ฟังนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ปราศรัยต่างประเทศครั้งล่าสุดที่ฮ่องกงแล้วคนไทยก็น่าจะมีความฮึกเหิมทะเยอทะยานอย่างสูง
แต่ถ้าประเมินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น, กลาง, ยาวที่ออกมาจากการประชุมนัดพิเศษของรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาก็จะเห็นความย้อนแย้งอย่างชัดเจน
พอแถลงข่าวก็ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม
กลายเป็นว่าเป็นการมา “ระดมสมอง” ของบรรดารัฐมนตรีที่ไม่มีแผนอะไรชัดเจนมานำเสนอ
นายกฯ นั่งหัวโต๊ะ ให้รองนายกฯ พิชัย ชุณหวัชร บรรยายสรุปตัวเลขเศรษฐกิจว่าโตต่ำมากี่ปี ล่าสุด ไตรมาส 3 โตเท่าไหร่ อำนาจซื้อถดถอยอย่างไร การผลิตยังต่ำ และการลงทุนยังน้อย ส่งออกมีปัญหาและการท่องเที่ยวแม้จะฟื้น แต่ก็เข้าสู่ฤดูฝน
เป็นข้อมูลที่รัฐมนตรีทุกคนที่เข้าประชุมจะต้องศึกษาและเข้าใจถ่องแท้มาก่อนเข้าประชุมแล้ว
แต่เหมือนจะเป็นการให้เข้าห้องเรียน ให้อาจารย์เศรษฐศาสตร์ติววิชาเบื้องต้น
คำสั่งที่ออกมาก็เป็นเรื่องงานประจำ เช่น ให้เร่งเบิกใช้งบประมาณ ซึ่งเป็นหน้าที่ประจำของทุกกระทรวงทบวงกรม
แต่ก็ต้องมา “กำชับ” กันเหมือนเด็กๆ
หรือที่นายกฯ สั่งให้ไปหานักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางมาในช่วง low season หน้าฝน ซึ่งเป็นงานโดยหน้าที่ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
แม้เรื่องจะเพิ่มงบ 50,000 ล้านให้ บสย.ปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นก็เป็นเรื่องที่สามารถสั่งการได้โดยตรง
และต้องมีรายละเอียดมาวิเคราะห์ในที่ประชุมว่าที่บอกว่าจะให้ความสำคัญกับเอสเอ็มอีรายใหม่นั้นจะให้ใช้วิธีการอย่างไรเพื่อให้กระบวนการตรวจสอบเร็วและได้ผล
และการให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อเพิ่มขึ้นก็คงไม่ถือว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น
เพราะกว่าที่จะมีการสัมภาษณ์และคัดเลือกรายใหม่ก็ต้องใช้เวลา เพราะในท้ายที่สุดก็ต้องเลือกเฉพาะรายที่มีอนาคตและมีความสามารถในการบริหารให้ธุรกิจของตนลุล่วงไปได้
ที่น่าผิดหวังมากก็คือ นายกฯ บอกให้ทุกคนกลับไปศึกษาและวางแผนมาเสนอในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า
ทำไมต้อง 2 สัปดาห์?
หากนี่คือ “วิกฤตเศรษฐกิจ” ที่รัฐบาลนี้ได้ป่าวประกาศไว้ตั้งแต่เข้ามาทำงานวันแรก ผ่านมา 10 เดือน พอเรียกประชุมพิเศษก็ยังเป็นเพียงการ “ระดมสมอง” และให้ทุกคนกลับไปคิดเสนอแผนในอีก 2 สัปดาห์
โดยไม่มีแนวทางอะไรชัดเจนจากที่ประชุม
มิหนำซ้ำยังมีความสับสนว่า ตกลงตอนนี้รัฐบาลมี “ครม. เศรษฐกิจ” หรือไม่มี
ตอนนายกฯ อยู่อิตาลี บอกว่าจะเรียกประชุม “ครม. เศรษฐกิจไม่เป็นทางการ”
พอกลับมาบอกว่าเป็นแค่การเชิญรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและเจ้าหน้าที่มาระดมความคิด
คุณจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยคลัง บอกว่า ไม่มีการตั้ง ครม.เศรษฐกิจ เป็นเพียงการเชิญประชุมรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจมาคุยกันเท่านั้น
ที่ไม่ตั้งเป็น ครม.เศรษฐกิจนั้น คุณจุลพันธ์บอกว่า “เพื่อความคล่องตัว”
ท้ายที่สุดก็เลยไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันออกมาจากการประชุมรอบนั้น
และก็ยังไม่รู้ว่ารอบต่อๆ ไปจะเป็นในรูปแบบใด...เป็นการคุยกันรอบพิเศษ หรือเป็นรูป “คณะกรรมการ” หรือเป็น ครม.เศรษฐกิจ หรือเป็น “วอร์รูมเศรษฐกิจ” กันแน่
แต่ฟังนายกฯ ไปพูดที่ฮ่องกงแล้วก็มีภาพอันสวยหรูอลังการ
คนละเรื่องกับบรรยากาศในประเทศ
คุณเศรษฐาบอกว่าไทยพร้อมสำหรับการค้า การลงทุน และไม่มีช่วงเวลาไหนที่จะดีที่สุดสำหรับการลงทุนในไทยเท่ากับช่วงเวลานี้แล้ว
นายกฯ เขียนข้อความขึ้น X ว่า
“ในการปาฐกถาที่งาน UBS Asian Investment Conference (AIC) ผมได้ส่งสัญญาณให้นักลงทุนทราบถึงความพร้อมของไทย ซึ่งตอนนี้เรากำลังฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด และรัฐบาลมีนโยบายเร่งการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากที่ประเทศขาดการกระตุ้นเศรษฐกิจมานาน
เช่น Digital Wallet ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ พี่น้องประชาชนจะได้ลืมตาอ้าปากได้โดยเร็ว
ในระยะยาว รัฐบาลสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วยการดึงดูดการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรม high-tech อย่าง Data Center, EV, Electronics, Semiconductor ควบคู่กับพัฒนาศักยภาพ ทักษะแรงงานไทย ทั้งกลุ่ม Software Developer วิศวกร และกลุ่มอื่นๆ เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมกลุ่ม New S-Curve และพร้อมเป็นบ้านของสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคของบริษัททางการเงิน ซึ่งเป็นด้านที่ไทยมีศักยภาพ
นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “Wisdom : An eye on the past, a view to the future” ว่าสอดคล้องกับนโยบายและวิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่นำภูมิปัญญา หรือ Wisdom จากประสบการณ์ในอดีต มาเป็นแนวทางในการรับมือกับความท้าทาย และกำหนดอนาคตของประเทศไทย โดยความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวของไทยที่มีมาตั้งแต่อดีตนี้
ถือเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยให้ไทยผ่านพ้นสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ซับซ้อน และสามารถคว้าโอกาสที่ช่วยประเทศให้เติบโตทางเศรษฐกิจได้
นายกฯ กล่าวว่า ส่วนของการกำหนดนโยบาย เป้าหมายของรัฐบาล คือการสร้างนโยบายเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ทำให้เศรษฐกิจเติบโตด้วยการส่งเสริมนวัตกรรม ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับความยั่งยืน
โดยมีแนวทางในการเสริมสร้างเสถียรภาพทางการคลัง การปฏิรูปกฎระเบียบ และการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในสาขาที่สำคัญ อาทิ ไทยปรับปรุงมาตรการด้านภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุนมากขึ้น และปรับปรุงกระบวนการในการดำเนินธุรกิจ ขจัดอุปสรรคด้านขั้นตอนเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมด้านธุรกิจและการเติบโตของผู้ประกอบการ รวมทั้งลดความซับซ้อนในการออกใบอนุญาตทำงานสำหรับแรงงานต่างชาติ พัฒนาระบบ Super License สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ลดข้อจำกัดการนำเข้าและส่งออก และการส่งเสริมพลังงานสะอาด โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก
นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า นโยบายทางการเงินการคลังที่สำคัญคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล โดยในไตรมาสแรกของปี 2567 ประเทศไทยมีการเติบโตของ GDP อยู่ที่ 1.5% และคาดการณ์ทั้งปีจะอยู่ที่ 2-3% รัฐบาลจึงมุ่งที่จะเปลี่ยนแปลงการเติบโตเศรษฐกิจของไทยให้สูงขึ้นผ่านการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท (275 ดอลลาร์สหรัฐ) ให้คนไทย 50 ล้านคน ซึ่งจะช่วยอัดฉีดเงินกว่า 5 แสนล้านบาท เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย และจะสามารถกระตุ้น GDP ได้ 1.2-1.8%
และด้วยกระเป๋าเงินดิจิทัลนี้ เงินจะลงไปถึงชุมชนท้องถิ่น ธุรกิจเล็กๆ ทำให้เกิดผลกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น โดยในระยะยาว นโยบายดังกล่าวจะวางรากฐานระบบการชำระเงินแบบบล็อกเชนทั่วประเทศ พร้อมด้วยการรักษาวินัยทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด และการลงทุนจากต่างประเทศที่มากขึ้น
“ขอเชิญชวนทุกคนร่วมการเดินทางในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาล บวกกับศักยภาพของประเทศไทยที่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อนวัตกรรมและการเติบโต เราเชื่อมั่นว่าจะทำให้ทุกฝ่ายสามารถสร้างอนาคตที่เจริญรุ่งเรือง ยั่งยืน และครอบคลุมร่วม เพื่อประโยชน์และความสำเร็จร่วมกัน”
คนไทยในบ้านฟังแล้วคงจะมองซ้ายมองขวาเพื่อจะหาหลักฐานยืนยันว่าที่นายกฯ พูดที่ต่างประเทศนั้นหมายถึงประเทศเดียวกับที่เราอาศัยอยู่ขณะนี้
เพราะยังไม่เห็นอะไรที่จับต้องได้หรือเห็นร่องรอยของ “ความฝันในคำปราศรัย” แต่อย่างใด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว