สถานการณ์สู้รบพม่าเปลี่ยน ดันให้หลายชาติปรับท่าที

สถานการณ์ในเมียนมามีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา จึงน่าสนใจว่า นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จะทำอย่างไรกับคณะกรรมการพิเศษที่ตั้งขึ้นเพื่อติดตามและกำกับทิศทางของเรื่องร้อนนี้

คณะกรรมการพิเศษที่ว่านี้อยู่ใต้สภาความมั่นคงแห่งชาติ เดิมตั้งให้คุณปานปรีย์ พหิทธานุกร เป็นหัวหน้าทีม War Room แห่งนี้ ในฐานะรองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศขณะนั้น

แต่เมื่อวันนี้ มีรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่คือ คุณมาริษ เสงี่ยมพงษ์ แล้วก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของกลไกนี้อย่างไรหรือไม่

ถึงวันนี้ยังไม่ได้ยินได้ฟังคุณมาริษแถลงเรื่องนี้แต่อย่างไร

ผู้ช่วยรัฐมนตรีกิจการต่างประเทศญ่ปุ่น Masahiro Komura (ซ้ายสุด) กับตัวแทนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและกะเรนนีที่โตเกียวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งๆ ที่มีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักตรงแนวชายแดนและในภาพรวมของสงครามเมียนมาอย่างต่อเนื่อง

นักวิเคราะห์ต่างชาติตั้งข้อสังเกตว่าไทยและญี่ปุ่นได้ปรับจุดยืนของตนในเรื่องพม่าอย่างน่าสนใจ

โดยเขาชี้ไปที่ความเคลื่อนไหวของไทยและญี่ปุ่นที่เพิ่มการเชื่อมต่อกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่าอย่างเปิดเผยมากขึ้น

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ทั้ง 2ประเทศเลือกที่จะติดต่อกับกองทัพพม่าภายใต้การนำของมิน อ่อง หล่าย เป็นหลัก

เพราะเคยเชื่อว่าอย่างไรเสียฝ่ายต่อต้านก็คงไม่สามารถจะสร้างความได้เปรียบในการสู้รบภาคสนามได้

แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยน เพราะกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธได้รุกหนักจนฝ่ายรัฐบาลทหารพม่าต้องถอยร่นอย่างมีนัยสำคัญ

อีกทั้งไทยและญี่ปุ่นก็เริ่มติดต่ออย่างเปิดเผยและใกล้ชิดกับรัฐบาลคู่ขนาน หรือ National Unity Government (NUG) มากขึ้นเช่นกัน

รวมไปถึงการที่ไทยและญี่ปุ่นเพิ่มความเข้มข้นของการช่วยปราบปรามศูนย์หลอกลวง หรือ scammers ที่ดำเนินการโดยกลุ่มอาชญากรชาวจีนและท้องถิ่นในรัฐกะเหรี่ยงของเมียนมา ใกล้ชายแดนไทย-เมียนมา

บทวิเคราะห์ใน Nikkei Asia เมื่อสัปดาห์ก่อนชี้ว่า เจ้าหน้าที่ไทยได้ยกระดับการมีส่วนร่วมกับกลุ่มต่อต้านของเมียนมา รวมถึง NUG และกลุ่มต่อต้านชาติพันธุ์ที่สำคัญ รวมถึงสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง และกลุ่มต่างๆ ทางตอนเหนือในรัฐกะเรนนี

อีกความเคลื่อนไหวหนึ่งที่เขามองว่าน่าสนใจคือ การที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ของไทยได้สั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและบริษัทโทรคมนาคมของไทยตัดบริการอินเทอร์เน็ตและสายโทรศัพท์ไปยัง Shwe Kokko ซึ่งเป็นศูนย์หลอกลวงที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุด เป็นกิจกรรมผิดกฎหมายที่ควบคุมโดยกลุ่มอาชญากรจีนในรัฐกะเหรี่ยงในเมียวดี ตรงข้ามแม่สอด, จังหวัดตากของไทย

Shwe Kokko เป็นเพียงหนึ่งในแหล่งอาชญากรหลายสิบแห่งที่ผุดขึ้นมาตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา

ถึงขั้นที่มีนักเคลื่อนไหวเรียกบริเวณชายแดนไทย-เมียนมาตรงแม่น้ำเมยว่าเป็น “แม่น้ำแห่งอาชญากรรม

ว่ากันว่าก่อนหน้านี้มีความพยายามที่จะเตือน ISP ของฝั่งไทย ให้ระงับบริการอินเทอร์เน็ต แต่มีการทำตามคำขอความร่วมมือเพียงระยะสั้นๆ

จากนั้นทุกอย่างก็กลับมาเหมือนเดิม

บทวิเคราะห์นี้บอกว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลสหรัฐ และรัฐบาลตะวันตกอื่นๆ ได้ล็อบบี้รัฐบาลไทยให้เอาจริงกับการปราบปรามเครือข่ายศูนย์หลอกลวงในเมียนมา

เพราะมีหลักฐานที่ชัดขึ้นตลอดเวลาว่า จำนวนประเทศที่คนถูกหลอกลวงจากก๊วนแก๊งเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 30 ประเทศ

เดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา สหรัฐได้อนุมัติกองทุนสำหรับ "ความช่วยเหลือไม่ทำลายชีวิต" แก่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์และกองกำลังป้องกันประชาชน หรือ PDF (People’s Defence Force) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธของรัฐบาลเงา NUG

นักสังเกตการณ์ต่างชาติบอกว่า อดีตนายกฯ ไทย ทักษิณ ชินวัตร ได้สร้างความซับซ้อนและวุ่นวายขึ้นด้วยการไปเสนอตัวเป็น “คนกลาง” เพื่อเจรจาสันติภาพด้วยความเชื่อของตนว่าเป็น “ผู้มีบารมีในภูมิภาคนี้”

แต่หลายฝ่ายก็มีความระแวงทักษิณ เพราะเขาเคยมีความสัมพันธ์อันดีกับ มิน อ่อง หล่าย

ทักษิณเคยอวดว่าเขาสนิทกับ มิน อ่อง หล่าย ในช่วงที่เป็นผู้บัญชาการกองทัพเมียนมา ในปี 2555 และ 2556

ทักษิณเคยโพสต์รูปถ่ายคู่กับนายทหารพม่าผู้ก่อรัฐประหารผู้นี้ในโอกาสเฉลิมฉลองปีใหม่ไทยและพม่าด้วยกันในพินอูลวิน

สถานที่นี้เป็นสถานีเนินเขาของอังกฤษในอดีต รู้จักกันในชื่อเมเมียว ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันทางทหารแต่ก่อนเก่า

และวันนี้ก็เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายร้อยของกองทัพพม่า

อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนนั่นคือ การเชิญผู้นำของกลุ่มต่อต้านชาติพันธุ์หลักที่ประกอบด้วย NUG และกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ 5 กลุ่ม รวมถึงสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง แนวร่วมชาติ Chin และพรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเรนนี มาเยือนโตเกียว 1 สัปดาห์ ระหว่าง 10-17 พฤษภาคมที่ผ่านมา

สังเกตได้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นระวังไม่ให้มีการต้อนรับที่เอิกเกริกเกินไป จึงให้องค์กรพัฒนาเอกชนในท้องถิ่นเป็นผู้เชิญ

 แต่ภาพที่ออกมาก็เห็นชัดว่า รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนความเคลื่อนไหวครั้งนี้อย่างเป็นทางการ

เพราะผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศ Masahiro Komura เป็นคนต้อนรับตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์เมียนมาเอง

อีกทั้งยังมีการสัมภาษณ์ในสื่อญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย โดยตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มต่อต้านอย่างเป็นกิจจะลักษณะด้วย

นอกจากนี้ กลุ่มชาติพันธุ์ยังพบปะกับตัวแทนของมูลนิธินิปปอน ซึ่งเป็นกลุ่มการกุศลที่นำโดย โยเฮ ซาซากาวะ ทูตพิเศษของญี่ปุ่นประจำเมียนมา

ซาซากาเข้าไปทำกิจกรรมมนุษยธรรมในเมียนมามาหลายปีแล้ว

แต่ในระยะหลัง เขาเปิดหน้าทำกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้น โดยได้พบกับตัวแทนองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ 8 องค์กรในกรุงเทพฯ เมื่อสุดสัปดาห์ก่อน

ไม่ต้องสงสัยว่าท่าทีที่เปลี่ยนไปของหลายประเทศต่อฝ่ายต่อต้านและรัฐบาลทหารพม่ามาจากการที่ มิน อ่อง หล่าย เพลี่ยงพล้ำในสนามรบในเกือบจะทุกภาคของประเทศตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

อีกทั้งฝ่ายไทยก็เริ่มจะต้องปรับยุทธศาสตร์ตรงชายแดนอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อสถานการณ์เริ่มแปรปรวนอย่างมีนัยสำคัญ

การสู้รบในเมียวดี ฝั่งตรงกันข้ามกับแม่สอด จังหวัดตาก ในเดือนเมษายน ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยหลายพันคนต้องหลบหนีข้ามพรมแดนเข้าสู่ประเทศไทย มีผลกระทบต่อการค้าชายแดนไทย-เมียนมา ที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 45,000 ล้านบาท เมื่อปีที่แล้ว

สัญญาณที่เปลี่ยนไปนี้เกิดจากสมการที่แปรผันในสนามรบ และประเทศที่มีส่วนโยงใยกับสงครามในพม่าเริ่มจะตระหนักถึง “ฉากทัศน์ใหม่” ที่จำเป็นต้องมีการปรับแนวทางของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องหันมามอง “ทางเลือก” เพื่อสร้างสันติภาพในพม่าอย่างจริงจัง!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว

อองซาน ซูจี: เสียงกังวล จากลูกชายในวันเกิดที่ 79

วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาคือวันเกิดที่ 79 ของอองซาน ซูจี...ในวันที่เธอยังถูกคุมขังเป็นปีที่ 4 หลังรัฐประหารโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021