เมื่อรัฐบาลทหารพม่าเชิญรัสเซีย มาร่วมโครงการทวาย, จีนก็เขม่น!

คนไทยได้ยินเรื่องโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายมานานพอสมควร

เพราะไทยเรามีส่วนเข้ามาร่วมพัฒนาในหลายมิติ แต่พอเกิดรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีก่อน ทุกอย่างก็ชะงัก

ล่าสุดรัฐบาลทหารเมียนมาเลือกรัสเซียให้ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย

จุดชนวนความตึงเครียดกับจีน

เพราะปักกิ่งเคยแสดงความสนใจในการพัฒนาท่าเรือใกล้ชายแดนไทยด้วย

เมื่อเร็ว ๆ นี้สื่อพม่ารายงานว่ารัฐบาลทหารมีความกระตือรือร้นที่จะลงทุนในโครงการท่าเรือแห่งนี้

โดยควบคู่ไปกับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งรวมถึงโรงกลั่นน้ำมันด้วย

ความจริง ก่อนหน้านี้จีนได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้สำหรับท่าเรือทวาย

แต่ต่อมาเปลี่ยนความสนใจไปที่ท่าเรือน้ำลึกจักพยู ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับท่าเรือสิตตะเวที่สร้างโดยอินเดีย

การที่รัฐบาลทหารพม่าของมิน อ่องหลายมีโน้มเอียงไปทางรัสเซียได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากจีน

ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเมียนมาที่เกาะติดเรื่องนี้บอกว่าแม้ปักกิ่งกับมอสโกจะมีความสนิทสนมกัน แต่ในหลาย ๆ เรื่องที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกันในภูมิภาคนี้ ก็เกิดกรณีเหยียบตาปลากันได้

เพราะจีนถือว่าตนเป็นใหญ่ประเทศในย่านนี้ และรัสเซียอยู่ห่างไกลออกไป

ท่าเรือทวายตั้งอยู่ในภูมิภาคตะนาวศรีบนชายฝั่งตะวันออกของเมียนมาหรือฝั่งทะเลอันดามัน

ที่มีความสำคัญด้านยุทธศาสตร์เพราะเป็นเสมือนประตูสำคัญสู่ประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ซึ่งเชื่อมต่อกับไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม และจีน

ท่าเรือน้ำลึกทวายยังมีศักยภาพในฐานะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับการค้าตู้คอนเทนเนอร์ของประเทศไทย

เพราะตั้งอยู่ใกล้กับกรุงเทพฯ และเชื่อมต่อกันด้วยโครงข่ายถนนที่ได้รับการพัฒนาแล้วเป็นอย่างดี

มีรายงานด้วยว่าเมียนมาและรัสเซียกำลังเข้าสู่กระบวนการหารือเกี่ยวกับโครงการท่าเรือทวายอย่างจริงจังแล้ว

นักวิเคราะห์มองว่ารัฐบาลทหารพม่าพยายามกระชับความสัมพันธ์กับมอสโกก็เพื่อถ่วงดุลอิทธิพลของจีนในประเทศที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ

ภายใต้โครงการนี้ มีแผนก่อสร้างท่าเรือทวายที่สามารถรับสินค้าได้ 10 ล้านตัน และโรงกลั่นน้ำมันที่สามารถผลิตได้ 100,000 บาร์เรลต่อวัน

แต่ปักกิ่งมีความกังวลว่าถ้ารัสเซียมายึดโครงการทวายก็จะมีผลกระทบต่อโครงการที่เมืองจอก์พยูที่จีนมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดมาระยะหนึ่งแล้ว

จีนมองเห็นศักยภาพของการใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งในบริบทที่กว้างขวางขึ้นของพลวัตทางการค้าในภูมิภาค

และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ BRI หรือ Belt and Road Initiative ของจีนด้วย

แต่ถ้าถามเพื่อนบ้านอีกคนคืออินเดีย ก็อาจะได้คำตอบว่าเขาอยากเห็นบทบาทรัสเซียในทวายมากกว่าจีน

ทวายตั้งอยู่ใกล้อินเดีย จึงมีความกังวลเรื่องการแข่งขันระหว่างจีนกับรัสเซียในพื้นที่ใกล้ตนเช่นนั้น

อินเดียมีเหตุผลจะต้องระแวงจีนในประเด็นนี้เพราะจีนได้เข้ามามีบทบาทค่อนข้างคึกคักในบริเวณที่ตั้งด้านยุทธศาสตร์ของเมียนมาในอ่าวเบงกอล

ในอดีต อินเดียเล่นบทสำคัญในการเป็นผู้พิทักษ์รักษาความปลอดภัยรายสำคัญในภูมิภาค

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรือดำน้ำที่อินเดียจัดหาให้เมียนมานั้นมีต้นกำเนิดจากรัสเซีย

นอกจากนี้ บริษัทในอินเดียและรัสเซียยังได้ร่วมมือกันจัดการสนามบินใกล้กับท่าเรือ Hambantota ที่จีนควบคุมในศรีลังกา

นักสังเกตการณ์บอกว่ารัฐบาลทหารพม่ากำลังพยายามลดการพึ่งพาจีนและกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซียในโครงการด้านยุทโธปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานทางทหาร

เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนและเศรษฐกิจต่างประเทศของเมียนมาเยือนกรุงมอสโกเพื่อหารือเกี่ยวกับการพัฒนาท่าเรือ เขตเศรษฐกิจพิเศษ โรงกลั่นปิโตรเลียม และโครงการพลังงาน

อีกด้านหนึ่ง เมียนมาเพิ่มการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเมื่อปีที่แล้ว

เพื่อนำมาเสริมกองทัพอากาศของตนในการต่อสู้กับฝ่ายต่อต้านที่ทำท่าจะมีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้นทุกขณะ

ดังนั้น เราจึงเห็นความร่วมมือด้านกลาโหมระหว่างเมียนมาและรัสเซียที่เพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น

เห็นได้จากที่กองเรือรัสเซียมาเยือนฐานทัพเรือพม่าและมีการฝึกซ้อมด้านความมั่นคงทางทะเลร่วมกันเป็นระยะ ๆ

ในระหว่างที่หัวหน้าฐานทัพเรือ Sittwe เยือนรัสเซียเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการลงนามข้อตกลงมูลค่า 35 ล้านดอลลาร์หรือกว่า 1,200 ล้านบาท

ต้องไม่ลืมว่า รัสเซียเป็นผู้จัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ทางการทหารรายใหญ่ที่สุดของเมียนมา

รวมถึงเครื่องบินรบซูคอยและเครื่องยิงจรวด มูลค่ารวม 406 ล้านดอลลาร์หรือกว่า 14,000 ล้านบาท

มิน ออง หล่าย หัวหน้ารัฐบาลทหารของเมียนมาเยือนรัสเซียสามครั้งนับตั้งแต่ยึดอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 นอกจากนี้ เมียนมายังเป็นคู่เจรจาขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ในปี พ.ศ. 2565

ไม่แต่เท่านั้น รัสเซียยังกำลังจัดการฝึกอบรมพลซุ่มยิงและโดรนแก่เมียนมาผ่านบริษัททหารเอกชน วากเนอร์ และเวกา สตราทิจิ เซอร์วิส

พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญภาคพื้นดินในพื้นที่เป็นเขตปฏิบัติการของกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย

นอกจากนี้ บริษัทนิวเคลียร์ ROSATOM ของรัสเซียอาจจัดหาเครื่องปฏิกรณ์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็กให้กับเมียนมาในเดือนกุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว

พม่าเปิดศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งแรกด้วยเงินสนับสนุนจากมอสโก

เอกชนไทยมีความผูกพันกับโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายไม่น้อย

แต่ก่อนหน้ารัฐประหารในพม่าเล็กน้อย ก็มีการประกาศยกเลิกสัมปทานเอกชนไทยในโครงการท่าเรือน้ำลึก

นั่นคือจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนสมการแห่งดุลอำนาจในพม่าอีกครั้ง

ตอนนั้นมีข่าวว่าเกิดคู่แข่งรายใหม่ นั่นคือ นอกจากไทยและญี่ปุ่นที่ต้องการลงทุนในโครงการนี้ตั้งแต่แรกเริ่ม จีนก็กระโดดเข้ามาอย่างเปิดเผย

จะว่าไปแล้ว ไทยมีส่วนได้ส่วนเสียมากที่สุดในโครงการนี้เพราะเชื่อกันว่าหากเกิดได้จริง ท่าเรือน้ำลึกทวายจะพลิกโฉมทิศทางโลจิสติก์ในภูมิภาค

มีการวิเคราะห์กันว่าหากเกิดขึ้นจริง โครงการนี้จะปลดล็อกศักยภาพที่แท้จริงของประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าในภูมิภาคอาเซียน

นักวิเคราะห์บางสำนักมองตอนนั้นว่าเส้นทางทางการค้าโลกได้เปลี่ยนผ่านจากการขนส่งสินค้าข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก มาสู่การขนส่งสินค้าข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกมากขึ้นเรื่อย ๆ

เพราะสหรัฐ ฯ และจีนซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 1 และ 2 ของโลกวันนี้

แต่อีก 30 ปีข้างหน้า มีความเป็นไปได้สูงที่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจจะเปลี่ยนผ่านอีกครั้งมาเป็นจีนและอินเดีย

อันจะทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนใต้เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ถึงตอนนั้น คาบสมุทรอินโดจีนจะกลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ

จึงมองกันว่า ท่าเรือน้ำลึกทวายจะช่วยปลดล็อกทางออกของมหาสมุทรอินเดียให้กับไทย

การศึกษาพบว่า ไทยมีความได้เปรียบด้านโครงสร้างพื้น​ฐานต่อเพื่อนบ้านอยู่แล้ว ดังนั้น การไหลของสินค้าในคาบสมุทรอินโดจีนนับตั้งแต่จีนตอนใต้ลงมาย่อมจะขนส่งได้สะดวกรวดเร็วกว่าหากผ่านทางประเทศไทย

มองกันต่อด้วยว่าโครงการทวายจึงน่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับไทยเพิ่มขึ้นอีกหากโครงการทวายเกิด

ในกรณีนั้นก็มีความเป็นไปได้สูงที่ไทยจะได้เป็นศูนย์กลางของสะพานเชื่อม (land bridge) ระหว่างมหาสมุทรอินเดียและทะเลจีนใต้

แต่วันนี้ เมื่อจีนกับรัสเซียกำลังจ้องกันอยู่ ไทยเราจึงต้องหันมาทบทวนยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับบริบทที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างน่าสนใจ!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว