มติยูเอ็นสนับสนุนตั้งรัฐปาเลสไตน์

ยืนยันเจตนารมณ์ของนานาชาติที่ “ขัดแย้ง” อิสราเอล สหรัฐและพวก สะท้อนว่าระเบียบโลกเก่าที่สหรัฐเป็นแกนนำกำลังสั่นคลอน

สงครามฮามาส-อิสราเอลในฉนวนกาซางวดเข้ามาทุกที อิสราเอลเข้ากวาดล้างเกือบทุกพื้นที่แล้ว แต่ผลโพลไม่นานนี้ชี้ว่าคนอิสราเอล 71% ต้องการให้นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) ออกจากตำแหน่ง คาดว่าเลือกตั้งครั้งต่อไปจะหลุดจากตำแหน่ง บทบาทผู้นำประเทศในฐานะปกป้องชาติบ้านเมืองไม่เข้าตาประชาชน

นักวิชาการบางคนเห็นว่าการกวาดล้างพวกฮามาสไม่ช่วยหยุดการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ทั้งยังโหมกระพือความเกลียดชังให้แรงมากขึ้น คนยิวในที่ต่างๆ ทั่วโลกถูกคุกคาม ดูหมิ่นดูแคลน แม้ยิวในอิสราเอลน่าจะปลอดภัยขึ้น แต่ยิวในต่างแดนอยู่ยาก

ภาพ: สมัชชาสหประชาชาติสนับสนุนตั้งรัฐปาเลสไตน์

เครดิตภาพ: http://www.tehrantimes.com/news/498340/Historic-vote-for-Palestine

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเป็นอีกปัจจัยกดดันให้หยุดยิง ประธานาธิบดีโจ ไบเดน หวังได้คะแนนเสียงจากพวกเชื้อสายอาหรับ ต้องการตีตัวออกห่างจากคำว่าไร้มนุษยธรรม น่าเชื่อว่าไบเดนรู้ตัวคะแนนนิยมของตนดีหรือไม่ ต้องทำอย่างไรจึงได้ใจคนอเมริกันที่เป็นฐานเสียง พรรครีพับลิกันฝ่ายค้านฉวยโอกาสโจมตีรัฐบาล ที่เคยพูดไว้ว่าจะสนับสนุนอย่างมั่นคงแข็งแกร่งแต่ตอนนี้แสดงตัวออกห่าง ระงับขายอาวุธบางชนิดแก่อิสราเอลชั่วคราว

ด้านเนทันยาฮูพยายามใช้กองทัพกดดันให้ฮามาสยอมรับเงื่อนไขสงบศึก สถานการณ์เข้มข้นขึ้นทุกที น่าติดตามว่าที่สุดแล้วจะสงบศึกหรือไม่ ฝ่ายใดได้ประโยชน์จากข้อตกลงหยุดยิง

สงครามฮามาส-อิสราเอลเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้าของการต่อสู้ระหว่าง 2 ฝ่ายที่ดำเนินมาหลายทศวรรษแล้ว สงครามนี้สะท้อนภาพความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งในระดับภูมิภาคตะวันออกกลางกับระดับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง

ตั้งแต่เริ่มสงคราม อันโตนิโอ กูเตร์เรส (Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดยิงทันที อิสราเอลละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนในการโจมตีเมืองกาซา พวกฮามาสก่อความรุนแรงเพราะมีที่มาที่ไป ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็โจมตี ด้านทูตอิสราเอล Gilad Erdan โต้ว่าท่านเลขาธิการฯ ไม่เข้าใจสภาพความเป็นไปของโลก ไม่เข้าใจการก่อการร้าย การสังหารเข่นฆ่าที่ฮามาสกระทำต่ออิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม

รัฐบาลอิสราเอลให้เหตุผลกวาดล้างฮามาสคือการกำลังปกป้องตัวเอง สอดคล้องกฎบัตรสหประชาชาติ ด้าน Josep Borrell ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศของอียู กล่าวว่า สิทธิการป้องกันตัวเองต้องอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ จะใช้หลักป้องกันตัวเองแล้วละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้ การตัดน้ำตัดไฟ ควบคุมการส่งอาหารแก่พลเรือนล้วนผิดกฎหมายระหว่างประเทศทั้งสิ้น การที่อิสราเอลเป็นสมาชิกสหประชาชาติย่อมถือว่ายอมรับกฎหมายเหล่านี้ หากอิสราเอลอยากทำตามใจตัวเอง ควรลาออกจากสมาชิกภาพ

ทั้งคู่ต่างพูดจากมุมมองคนละแบบ อิสราเอลยืนยันการปกป้องตัวเองสำคัญที่สุด ไม่สนใจว่าผิดกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ สิทธิมนุษยชนมีประโยชน์อะไรถ้าบั่นทอนทำลายบ้านเมืองตัวเอง

ย้อนหลังธันวาคมปีก่อน สมัชชาสหประชาชาติมีมติให้หยุดยิง มีเพียง 10 ประเทศเท่านั้นที่คัดค้านการหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรม อิสราเอลไม่สนข้อมติ รัฐบาลไบเดนกับพวกยังส่งอาวุธสนับสนุนอิสราเอลรบต่อไป

สมัชชาสหประชาชาติสนับสนุนตั้งรัฐปาเลสไตน์:

10 พฤษภาคมที่ผ่านมา สมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) มีมติสนับสนุนให้ปาเลสไตน์เป็นสมาชิกสหประชาชาติเต็มตัว ชี้ว่าปาเลสไตน์มีคุณสมบัติครบถ้วน ขอให้คณะมนตรีความมั่นคงทบทวนเรื่องการรับปาเลสไตน์เป็นสมาชิกอีกครั้ง

143 ประเทศสนับสนุนข้อมตินี้ 25 ประเทศงดออกเสียง 9 ประเทศที่คัดค้าน 2 ใน 9 ประเทศที่คัดค้านคือสหรัฐกับอิสราเอล

รัฐบาลซาอุฯ ชี้ว่ามติสมัชชาแสดงให้เห็นว่านานาชาติคิดเห็นอย่างไร การรับรองรัฐปาเลสไตน์สอดคล้องกับการสร้างสันติภาพถาวรในตะวันออกกลางตามแนวทางทวิรัฐ (two-state solution) ที่พูดถึงเรื่อยมา นานาชาติไม่อาจทนเห็นชาวปาเลสไตน์อยู่ทุกข์ยากอีก ถึงเวลาแล้วที่จะหยุดอิสราเอลทำร้ายปาเลสไตน์

ด้านรัฐบาลสหรัฐชี้แจงว่าสนับสนุนตั้งประเทศปาเลสไตน์ แต่ต้องผ่านการเจรจาเห็นพ้องในหมู่ประเทศที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่ออิสราเอลกับปาเลสไตน์อยู่ด้วยกันอย่างสงบ แม้ผ่านมาหลายสิบปีแล้วยังตกลงกันไม่ได้ ต้องเจรจาต่อไป

นานาชาติต้องการระบบโลกใหม่:

ประเทศที่เสนอมติและผู้รับรองน่าจะรู้ตัวตั้งแต่ต้นว่าที่สุดแล้วจะไม่เกิดรัฐปาเลสไตน์ ด้วยเหตุผลเดิมคือสหรัฐคัดค้าน (คณะมนตรีความมั่นคงเคยพิจารณามตินี้เมื่อเดือนเมษายน 2023 แต่สหรัฐคัดค้าน) เหตุที่เสนอมตินี้อีกครั้งเพื่อยืนยันเจตนารมณ์ของนานาชาติที่ “ขัดแย้ง” อิสราเอล สหรัฐและพวก ตอกย้ำว่าเหลือไม่กี่ประเทศที่คัดค้าน พวกที่คัดค้านเท่ากับสนับสนุนการ “ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ” “ละเมิดสิทธิมนุษยชน” “ขาดมนุษยธรรม” ที่อิสราเอลกระทำเรื่อยมาและกำลังทำอยู่ในตอนนี้

ท่ามกลางเสียงส่วนใหญ่ที่ต้องการสันติภาพ หวังให้ชาวปาเลสไตน์สงบสุข ชาวปาเลสไตน์หลายล้านคนไม่โดนกดขี่ มีเสรีภาพดังชาติเสรีประชาธิปไตยทั้งหลาย ถ้าตีความตามบริบทเฉพาะหน้า ข้อมตินี้มุ่งแสดงเจตนารมณ์ที่นานาชาติยืนเคียงข้างชาวกาซานั่นเอง

ถ้ามองในกรอบระดับโลก อาจตีความว่า 143 ประเทศผู้สนับสนุนมติอยู่ฝั่งตรงข้ามสหรัฐ มีเพียง 25 บวก 9 ประเทศเท่านั้นที่อยู่ฝ่ายสหรัฐ กำลังสะท้อนว่าระเบียบโลกเก่าที่สหรัฐเป็นแกนนำกำลังสั่นคลอน

การสั่นคลอนที่ว่านี้ไม่ได้หมายความว่าทั้ง 143 ประเทศเป็นปฏิปักษ์ต่อสหรัฐ ความร่วมมือยังมีอยู่และหวังร่วมมือในด้านต่างๆ มากขึ้นเพื่อการพัฒนา การอยู่ดีมีสุข แต่ได้แสดงออกว่าไม่ขอเดินตามสหรัฐทุกเรื่อง ต้องการระเบียบโลกใหม่ที่ “มีมนุษยธรรม” มากขึ้น ระบบโลกไม่จำต้องอยู่ภายใต้กฎแห่งป่าที่ต่างต้องดิ้นรนเอาตัวรอด นานาชาติสามารถร่วมมือกันได้จริงๆ

สิงหาคม 2023 เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ (Sergei Lavrov) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ชี้ว่า ระบบโลกเดิมที่บางประเทศรักษาการอยู่ดีกินดีของตนด้วยการกดขี่ขูดรีดผู้อื่นกำลังจะสิ้นสุด มนุษยชาติไม่ต้องการเช่นนั้น โลกพหุภาคีที่เป็นธรรมกำลังก่อตัว มีศูนย์เศรษฐกิจใหม่ ศูนย์การตัดสินใจใหม่ที่ยึดผลประโยชน์ของทุกชาติ เคารพอธิปไตยของชาติอื่น หลายประเทศอยากเข้าร่วมกลุ่ม หนีการใช้ดอลลาร์เป็นหลักฐานในตัวเอง

ด้านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เรียกร้องประชาคมโลกให้มุ่งแสวงหาผลประโยชน์แก่ทุกชาติให้มากกว่านี้ (ไม่ใช่เพื่อบางประเทศเท่านั้น) ตอบสนองความต้องการของประชาชาชน ยกมาตรฐานธรรมาภิบาลโลก ความต้องการของประเทศกำลังพัฒนา ยึดถือผลประโยชน์ทุกประเทศ สร้างข้อตกลงที่ได้ประโยชน์ร่วม แก้ปัญหาข้อพิพาทเพื่อมุ่งสันติภาพ

กำลังต่อสู้และเปลี่ยนแปลง:

ประวัติศาสตร์เตือนใจว่าอารยธรรมหนึ่งที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นแล้วดับไป มหาอำนาจหนึ่งเฟื่องฟูแล้วถูกแทนที่ด้วยมหาอำนาจใหม่ กฎใหม่กติกาใหม่ถูกเขียนขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า เกิดสงครามใหญ่น้อย โลกในศตวรรษที่ 21 อยู่ในสภาพเช่นนี้ไม่ต่างจากหลายศตวรรษก่อน

บางช่วงเป็น cold war ไม่ใช่ hot war เป็นสงครามเศรษฐกิจ สงครามวัฒนธรรม (ค่านิยม แนวคิด) บางครั้งบางเรื่องตีความว่าเป็นเพียงการแข่งขันช่วงชิงตามธรรมดาโลก

มหาอำนาจพยายามรักษาอำนาจของตนตามหลักคิดที่ยึดมั่น ไม่ต่างจากรัฐบาลอิสราเอลมองว่าต้องจัดการภัยคุกคามทั้งหลายให้อยู่ภายใต้การควบคุมเพื่อความมั่นคงปลอดภัย ตราบใดที่ปาเลสไตน์ยังมีกลุ่มแบบฮามาส (ไม่ว่าจะใช้ชื่อใดก็แล้วแต่) ตราบนั้นอิสราเอลไม่ปลอดภัย ต้องทำอะไรสักอย่างและเป็นเช่นนี้เรื่อยไป

มติสมัชชาสหประชาชาติสนับสนุนตั้งรัฐปาเลสไตน์คือหนึ่งในความเป็นไปของระบบระเบียบโลกปัจจุบัน เห็นถึงการต่อสู่ช่วงชิงในกรอบสงครามฮามาส-อิสราเอล (หรือจะตีความกว้างกว่านั้นก็ได้)

ถ้าหันกลับมามองกรอบภูมิภาค แนวทางทวิรัฐ (two-state solution) ได้พิสูจน์กว่า 3 ทศวรรษแล้วว่าล้มเหลว เป็นแค่หัวข้อสนทนาของคนรักสันติหรืออ้างสันติ แต่เรื่องที่พูดถึงเป็นเพียงความฝัน หากตื่นจากหลับจะพบความจริงว่าพื้นที่ปาเลสไตน์นับวันจะลดน้อยลงทุกที และอาจลดลงอีกที่ฉนวนกาซา ไม่ช้าโลกจะเห็นความจริงนี้อีกครั้ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กระสุนนัดเดียวเปลี่ยนโลก

บรรยากาศหาเสียงตอนนี้ไม่ต้องคิดถึงเรื่องอื่นใดอีก ทรัมป์ควรชนะเลือกตั้ง กระสุนนัดเดียวชี้ขาดผลเลือกตั้ง ชี้นำโลกอนาคตควรทำตามนโยบายทรัมป์

ทำไมสมาชิกอาเซียนสนใจเข้าBRICS

ประเทศไทย มาเลเซีย และเวียดนามพยายามสัมพันธ์ดีกับมหาอำนาจทั้งหลาย ไม่อิงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจนเกินตัว มอง BRICS เป็นโอกาสใหม่

ระบบโลกที่บิดเบี้ยว (2) สงครามยูเครน

เงื่อนไขสงบศึกของปูติน การใช้ทรัพย์รัสเซียที่ยึดได้เป็นหลักฐานชี้ว่าต่างฝ่ายต่างยืนยันรบต่อ บ่งชี้ระเบียบโลกที่บิดเบี้ยว ต้องสู้กันต่อไป

ปูตินยกระดับสัมพันธ์เกาหลีเหนือ-รัสเซีย

บัดนี้เกาหลีเหนือสามารถส่งกระสุนอาวุธต่างๆ ช่วยรัสเซียทำศึกยูเครน แม้กระทั่งส่งกองทัพเกาหลีเข้ารบโดยตรง ดังที่ผู้นำเกาหลีเหนือกล่าวว่า ปูตินคือเพื่อนแท้ที่ดีที่สุด

ระเบียบโลกที่บิดเบี้ยว (1)

สัจนิยมมีข้อดีหลายอย่างแต่เปิดช่องให้รัฐบาลบางประเทศตีความว่าสามารถรุกรานประเทศอื่นๆ เป็นเรื่องปกติของโลก บางประเทศพยายามทำให้ดูดีอ้างว่าเป็นการป้องกันตนเอง