสงบ อย่างหลงใหลเชื่อในข่าวอกุศลใดๆ เมื่อได้รับรายงานของการจับกุมครั้งนี้แล้ว จะได้แจ้งให้ประชาชนทราบต่อไป”

พ.ต. หลวงราญรณกาจ

สำรวจ กาญจนสิทธิ์ได้กล่าวต่อไปว่า

“แถลงการณ์ฉบับนี้ ทำให้ประชาชนตื่นตระหนกตกใจเป็นธรรมดา และคิดในทางที่ไม่เป็นมงคลแก่รัฐบาลนัก มีใครสักคนจะเชื่อตามประกาศ ส่วนมากเข้าใจว่าเป็นการจับตายของตำรวจ ข้าพเจ้ามั่นใจว่า พ.ต. หลวงวรณสฤช มิได้ทำลายชีวิตตนเองแน่นอน เพราะรู้จักนิสัยใจคอดี เคยอยู่ใต้บังคับบัญชาของท่านเป็นเวลาเกือบ 3 ปี มีความสนิทสนมใกล้ชิด พ.ต. หลวงวรณสฤช เป็นคนจริง กล้าหาญ เด็ดขาด และเป็นคนสู้คน จิตใจเข็มแข็ง ไม่มีทางที่จะทำลายชีวิตตนเอง เพียงถูกตำรวจสันติบาลเชิญตัวเข้ากรุงเทพฯ เพื่อสอบสวนหรือแม้จะเป็นผู้ต้องหา

ตามข่าวกล่าวว่า พ.ต. หลวงวรณสฤช เป็นบุคคลที่ พ.ต.อ. หลวงอดุลย์เดชจรัส มีความคร้ามเกรงมิใช่น้อย เพราะเคยผจญประจัญบานกันมาแล้ว ในสมัยเป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นเดียวกัน ทั้งสองคนมีลักษณะนิสัยเป็นหัวหน้ากลุ่มมาตั้งแต่หนุ่ม ต่างก็ไม่ลงรอยยอมก้มหัวแก่กัน จนกระทั่งออกเป็นนายทหารรับราชการ วิถีชีวิตของคนทั้งสองไม่อาจจะเบนสู่ความเป็นมิตรได้ แม้จะรับราชการคนละเหล่า เป็นเวลาประมาณ 20 ปี พ.ต. หลวงวรณสฤชเดิมสังกัดเหล่าทหารช่าง  ย่อมรู้จักและอยู่ใต้บังคับบัญชา พ.อ. พระยาทรงสุรเดชมาก่อนนานปี ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ได้โอนมาสังกัดเหล่าทหารราบ คุมกำลังรถถัง และกองร้อยปืนกลหนัก เป็นที่หวาดระแวงของกลุ่ม พ.ต.อ. หลวงอดุลย์เดชจรัสอย่างมาก

หลังจากนั้นไม่นานนัก พ.ต.อ. หลวงอดุลย์เดชจรัสในฐานะรองอธิบดีกรมตำรวจ สั่งย้าย พ.ต. หลวงวรณสฤชไปเป็นตำรวจแม่ฮ่องสอน ฐานที่มีความมัวหมองในคดีนายพุ่ม ทับสายทองลอบยิง พ.อ. หลวงพิบูลสงครามที่ท้องสนามหลวง             

เมื่อ พ.อ. หลวงพิบูลสงคราม ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พ.ต. หลวงวรณสฤชจึงถูกหมายหัวจับตาย การจับตายราย พ.ต. หลวงราญรณกาจ อดีตผู้บังคับกองพัน 3 กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์นี้ ข่าวบางกระแสแจ้งว่าถูกยิงด้วยปืนกล ขณะล้ม กระสุนถูกตรงหน้าอกตัดขั้วหัวใจ               

ตำรวจของ พ.ต.อ. หลวงอดุลย์เดชจรัส ยังสร้างความหวาดหวั่นพรั่นพรึงใจให้แก่ประชาชนต่อไปอีก ในการตายของ พ.ต. หลวงสงครามวิจารณ์ นายทหารกองหนุนเมื่อ 30 มกราคม 2481 อีกหนึ่งศพ

สำนักงานโฆษณาการ แถลงว่า

ตามที่ได้โฆษณาเรื่องเจ้าหน้าที่ได้สั่งจับกุมบุคคลที่คบคิดกันก่อการไม่สงบแก่ชาติแล้วนั้น บัดนี้ได้รับข่าวต่อมาอีกว่า ทางการตำรวจได้ดำเนินการจับกุม พ.ต. หลวงสงครามวิจารณ์ นายทหารกองหนุน ซึ่งอยู่ที่จังหวัดยะลาไปคุมขังไว้ ณ จังหวัดปัตตานี ต่อมาได้คุมตัว พ.ต. หลวงสงครามวิจารณ์ออกเดินทางจากจังหวัดปัตตานี เพื่อเข้ากรุงเทพฯ ระหว่างทางจากปัตตานีมาขึ้นรถไฟที่สถานีโคกโพธิ์ มีผู้ร้าย 9 คน มีอาวุธครบมือ สมคบกันทำการแย่งชิงตัวหลวงสงครามวิจารณ์  และใช้อาวุธปืนยิงตำรวจได้รับบาดเจ็บสองคน ฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้ทำการยิงเพื่อป้องกันตัว และปรากฏว่า พ.ต. หลวงสงครามได้ถูกยิงถึงแก่กรรมเสียแล้ว สำรวจ กาญจนสิทธิ์มีความเห็นว่า แถลงการณ์นี้จะเท็จจริงประการใด ไม่มีใครทราบแน่ โจร 9 คน ผู้เข้าทำการแย่งชิง ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บและหนีรอดไปได้ทุกคน คนที่ตายคือผู้ต้องหาในความควบคุมของตำรวจเพียงศพเดียว อนึ่ง ขณะเกิดเหตุ เป็นเวลาตีสามหลังเที่ยงคืน ความมืดปกคลุมทั่วไป แต่ตำรวจตาทิพย์แจ้งว่าคนร้ายมีจำนวน 9 คน ไม่ทราบว่านับตัวคนร้ายได้อย่างไร

สามศพ สามนายพันกองทัพบกเลือดทาแผ่นดินสังเวยอำนาจ เลือดทุกหยดของผู้มีกรรมเป็นรอยด่างในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย”

------------

บ้านเมืองขณะนั้นจึงนับว่าอยู่ใน “อาณาจักรแห่งความหวาดกลัว”

------------------

(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สุริยะ' ชี้ 'วิโรจน์' พูดให้ดูดี ไม่สนนามสกุลเดียวกับ 'ธนาธร' ก็จะตรวจสอบ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม กล่าวกรณีฝ่ายค้านออกมาระบุว่าเตรียมจองคิวอภิปรายไม่ไว้วางใจกระทรวงคมนาคมว่า เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะตรวจสอบรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องปกติ

พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ? (ตอนที่ 53)

ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร