"ขึ้นค่าแรง"เอกชนห่วงธุรกิจป่วน

 “การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ” ยังเป็นประเด็นที่น่าจับตามอง เพราะฝั่งรัฐบาลยังคงยืนยันที่จะเดินหน้าตามนโยบาย โดย พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ยืนยันชัดเจนว่า ในวันที่ 1 ต.ค.2567 จะมีการปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 400 บาทแน่นอน แม้ว่าที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ครั้งล่าสุดจะยังมีความเห็นไม่ตรงกัน และยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ โดยได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัดกลับไปทบทวนสูตรการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำใหม่

นอกจากนี้ยังต้องหารือกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง หลังจากได้ข้อมูลที่คณะอนุกรรมการระดับจังหวัดส่งเข้ามาที่คณะกรรมการชุดใหญ่ ว่าจะต้องมีแนวทางช่วยเหลือเรื่องอะไรเพิ่มเติมหรือไม่

ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยมาตรการทางภาษี รวมไปถึงขอให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยคุมราคาสินค้า

ขณะที่ในมุมของ “ภาคเอกชน” ยังคงมีการคัดค้านเกี่ยวกับการเดินหน้านโยบายดังกล่าวอยู่ โดยบางส่วนมองว่าการปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าวไม่ใช่การปรับตามกลไกที่ควรจะเป็น แต่เป็นการกระชากค่าจ้างสูงขึ้นไป ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการและเศรษฐกิจ โดย หอการค้าทั่วประเทศ และสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น 52 สมาคม” ได้ออกมาตั้งโต๊ะแสดงจุดยืนคัดค้านเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าว เพราะหวั่นคนจะตกงานเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าจะปรับตัวสูงขึ้น

พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า การที่รัฐบาลประกาศจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศนั้น ไม่เหมือนที่คุยกันไว้ในคณะกรรมการค่าจ้าง หากรัฐบาลยืนยันที่จะปรับขึ้นค่าแรงโดยไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม ภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจำเป็นจะต้องรักษาสิทธิ์ตามกฎหมาย พร้อมทั้งมีการสะท้อนเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าวจะกระทบในหลายส่วน อาจจะทำให้มีคนตกงานเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องเข้ามาแก้ไข จะส่งผลกระทบกับการลงทุน และอาจลามไปถึงกระทบค่าครองชีพประชาชนจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นด้วย

ส่วนในมุมของ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มองว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าวสูงกว่าความเป็นจริง และจะเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ยังมีปัญหาจากปัจจัยหลายประการที่มีความผันผวน เช่น ค่าเงินบาท ราคาพลังงาน และส่งครามการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในไทยอยู่แล้ว โดย กกร.เห็นด้วยกับการยกระดับรายได้ของแรงงานไทย แต่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี ควรเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ควรใช้กลไกจากไตรภาคีเป็นผู้พิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ รวมถึงควรมีการรับฟังความคิดเห็นและศึกษาถึงความพร้อมของแต่ละพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ตลอดจนภาครัฐควรเข้ามาดูแลค่าครองชีพในการดำรงชีพของแรงงาน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ภาคแรงงานและประชาชน

ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกบทวิเคราะห์ โดยระบุว่า หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ และมีผลบังคับใช้จริงในเดือน ต.ค.2567 คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ โดยภาคธุรกิจจะมีต้นทุนแรงงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดิมราว 6% (คำนวณจากข้อมูลปลายปี 2566 ที่มีจำนวนลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือน คิดเป็นสัดส่วนราว 37% ของลูกจ้างทั้งหมด) หากแยกตามธุรกิจ พบว่า ธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor-intensive) เช่น ภาคเกษตร การบริการด้านอื่นๆ งานในครัวเรือนส่วนบุคคล ที่พักแรมและบริการอาหาร และก่อสร้าง จะมีต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้นจากเดิมราว 8-14% ซึ่งสูงกว่าภาคธุรกิจเฉลี่ย

นอกจากนี้กิจการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดน่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่าหัวเมืองหลักและหัวเมืองรอง ขณะเดียวกันเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 อาจสูงขึ้น 0.1% ซึ่งแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นคงจะเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคภายในประเทศท่ามกลางค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงอยู่แต่เดิม ส่วนผลบวกต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคจากแรงงานที่ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นอาจมีไม่มากนัก ท่ามกลางค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง.

 

ครองขวัญ รอดหมวน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตา “AI” เปลี่ยนตลาดแรงงานทั่วโลก

ปัจจุบันต้องยอมรับว่า AI เข้ามามีบทบาท และมีประโยชน์ในภาคธุรกิจหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการตลาดที่ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจพฤติกรรมลูกค้ามากขึ้น หรือแม้กระทั่งการใช้ AI เพื่อวิเคราะห์ธุรกิจในหลากหลายมิติ ถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของภาคธุรกิจในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

บี้เร่งสปีดแหลมฉบังเฟส 3

เมื่อพูดถึงโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นโครงการเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

จับตา“ทุเรียนไทย”ราคาสูง แต่ผลผลิตแผ่ว

ถ้าพูดถึง “ทุเรียน” ประเทศไทยถือเป็นเบอร์ต้นๆ ของราชาผลไม้ชนิดนี้ ไม่ว่าจะขายในประเทศหรือส่งออก เรียกได้ว่าสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลเองก็ได้เร่งสนับสนุนเรื่องการส่งออกทุเรียน

เตรียมแผนท่องเที่ยวรับโลว์ซีซั่น

จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-9 มิ.ย.2567 ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา 15,543,344 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วประมาณ 736,096 ล้านบาท

แรงงานอ่อนดิจิทัลฉุดศก.สูญ3.3พันล้าน/ปี

“สถานการณ์แรงงาน” ยังเป็นอีกประเด็นที่น่าจับตา โดยข้อมูลล่าสุดจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้เปิดเผยถึงภาพรวมการจ้างงานในไตรมาส 1/2567

ลุยปั๊มรายได้จากการท่องเที่ยว

จากนโยบายของรัฐบาลที่ยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค (Tourism Hub) และต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายของการเป็น Aviation Hub ที่มีศักยภาพรองรับนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางกว่า 150 ล้านคนต่อปีภายในปี 2573