วิกฤตโควิดดันตัวเลข ‘คนจน’ ประเทศไทย

ความท้าทายสำคัญประการหนึ่งสำหรับรัฐบาลในปีนี้คือจำนวน “คนจน” ที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากวิกฤตโควิด-19 และยุทธศาสตร์ชาติที่ไม่สามารถบริหารปัญหานี้อย่างเป็นระบบ

รายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้วิเคราะห์สถานการณ์ความยากจน และความเหลื่อมล้ำในปี 2563 ระบุว่า

สัดส่วนคนจนเพิ่มขึ้นจาก 6.24% ในปี 2562 เป็น 6.84% ในปี 2563 หรือมีคนจนเพิ่มขึ้น 5 แสนคน จาก 4.3 ล้านคน เป็น 4.8 ล้านคน

เป็นผลจากการระบาดโควิด-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจ การจ้างงานอย่างรุนแรง

 

เศรษฐกิจไทยในปี 2563 หดตัวลง 6.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ขยายตัว 2.3%

ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในวงกว้าง โดยในปี 2563 มีผู้ว่างงาน 6.51 แสนคน

คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.69% เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีผู้ว่างงานจำนวน 3.73 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 0.98%

รายงานนี้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง แต่จำนวนคนจนที่คำนวณจากคนที่มีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตต่ำกว่าเส้นความยากจน (ต่ำกว่า 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน) กลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

แต่นั่นเป็นเพราะมาตรการที่เอาเงินภาษีประชาชนมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาที่รัฐบาลได้ดำเนินการตลอดช่วงระยะเวลาของผลกระทบ เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน

ถ้าอ่านรายงานนี้ลงไปถึงรายละเอียดจะพบด้วยว่า ขณะที่ภาพรวมครัวเรือนทั้งประเทศมีความเปราะบางเพิ่มขึ้น เพราะมีความสามารถหารายได้ลดลง

ซึ่งสะท้อนจากชั่วโมงการทำงานที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่หนี้สินครัวเรือนสูงขึ้นมาก และเงินออมในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีแนวโน้มลดต่ำลง

ทำให้พบว่า ในปี 2563 มีครัวเรือนยากจนเพิ่มขึ้นจาก 1.31 ล้านครัวเรือน อยู่ที่ 1.4 ล้านครัวเรือน

เมื่อพิจารณาความยากจนตามระดับความรุนแรง พบว่า ที่เพิ่มขึ้นมากคือ “คนยากจนมาก” เพิ่มขึ้นถึง 3.3 แสนคนจากปีก่อน หรือเพิ่มขึ้น 25.8%

ขณะที่ “คนจนน้อย” เพิ่มขึ้น 0.9 แสนคน หรือเพิ่มขึ้น 2.95%

รายงานของสภาพัฒน์ชี้ให้เห็นว่า คนจนที่มีความรุนแรงของปัญหาความยากจนเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับตัวชี้วัดช่องว่างความยากจน

นอกจากนี้ยังพบว่าคนจนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตามลำดับ

โดยกระจุกตัวอยู่ในภาคใต้ 11.60% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11.50% และภาคเหนือ 6.83%

โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นปัญหาด้านโครงสร้างการผลิตที่ส่วนใหญ่คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือประกอบอาชีพเกษตรและเป็นแรงงานนอกระบบ ทำให้มีรายได้ไม่แน่นอน

ส่วนภาคใต้มีปัญหาความรุนแรงขึ้นจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

และถ้าเรียงลำดับ 10 จังหวัดจนสูงสุดจะพบว่า “ปัตตานี” จนเพิ่ม 1.5 เท่า

จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ ปัตตานี แม่ฮ่องสอน นราธิวาส กาฬสินธุ์ ระนอง นครราชสีมา นครพนม ตาก ยะลา ศรีสะเกษ

โดยจังหวัดปัตตานีมีสัดส่วนคนจนติดในอันดับสูงสุด 10 อันดับแรก ร่วม 17 ปี ตั้งแต่ปี 2547-2563

ปี 2563 มีสัดส่วนคนจนเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า

ขณะที่อีก 6 จังหวัดมีปัญหา “ความยากจนเรื้อรัง”

ได้แก่ แม่ฮ่องสอน นราธิวาส กาฬสินธุ์ ตาก นครพนม และศรีสะเกษ โดยมีสัดส่วนคนจนอยู่ในลำดับสูงสุด 10 อันดับแรกเกือบทุกปี ระหว่างปี 2543-2563

ขณะเดียวกันก็พบว่าค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นด้วย

เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายของครัวเรือนยากจนในปี 2563 พบว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 9,183 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน มีค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้สินเฉลี่ย 1,275 บาทต่อเดือน รวมเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 10,458 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีรายจ่ายรวม 9,679 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน

แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภค 8,382 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน และเพื่อการชำระหนี้ 1,297 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน

โดยเป็นหนี้สินกู้ยืมเพื่อทำการเกษตร 42% กู้ยืมเพื่ออุปโภคบริโภคในครัวเรือน 40%

รายงานนี้ยอมรับว่ามีความเหลื่อมล้ำ "การศึกษา-หลักประกันสุขภาพ"

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่ายมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เป็นผลจากโควิด-19 ทำให้รายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคสูงขึ้น

ด้านโอกาสทางการศึกษามีทิศทางดีขึ้นในเกือบทุกระดับชั้น มีเพียงระดับอนุบาลมีอัตราการเข้าเรียนลดลง 76.4% เป็นผลกระทบจากโควิด-19

อย่างไรก็ตาม การเข้าศึกษาต่อในระดับสูงยังคงเป็นประเด็นน่าติดตาม

มีแนวโน้มทำให้นักศึกษาในกลุ่มครัวเรือนที่ยากจนมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาระดับสูงได้น้อยลง

และโอกาสในการหลุดนอกระบบการศึกษาที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาเศรษฐกิจ

เช่นเดียวกับความเหลื่อมล้ำในการเรียนรู้เกิดจากโควิด-19 ทำให้การเรียนการสอนในห้องเรียนไม่สามารถทำได้ ต้องผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้อื่น

ครัวเรือนที่ยากจนต้องแบกภาระมากกว่ากลุ่มครัวเรือนที่ร่ำรวย นอกจากนี้ยังมีความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษาระหว่างกลุ่มโรงเรียน ขนาดของโรงเรียน ที่ตั้งและภูมิภาค

รายงานนี้บอกว่า ด้านการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพมีความครอบคลุมประชากรเกือบทั้งประเทศ

แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพบริการระหว่างพื้นที่ จากการกระจุกตัวของบุคลากรทางการแพทย์ ครุภัณฑ์การแพทย์ พบว่า กรุงเทพฯ เขตปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ในภูมิภาคมีความพร้อมมากกว่าในเขตภูมิภาคและจังหวัดที่ห่างไกล

ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่กับปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของชาติในการแก้ปัญหา “ความยากจนซ้ำซาก” ได้อย่างไร หลังโควิด-19 ซาลงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันทุกขั้นตอนจริงๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ