ความสูญเสียผู้นำฉับพลัน เป็นช็อกครั้งใหญ่ของอิหร่าน

เป็นข่าวที่สร้างความตื่นตะลึงให้กับกลุ่มผู้มีอำนาจไม่น้อยทีเดียวเมื่อประธานาธิบดีอิหร่าน เอบราฮิม ไรซี เสียชีวิตในอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะสำหรับผู้นำสูงสุด อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี

ผลงานของไรซีอาจจะไม่ได้โดดเด่นมากนัก อีกทั้งยังมีการประท้วงจากประชาชนกลุ่มต่างๆ เป็นระยะๆ แต่บทบาทของเขาในการกระชับอำนาจของกลุ่มผู้นำที่ผ่านมาสอดคล้องกับแนวทางอนุรักษนิยมไม่น้อย

นักวิเคราะห์มองว่าผลงานด้านบริหารประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจนั้นดูเหมือนจะน้อยกว่าประธานาธิบดีคนก่อนๆ ด้วยซ้ำไป เช่น โมฮัมหมัด คาทามี ซึ่งสร้างประวัติด้านการปฏิรูปด้านต่างๆ มากกว่า หรือฮัสซัน รูฮานี ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ที่เตหะราน ด้วยการเจรจากับมหาอำนาจโลกหลายชาติ

แต่ทันทีที่ชนะเลือกตั้งและรับตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2021 รับไม้ต่อจากรูฮานี ไรซี ถูกมองว่าเป็นส่วนสำคัญในแผนการของ “ผู้นำสูงสุด” ในการกระชับอำนาจเบื้องบนเพื่อคงไว้ซึ่งฐานอำนาจเดิม

ถึงจุดหนึ่งมีการคาดหมายด้วยซ้ำว่า ไรซีคือทายาทที่จะก้าวขึ้นมาเป็น “ผู้นำสูงสุด” รับช่วงต่อเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เพราะผู้นำสูงสุดอิหร่านวันนี้อยู่ในวัย 85 ปี จึงมีการวางระบบสืบทอดอำนาจเอาไว้แล้วอย่างเป็นระบบ ถึงขั้นที่มองกันว่าไรซีในวัย 63 ปี วันนี้คือ “บุตรบุญธรรม” ของท่านผู้นำสูงสุด

การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของไรซีจึงทำให้เกิดอาการช็อกในระดับบนอย่างเห็นได้ชัด เพราะอิหร่านไม่เพียงเป็นตัวละครสำคัญในการเมืองตะวันออกเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทโยงไปถึงสงครามในซีเรียและยูเครนอีกด้วย โดยยืนข้างเดียวกับรัสเซียและจีนอย่างเหนียวแน่นมาตลอด

แม้ว่าการบริหารประเทศของประธานาธิบดีไรซีไม่ได้ราบรื่นดั่งหวัง เพราะทันทีที่รับตำแหน่งบริหารสูงสุดในรัฐบาลก็ต้องเผชิญกับการชุมนุมประท้วงรัฐบาล เพราะความเดือดร้อนด้านเศรษฐกิจ ผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจมาจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และค่าเงินสกุลเรียลอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งเมื่อมีการสืบเสาะไปในอดีต ฝ่ายต่อต้านก็กล่าวหาว่าไรซีเมื่อคราวเป็นอัยการและผู้พิพากษา เคยมีส่วนโยงกับการพิจารณาคดีที่ส่งผู้เห็นต่างทางการเมืองเข้าคุกเป็นจำนวนมาก

ก่อนเกิดอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ที่คร่าชีวิตประธานาธิบดีนั้น มีการคาดกันว่าเขาจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สองในปีหน้า

แต่ไรซีก็มีอันต้องจากไปก่อนเวลาอันควร รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องจัดให้มีการลงคะแนนเสียงภายในเพื่อเลือกผู้นำใหม่ภายใน 50 วัน

นั่นหมายความว่าท่านผู้นำสูงสุดคาเมเนอีและกลไกของศูนย์กลางอำนาจสำคัญอื่นๆ จะต้องเริ่มเตรียมการอย่างเร่งด่วนสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ถือเป็นความท้าทายครั้งใหม่ต่อระบบการเมืองของอิหร่านในจังหวะเวลาที่เรียกได้ว่าละเอียดอ่อนที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

ไม่ต้องสงสัยว่าการเสียชีวิตของประธานาธิบดีไรซีจะต้องส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจด้านนโยบายภายในประเทศและต่างประเทศที่สำคัญ

แม้ว่าในท้ายที่สุดแล้วนโยบายสำคัญๆ ของประเทศจะถูกกำหนดโดยผู้นำสูงสุดคาเมเนอี แต่อิหร่านย่อมไม่ต้องการให้ชาวโลกโดยเฉพาะศัตรูอย่างอิสราเอลเห็นสัญญาณของความอ่อนแอหรือความไม่มั่นคงทางการเมืองในช่วงของการเปลี่ยนผ่านนี้ โดยเฉพาะในขณะที่ความตึงเครียดยังดำรงอยู่ระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล

นำมาซึ่งความตึงเครียดที่พุ่งสูงขึ้นระหว่างอิหร่านกับตะวันตกและอิสราเอล อันได้รับแรงกระตุ้นอย่างแรงจากสงครามอิสราเอล-ฮามาสที่ยืดเยื้อยาวนานถึง 7 เดือน

หนทางหนึ่งที่ชาวอิหร่านระบายความไม่พอใจต่อผู้มีอำนาจคือการคว่ำบาตรการเลือกตั้ง ปฏิเสธที่จะไปหย่อนบัตรลงคะแนนเสียง

น่าสังเกตว่าในปี 2021 จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ลดลงต่ำกว่า 50% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามในปี 1979 สัญญาณแสดงความไม่ยอมรับมาตรฐานการเมืองเห็นได้ชัดจากการในการเลือกตั้ง สส.ปีนี้ เพราะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งต่ำเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง ที่ระดับต่ำกว่า 41%

สองกรณีนี้สร้างความกระอักกระอ่วนให้กับผู้มีอำนาจพอสมควร เพราะแต่ไหนแต่ไรมา กลุ่มกุมอำนาจอ้างความชอบธรรมทางการเมืองด้วยการที่มีประชาชนออกมาแสดงฉันทามติอย่างท่วมท้นเสมอมาตั้งแต่เกิดปฏิวัตอิสลามที่โค่นระบบพระกษัตริย์ชาห์

แต่การกุมอำนาจไว้ในกลุ่มผู้นำปัจจุบันสำคัญกว่าการแสวงหาความชอบธรรมจากความเห็นพ้องของประชาชน เสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปจากคนรุ่นใหม่ และการเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงให้ทันกับโลกสมัยใหม่จึงไม่ได้รับความสนใจมากเท่าใด

สำหรับคนข้างนอกแล้ว ประเด็นที่น่าสนใจที่สุดน่าจะเป็นนโยบายต่างประเทศของอิหร่านจากนี้ไป ระดับนำของอิหร่านได้ยึดนโยบายตาต่อตา ฟันต่อฟันกับตะวันตกและอิสราเอล และพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับรัสเซียและจีน เพื่อคานอำนาจตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ

อิหร่านให้การสนับสนุนอย่างเปิดเผยต่อกลุ่มติดอาวุธที่เรียกว่าฝ่าย “อักษะแห่งการต่อต้าน” ซึ่งรวมถึงกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ของเลบานอน กองกำลังติดอาวุธอิรักและซีเรีย กบฏฮูตีในเยเมนและฮามาส

ทุกครั้งที่พันธมิตรเหล่านี้โจมตีกองกำลังอิสราเอลและสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ก็จะมีเสียงยืนกรานจากรัฐบาลอิหร่านว่าเป็นการตัดสินใจอย่างอิสระของแต่ละกลุ่ม พร้อมย้ำว่าอิหร่านไม่ต้องการให้เกิดสงครามระดับภูมิภาคเต็มรูปแบบ และไม่ได้ต้องการจะก่อให้เกิดความขัดแย้งโดยตรงกับสหรัฐฯ

การสูญเสีย “ทายาททางการเมือง” คนสำคัญอย่างประธานาธิบดีไรซีจึงเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับผู้นำสูงสุด ที่จะต้องเร่งรัดการวางโครงสร้างอำนาจใหม่เพื่อยังสามารถครองอำนาจ และยังควบคุมสถานการณ์การเมืองในประเทศและในภูมิภาคได้

เหตุร้ายที่เกิดฉับพลันเช่นนี้กำลังท้าทายความสามารถของผู้นำระดับบนสุดของอิหร่านในการปรับตัวให้คงไว้ซึ่งอำนาจและความน่าเกรงขามสำหรับศัตรูตะวันตกและอิสราเอลเป็นอย่างยิ่ง.  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ