แรงงานอ่อนดิจิทัลฉุดศก.สูญ3.3พันล้าน/ปี

 “สถานการณ์แรงงาน” ยังเป็นอีกประเด็นที่น่าจับตา โดยข้อมูลล่าสุดจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้เปิดเผยถึงภาพรวมการจ้างงานในไตรมาส 1/2567 ปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยผู้มีงานทำ มีจำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ 0.1% ซึ่งเป็นผลมาจากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลงกว่า 5.7% ในช่วงนอกฤดูการทำเกษตรกรรม สอดคล้องกับกำลังแรงงานรอฤดูกาลที่เพิ่มขึ้น 4% ส่วนสาขานอกภาคเกษตรกรรมยังขยายตัวได้ที่ 2.2% โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่ 10.6% ซึ่งมีปัจจัยสำคัญมาจากการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 9.3 ล้านคน ในช่วงไตรมาส 1/2567 หรือเพิ่มขึ้นถึง 43.5%

เช่นเดียวกับสาขาการก่อสร้างที่ขยายตัว 5% ขณะที่สาขาการผลิตเริ่มกลับมาขยายตัวได้ที่ 0.7% โดยเฉพาะการผลิตเครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมีและสิ่งทอ รวมถึงสาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า ที่ขยายตัวถึง 13.4%

สำหรับ “สถานการณ์การว่างงาน” ยังคงทรงตัว โดยในไตรมาส 1/2567 อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.01% โดยมีผู้ว่างงาน 4.1 แสนคน ลดลง 3.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของกลุ่มผู้ที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มีประสบการณ์การทำงาน ขณะที่กลุ่มนักศึกษาจบใหม่ อายุ 20-24 ปี เป็นกลุ่มที่มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นสูงที่สุด และมีสัดส่วนมากที่สุดเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมด

ทั้งนี้ ผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน ลดลง 1% และผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน ลดลง 5.3% ตามลำดับ อีกทั้งผู้ว่างงานระยะยาวยังลดลงกว่า 4.9% อีกด้วย โดยอัตราการว่างงานในระบบอยู่ที่ 1.84% ลดลงจาก 1.94% ในช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในช่วงไตรมาส 1/2567 ทั้งสิ้น 2.1 แสนคน

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ สภาพัฒน์ ให้ความสำคัญคือ การขาดทักษะของแรงงานไทยที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว โดยผลการสำรวจทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน (ASAT) ในประเทศไทย ของธนาคารโลกร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า เยาวชนและกลุ่มวัยแรงงานของไทยจำนวนมากมีทักษะ “ต่ำกว่าเกณฑ์” โดยมีสัดส่วนของกลุ่มที่มีทักษะการรู้หนังสือและทักษะดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์สูงถึง 64.7% และ 74.1% ตามลำดับ

สะท้อนว่า กลุ่มเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน ไม่สามารถทำงานด้านการอ่านและการใช้คอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐานได้ดี โดยทักษะด้านดิจิทัลที่อยู่ในระดับต่ำ สอดคล้องกับข้อมูลของ We are social ที่พบว่า ทักษะด้านดิจิทัลของไทยอยู่ในอันดับที่ 39 จาก 63 ประเทศ ทั้งที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตต่อวันในระดับสูง ซึ่งการขาดทักษะดังกล่าวอาจ ทำให้ไทยเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 3.3 พันล้านบาทต่อปี จากผลิตภาพของแรงงานที่ไม่สูงนักและการใช้นวัตกรรมที่น้อย ตลอดจนการลงทุนจากต่างชาติที่ลดลง

สถานการณ์ดังกล่าวเป็นประเด็นที่น่ากังวล โดยเฉพาะเมื่อนำมาประกอบกับปัญหาเด็กเกิดน้อย ซึ่งจะทำให้จำนวนแรงงานที่มีสมรรถนะสูงในอนาคตลดน้อยลง สะท้อนถึงความจำเป็นที่ไทยจะต้องเร่งพัฒนาทักษะให้แก่ประชากรอย่างจริงจัง เพื่อให้สามารถทดแทนกำลังแรงงานที่จะหายไป และสามารถรองรับการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมมูลค่าสูงได้

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่อง ความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคม โดยกองทุนมีแนวโน้มที่จะต้องจ่ายเงิน บำเหน็จบำนาญให้แก่ผู้ประกันตนที่เกษียณอายุ ซึ่งจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต สวนทางกับแนวโน้มจำนวนแรงงานรุ่นใหม่ที่จะมีบทบาทในการส่งเงินสมทบเข้าสู่กองทุนลดลง และประเด็นเรื่อง การพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อให้ได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบค่าจ้างของแรงงานกับมูลค่าจีดีพี พบว่า ช่องว่างระหว่างค่าจ้างแรงงานและจีดีพีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังจากในช่วงปี 2559 ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง

ขณะเดียวกันผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า ในช่วงปี 2528-2563 ค่าจ้างแรงงานกลุ่มทักษะปานกลางมีการปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากส่วนใหญ่ทำงานในลักษณะงานประจำ จึงไม่ได้มีการพัฒนาทักษะมากนัก รวมถึงบางส่วนยังถูกทดแทนด้วยเครื่องจักร หุ่นยนต์ และเทคโนโลยี

ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้แรงงานไทยมีการยกระดับทักษะอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถทำงานที่ได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้นได้ รวมทั้งต้องเร่งรัดการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากโครงสร้างอุตสาหกรรมในปัจจุบันยังเป็นโครงสร้างที่พึ่งพาแรงงานทักษะปานกลางค่อนข้างต่ำ ทำให้แรงงานจำนวนหนึ่งต้องทำงานต่ำกว่าระดับการศึกษา.

 

ครองขวัญ รอดหมวน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตา “AI” เปลี่ยนตลาดแรงงานทั่วโลก

ปัจจุบันต้องยอมรับว่า AI เข้ามามีบทบาท และมีประโยชน์ในภาคธุรกิจหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการตลาดที่ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจพฤติกรรมลูกค้ามากขึ้น หรือแม้กระทั่งการใช้ AI เพื่อวิเคราะห์ธุรกิจในหลากหลายมิติ ถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของภาคธุรกิจในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

บี้เร่งสปีดแหลมฉบังเฟส 3

เมื่อพูดถึงโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นโครงการเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

จับตา“ทุเรียนไทย”ราคาสูง แต่ผลผลิตแผ่ว

ถ้าพูดถึง “ทุเรียน” ประเทศไทยถือเป็นเบอร์ต้นๆ ของราชาผลไม้ชนิดนี้ ไม่ว่าจะขายในประเทศหรือส่งออก เรียกได้ว่าสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลเองก็ได้เร่งสนับสนุนเรื่องการส่งออกทุเรียน

เตรียมแผนท่องเที่ยวรับโลว์ซีซั่น

จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-9 มิ.ย.2567 ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา 15,543,344 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วประมาณ 736,096 ล้านบาท

ลุยปั๊มรายได้จากการท่องเที่ยว

จากนโยบายของรัฐบาลที่ยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค (Tourism Hub) และต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายของการเป็น Aviation Hub ที่มีศักยภาพรองรับนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางกว่า 150 ล้านคนต่อปีภายในปี 2573

"ขึ้นค่าแรง"เอกชนห่วงธุรกิจป่วน

“การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ” ยังเป็นประเด็นที่น่าจับตามอง เพราะฝั่งรัฐบาลยังคงยืนยันที่จะเดินหน้าตามนโยบาย โดย พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ยืนยันชัดเจนว่า ในวันที่ 1 ต.ค.2567