ผู้เขียนขอหยิบยกรายงานจากสถานทูตอื่นๆที่มีต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อจากตอนที่แล้ว โดยผู้เขียนได้คัดลอกมาจากหนังสือ ฝรั่งมองไทยในสมัยรัชกาลที่ 7: ตะวันออกที่ศิวิไลซ์ ของ ธีระ นุชเปี่ยม จัดทำโดยมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี
รายงานจากสถานอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
“…..อัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ก็ได้จัดทำรายงานสถานการณ์ภายหลังการยึดอำนาจ โดยกล่าวถึงพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงยอมรับข้อเรียกร้องของคณะราษฎร เพราะทรงมี ‘ความปรารถนาที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยและหลีกเลี่ยงการเสียเลือดเนื้อ และให้สิ่งต่างๆ ดำเนินไปอย่างสงบเท่าที่จะเป็นไปได้ จะได้ไม่มีความปั่นป่วนรุนแรงอันจะเป็นผลร้ายต่อประเทศชาติ’ และนอกจากนั้น ยังทรงระบุด้วยว่า ทรงมีพระราชประสงค์อยู่แล้วที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงทรงยอมที่จะให้มีการสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ด้วยการเป็น ‘หุ่น’ (puppet)……………
การจัดตั้งคณะกรรมการราษฎร (Executive Committee) จำนวน 14 คน รายงานกล่าวถึงบุคคลบางคนในระบอบปกครองใหม่ บุคคลที่กล่าวถึงจริงๆ แล้ว เป็นคนในระบอบเดิมที่เคยมีบทบาทสำคัญในการปกครองและบริหารราชการแผ่นดิน คือ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร พลตรี พระยาอินทรวิชิต รองประธานสภาผู้แทนราษฎร พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎร และพระยาศรีวิศาลวาจา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ”
ทรรศนะของอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ที่มีต่อการแต่งตั้งข้าราชการในระบอบเดิมให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในระบอบใหม่ คือ
“เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นผู้ที่ ‘หัวไม่รุนแรง’ (moderate) ส่วนพระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็เป็นนักกฎหมายที่ดีและมีความซื่อตรงไม่เคยมีความด่างพร้อย (incorruptible) รัฐมนตรีคนเดียวที่รายงานฉบับนี้กล่าวถึง คือ พระยาศรีวิศาลวาจา ซึ่ง ‘….เป็นคนหนุ่มเชื้อสายจีน เคยศึกษาในอังกฤษ และฝรั่งเศส และหลังจากนั้น ก็ได้เข้ารับราชการในกระทรวงต่างประเทศ [จนได้เป็นปลัดทูลฉลองแห่งกระทรวงนี้] บุคคลอีกคนหนึ่งที่รายงานกล่าวถึงในรายละเอียดไว้มากกว่าบุคคลอื่นๆ คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งรายงานระบุว่าเป็นผู้นำในการก่อการปฏิวัติ บุคคลผู้นี้เป็น ‘…นักกฎหมายหนุ่ม เขาและสมาชิกคนอื่นๆ ของคณะราษฎรเป็นคนหนุ่มที่ได้รับการศึกษาในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา บางคนเป็นข้าราชการพลเรือน บางคนเป็นทหาร’ รายงานให้ภาพรวมของบุคคลสำคัญในระบอบการปกครองใหม่ของสยามขณะนั้นได้ดังนี้
‘…คณะรัฐบาลและครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมการราษฎร
ไม่ได้เป็นสมาชิกคณะราษฎร แต่เข้ามาทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ
คณะราษฎรพยายามหาบุคคลผู้ที่มีประสบการณ์ [เข้ามาเพื่อวัตถุประสงค์นี้]……..
…องค์ประกอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎรและคณะรัฐบาลให้
ความหวังว่า ระบอบใหม่จะไม่ทำสิ่งที่เป็นอันตราย ไม่มีเจ้านายพระองค์ใดทรง
ได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาร่วมในคณะรัฐบาล เพราะรัฐบาลมิได้สนับสนุนสถานะ
ของเจ้านายในราชวงศ์ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลใหม่จะไม่สามารถทำอะไรได้มากไป
กว่าบรรดาเจ้านายในการพัฒนาสยาม สถานะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยัง
ดำรงไว้ตามเดิม’
ท้ายที่สุด รายงานชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์หลังการยึดอำนาจเป็นไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย ผู้ที่ถูกควบคุมตัวไว้ได้รับการปล่อยตัวแล้วทั้งหมด ยกเว้น สมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระนครสวรรค์ วรพินิต ซึ่งทรงมีอิทธิพลมากในกองทัพบก นอกจากนั้น คณะราษฎรได้เริ่มไต่สวน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่มีต่อพระองค์ในเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวง [ในเวลาต่อมาก็ปรากฏว่า ข้อกล่าวหาเหล่านี้ไม่มีมูลทั้งสิ้น] ส่วนนายทหารที่สถานอัครราชทูตเคยรายงานไปก่อนหน้านี้ว่าเสียชีวิต ก็ยังคงมีชีวิตอยู่และกำลังได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ช่วงนี้มีข่าวลือเกี่ยวกับกับปรากฏของทหารอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งรายงานระบุว่าไม่มีมูลความจริง’
รายงายของอุปทูตอังกฤษ คือ นายจอห์นส์ (J.F. Johns) ก็ระบุแช่นเดียวกับรายงานอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ว่า ‘การปฏิวัติเกิดขึ้นอย่างที่มิได้อยู่ในการคาดหมายของทุกคนโดยสิ้นเชิง’ นอกจากนี้ หลังการยึดอำนาจ ชีวิตในกรุงเทพฯ ก็ดำเนินไปตามปกติโดยไม่มีความปั่นป่วนวุ่นวายหรือเหตุการณ์รุนแรงใดๆ
รายงานอังกฤษยืนยันว่า ไม่มีผู้ใดเสียชีวิต มีเพียง 3 คนเท่านั้นที่ได้รับบาดเจ็บจากการดำเนินการจับกุมของฝ่ายก่อการ รายงานถึงกับระบุว่า ‘จริงๆ แล้ว หากไม่มีทหารเรือและกำลังทหารประจำอยู่รอบๆ พระที่นั่งอนันตสมาคม เราก็คงต้องถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในสภาพปกติโดยแท้’
รายงานสถานอัครราชทูตอังกฤษกล่าวถึงบุคคลในระบอบการปกครองใหม่ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในสภาผู้แทนราษฎร [ในรายงานใช้คำว่า People’s Senate] และคณะกรรมการราษฎร ‘…มีการประกาศรายชื่อของผู้แทนที่ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวานนี้ [29 มิถุนายน 1932] และก็ได้รับการขานรับด้วยความโล่งใจ เพราะปรากฏว่า มีชื่อข้าราชการที่มีประสบการณ์จำนวนหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไปเป็นที่ยอมรับกันว่า ไม่ใช่พวกหัวรุนแรง และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไม่แต่ในบรรดาชาวสยามเท่านั้น แต่รวมถึงชุมชนชาวต่างชาติ [ในสยาม] ด้วย แต่ ‘สิ่งแรกที่สะดุดตาคนทั่วไป คือ ในรายชื่อเหล่านั้น ไม่ปรากฏพระนามของเจ้านายรวมอยู่ด้วย’
ในขณะเดียวกัน รายงานก็ชี้ให้เห็นด้วยว่า จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นทหารบกและทหารเรือมีรวมกันเพียง 15 คนเท่านั้นจากทั้งหมด 70 คน
ในบรรดาบุคคลในระบอบการปกครองใหม่เหล่านี้ รายงานของอุปทูตอังกฤษให้ความสนใจเป็นพิเศษอยู่เพียงไม่กี่คน รายงานกล่าวถึง หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งเป็นนักกฎหมายที่สำเร็จการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศส ว่าเป็น ‘มันสมองที่อยู่เบื้องหลังขบวนการ’ ส่วนคนอื่นๆ ในคณะกรรมการราษฎรที่รายงานฉบับแรกๆ ของสถานอัครราชทูตอังกฤษภายหลังการยึดอำนาจกล่าวถึง ได้แก่ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ พระยาศรีวิศาลวาจา และ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่น่าสนใจในเรื่องนี้คือ บุคคลเหล่านี้นอกจากจะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์และซื่อตรงไม่ด่างพร้อยแล้ว ในการรับรู้และความเข้าใจของอังกฤษ บุคคลเหล่านี้ยังเป็นผู้ที่ ‘หัวไม่รุนแรง’ จึงอาจคาดหวังให้เป็นพลังที่จะเหนี่ยวรั้งกลุ่ม ‘หัวรุนแรง’ ในคณะราษฎรได้ อุปทูตอังกฤษกล่าวถึงบุคคลทั้ง 3 ในคณะกรรมการราษฎรไว้ดังนี้
….พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเคยเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์และขณะนี้ดำรงตำแหน่ง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย เขามีชื่อเสียงว่าเป็นผู้ที่มั่นคงซื่อสัตย์และรักชาติ
และได้รับการยอมรับนับถือทั่วไปโดยชาวยุโรปและชาวสยาม ข้าพเจ้าได้ยินมาเป็นการ
ส่วนตัวว่า เขาได้รับเลือกให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพราะเป็นผู้ที่มีความ
มั่นคงเข้มแข็ง (strong) ข้าพเจ้ารู้จักเขามากว่า 20 ปี และก็ต้องกล่าวเลยว่า ไม่เคยเห็นเขา
หวั่นเกรงที่จะแสดงความคิดเห็นของตนออกมาและยืนหยัดในความคิดนั้น กรรมการอีก
ผู้หนึ่ง คือ พระยาศรีวิศาลวาจา ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นปลัดทูลฉลองและขณะนี้ดำรงตำแหน่ง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ท่าน [รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ] อาจจะรู้จักแล้วในส่วนที่เกี่ยวกับการประชุมเรื่องฝิ่นที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อไม่นาน
มานี้ และเขาผู้นี้ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เกี่ยวกับบุคคลนี้ เราสามารถกล่าวได้ด้วยว่า
เป็นผู้ที่มีความสามารถ ซื่อสัตย์และรักชาติ...ในบรรดากรรมการที่เป็นนายทหารนั้น พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา....ซึ่งได้ปรากฏมาโดยตลอดว่าเป็นผู้นำขบวนการ เป็นผู้ที่ข้าพเจ้าได้รับการบอกกล่าวมาว่า อยู่ในวัยกลางคน สงบสุขุม หัวไม่รุนแรง และมีพื้นฐานครอบครัวดี จึงเป็นที่หวังได้ว่า เขาจะมีอิทธิพลเหนี่ยวรั้งพวกคนที่หนุ่มกว่าและใจร้อนหุนหันพลันแล่นกว่า [ในขบวนการ]
ในการรับรู้และความเข้าใจของอุปทูตอังกฤษนั้น ชาวสยามจำนวนไม่น้อย รวมทั้งเจ้านายระดับล่างและข้าราชการทั้งระดับสูงและระดับล่าง ต่างก็รู้สึกมาระยะหนึ่งแล้วว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย สยามจึงควรมีรัฐธรรมนูญรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเป็นรากฐานการปกครอง อุปทูตอังกฤษระบุด้วยว่า ได้รับรู้มาว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีพระราชดำริเช่นนี้อย่างจริงจัง แต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้น ไม่ใช่การปฏิรูปจากเบื้องบน แต่มาจากการยึดอำนาจ ทำให้แม้กระทั่งผู้ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเพราะไม่อาจทนรับ ‘ระบอบการปกครองโดยเจ้านาย’ (regime of princes) ก็ยังมีความกังวลว่า ผู้นำเช่นที่กล่าวถึงข้างต้นจะเหนี่ยวรั้งคนหนุ่มหัวรุนแรง แต่ไม่มีประสบการณ์ในขบวนการ ไม่ว่าจะในสายทหารหรือพลเรือนก็ตาม ได้หรือไม่ เมื่อต้องเผชิญกับความยากลำบากที่รออยู่ข้างหน้า”
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ดร.ณัฏฐ์' ชี้กรณี 'ทักษิณ-พท.' รอดคดีล้มล้างฯ ไม่ตัดอำนาจ 'กกต.' ไต่สวนยุบพรรคได้
ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยว่าการกระทำของนายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยเป็นการ
‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ
“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป
ลุ้นระทึก! เลือก ‘อบจ.’ 3 จว. ‘กกต.’ จับตาที่อุดรฯแข่งดุ
“เลขาฯ แสวง” มั่นใจเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี แข่งขันสูงไม่ใช่ปัญหา แต่ช่วยกระตุ้นประชาชนออกมาใช้สิทธิ เผยมีเรื่องร้องเรียน 2 เรื่อง ใส่ร้ายระหว่างผู้สมัคร เร่งตรวจสอบ
'วรชัย' ชี้ 'ยิ่งลักษณ์' ไม่ได้รับความเป็นธรรม บอกกลับไทยตามกระบวนการไม่มีสิทธิพิเศษ
นายวรชัย เหมะ อดีตสส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ออกมาบอกว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
กกต. มั่นใจเลือกตั้ง นายกอบจ.อุดรธานี แข่งขันสูงไม่ใช่ปัญหา
นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้สัมภาษณ์ระหว่างไปตรวจเยี่ยมการรับมอบวัสดุอุปกรณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการเ
เลขาฯกกต.ยันคดี 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างปกครองฯ ที่ศาลรธน.ยกคำร้องไม่เกี่ยว กกต.
นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ข้อกล่าวหาว่า นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง ว่า ศาล