แจกเงิน5แสนล้านแล้วจะเหลือ ‘กระสุนรองรับวิกฤตอนาคต’ไหม?

รัฐบาลยังดูเหมือนมุ่งมั่นที่จะหาเงิน 5 แสนล้านมาแจก 50 ล้านคนผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต ท่ามกลางคำถามของความไม่พร้อมอีกหลายประการ

ไม่ว่าจะเป็นเงินก้อนที่จะจัดสรรพิเศษเป็น “งบกลาง” จากงบประมาณปี 67 หรืออีกก้อนจากงบฯ ปี 68

และยังไม่แน่ใจว่าบอร์ดของ ธ.ก.ส.จะอนุมัติงบกว่า 170,000 ล้าน เพื่อเอาไปแจกเกษตรกรในโครงการนี้หรือไม่อย่างไร

ยังไม่ต้องพูดถึงความซับซ้อนของ Super Apps ที่ยังไม่มีอะไรแน่นอน

หลังจาก ครม.อนุมัติแผนการคลังระยะปานกลางฉบับใหม่ด้วยการตั้งงบเพิ่ม และกู้เงินมาชดเชยการขาดดุลเพื่อทำโครงการนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษรไปถึงรัฐบาล

โดยเตือนประเด็นเรื่องผลกระทบต่อเสถียรภาพและความเสี่ยงเรื่องพื้นที่การคลัง

เพราะกลัวว่าหากมีวิกฤตที่คาดไม่ถึงในวันข้างหน้า จะไม่มี “กระสุนสำรอง” เพื่อตั้งรับสถานการณ์เหล่านั้น

ข้อสังเกตของแบงก์ชาติที่ว่านี้มีขึ้นหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไฟเขียวแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวนครั้งที่ 2

ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการเตรียมความพร้อมแหล่งเงินสำหรับการดำเนินการโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตามนโยบายรัฐบาลเศรษฐา

มีข่าวว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด เสนอให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อประกอบความเห็นบรรจุเข้าวาระ ครม.เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีเนื้อหาประเด็นสำคัญว่า

ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0506/ว(ล)10851 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 เรื่อง แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน (ครั้งที่ 2) โดยขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาเสนอความเห็นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี นั้น

ธปท.พิจารณาแล้วไม่ขัดข้อง เนื่องจากเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ครั้งที่ 2/2567

แต่รัฐบาลควรพิจารณาถึงผลของการปรับเพิ่มการขาดดุลงบประมาณต่อเสถียรภาพการคลัง และจัดการกับความเสี่ยงทางการคลังที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าควบคู่ไปด้วย

โดยเฉพาะหนี้สาธารณะและภาระดอกเบี้ยภาครัฐที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและต้นทุนการระดมทุนของภาครัฐและเอกชน

นอกจากนี้ พื้นที่ทางการคลัง (policy space) ในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลอาจลดลงจากรายได้ของรัฐบาลที่มีความเสี่ยงไม่เป็นไปตามเป้า และรายจ่ายรัฐบาลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นกว่าคาด

ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อฐานะเงินคงคลังและการบริหารกระแสเงินสดของรัฐบาลในระยะต่อไปได้

ในระยะต่อไป การดำเนินนโยบายด้านการคลังจึงควรให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเสถียรภาพการคลัง

ผ่านการลดการขาดดุลงบประมาณ โดยการเพิ่มรายได้อย่างเป็นรูปธรรม และใช้นโยบายภาษีที่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้เท่าที่จำเป็น

นอกจากนี้ ควรพิจารณาเพิ่มการชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ย เพื่อรักษาพื้นที่ทางการคลังสำหรับรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า

และดำเนินนโยบายการคลังที่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนด้วย

สำหรับแผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับทบทวนครั้งนี้ได้ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปรับเพิ่มขึ้น 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ปีงบประมาณ 2567 เท่ากับ 2,797,000 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2568 เท่ากับ 2,887,000 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2569 เท่ากับ 3,040,000 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2570 เท่ากับ 3,204,000 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2571 เท่ากับ 3,394,000 ล้านบาท

ส่วนประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 ปรับเพิ่มขึ้น 122,000 ล้านบาท ทำให้กรอบวงเงินงบประมาณอยู่ที่ 3,602,000 ล้านบาท

ปีงบประมาณ 2568 อยู่ที่ 3,752,700 ล้านบาท

ปีงบประมาณ 2569 อยู่ที่ 3,743,000 ล้านบาท

ปีงบประมาณ 2570 อยู่ที่ 3,897,000 ล้านบาท

ปีงบประมาณ 2571 อยู่ที่ 4,077,000 ล้านบาท

ขณะที่การขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณ เพิ่มขึ้นอีก 112,000 ล้านบาท ทำให้ขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ 805,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.3% ต่อ GDP

ปี 2568 อยู่ที่ 865,700 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.5% ต่อ GDP, ปี 2569 อยู่ที่ 703,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.5% ต่อ GDP, ปี 2570 อยู่ที่ 693,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.3% ต่อ GDP และปี 2571 อยู่ที่ 683,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.1% ต่อ GDP

ส่วนยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 11,131,634 ล้านบาท

คิดเป็น 62.4% ของ GDP

และประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2567 เท่ากับ 65.7%

ปีงบประมาณ 2568 อยู่ที่ 67.9%

ปีงบประมาณ 2569 อยู่ที่ 68.8%

ปีงบประมาณ 2570 อยู่ที่ 68.9% และ

ปีงบประมาณ 2571 อยู่ที่ 68.6%

นอกจากนี้ยังได้กำหนดตัวเลข GDP ของไทยใหม่ โดยปรับลดลงดังนี้

ปี 2567 เดิมอยู่ที่ 2.7% ฉบับใหม่ลดลงเหลือ 2.5%

ปี 2568 เดิมอยู่ที่ 3.3% ฉบับใหม่ลดลงเหลือ 3.0%

ปี 2569-2570 เดิมอยู่ที่ 3.3% ฉบับใหม่ลดลงเหลือ 3.2%

และปี 2571-2572 เดิมอยู่ที่ 3.2% ฉบับใหม่ลดลงเหลือ 3.0%

ส่วนอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2569 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 0.9-1.9% และปี 2570 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 1.1-2.1 ส่วนในปี 2571-2572 มีแนวโน้มจะอยู่ในช่วง 1.3-2.3%

ทั้งหมดนี้รวบรวมตัวเลขสำคัญๆ ว่าด้วยงบประมาณ, หนี้สาธารณะ, เงินกู้, ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายและสถานภาพทางด้านการคลังที่จำเป็นต้องมีการบริหารอย่างระมัดระวังอย่างยิ่งยวด

เพราะเมื่อ “พื้นที่การคลัง” แคบลง ความเสี่ยงของการที่จะเผชิญกับ “เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง” ก็จะสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันและประสิทธิภาพในการทำงานที่พร้อมจะตั้งรับกับสถานภารณ์วันข้างหน้าได้เหรือไม่?.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ