ความตึงเครียดระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้ไม่มีทีท่าว่าจะผ่อนคลายลงเลย
เพราะต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันอย่างดุเดือดอย่างต่อเนื่อง
ไทยเราก็คงเฝ้ามองเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเราทั้งคู่
แต่หากความระหองระแหงระหว่างปักกิ่งกับมะนิลาไม่มีทางสงบด้วยการเจรจาก็จะนำไปสู่การเผชิญหน้าที่รังแต่จะสร้างปัญหากับเอเชีย
เพราะจีนชี้นิ้วไปกล่าวหาว่าสหรัฐฯ เข้ามายุแหย่ฟิลิปปินส์ให้ไม่ยอมเลิกราต่อจีน
วอชิงตันยืนยันว่าต้องเข้ามาช่วยฟิลิปปินส์เพราะมีสนธิสัญญาด้านความมั่นคงที่ต้องช่วยกันหากเพื่อนถูกรังแก
ล่าสุดฟิลิปปินส์ระบุว่า ได้ส่งเรือไปยังพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ ด้วยข้อกล่าวหาปักกิ่งได้สร้าง “เกาะเทียม” ในบริเวณที่เป็นจุดของการอ้างสิทธิทับซ้อนกันอยู่
เรือที่ว่านี้คือหน่วยยามชายฝั่งซึ่งได้ส่งเรือลำหนึ่ง “เพื่อติดตามกิจกรรมผิดกฎหมายของจีนที่สร้าง 'เกาะเทียม' ในบริเวณนั้น”สำนักงานของประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ ระบุในถ้อยแถลง
พร้อมเสริมว่า เรืออีก 2 ลำถูกส่งไปประจำการหมุนเวียนในพื้นที่บริเวณนั้น
โฆษกหน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์ พลเรือจัตวา เจย์ ตาร์เรียลา แจ้งว่ามี "การบุกเบิกพื้นที่ขนาดเล็ก" ของสันดอน Sabina Shoal ซึ่งมะนิลาเรียกว่า Escoda และน่าจะเป็นการกระทำของจีน
ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของฟิลิปปินส์ เรียกร้องให้ขับนักการทูตจีนออกนอกประเทศ
ซึ่งโยงกับข้อกล่าวหาว่ามีการปล่อยคลิปรั่วที่เป็นเสียงการสนทนาทางโทรศัพท์ของพลเรือเอกชาวฟิลิปปินส์ที่เกี่ยวกับข้อพิพาททางทะเล
ถ้าฟิลิปปินส์ขับนักการทูตจีนกลับบ้าน ปักกิ่งย่อมจะต้องถือว่าเป็นการตบหน้าอย่างรุนแรง
จะยิ่งทำให้ความตึงเครียดถูกยกระดับขึ้นไปอีก
การเผชิญหน้าระหว่างสองประเทศนี้ยืดเยื้อมานานเป็นปี อันเกิดจากการต่อว่าต่อขานกันอย่างดุเดือดว่าด้วยการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนเหนือเกาะแก่งบนทะเลจีนใต้
จีนอ้างสิทธิ์เหนือเส้นทางน้ำสำคัญเกือบทั้งหมด รวมถึงบางส่วนที่ฟิลิปปินส์ บรูไนฯ มาเลเซีย ไต้หวัน และเวียดนามอ้างสิทธิ์
ศาลอนุญาโตตุลาการตัดสินในปี 2559 ว่าข้อเรียกร้องของปักกิ่งไม่มีพื้นฐานภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
แต่จีนไม่สน อ้างว่าจีนไม่รับรองอำนาจของศาลแห่งนี้
จีนเดินหน้าถมที่ดินเป็นวงกว้างบนเกาะบางแห่งในทะเลจีนใต้
และสร้างสนามบินกับสิ่งอำนวยความสะดวกทางทหารอื่นๆ บนเกาะเทียมเหล่านั้น
จุดประกายความกังวลไปถึงอเมริกา
ที่เป็นประเด็นขุ่นเคืองของจีนคือการที่เรือของฟิลิปปินส์ลำหนึ่งไปจอดทอดสมออยู่ที่สันดอนซาบีนาเพื่อ "จับและบันทึกการทิ้งปะการังที่ทับถมเหนือสันทราย"
ฟิลิปปินส์อ้างว่า “น่าตกใจ” ที่มีอยู่ของเรือจีนหลายสิบลำ รวมถึงเรือวิจัยและกองทัพเรือในบริเวณนั้น
อีกทั้งแผงกั้นลอยน้ำของจีนก็ปิดกั้นทางเข้าเรือฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้
ฟิลิปปินส์อ้างว่าการปรากฏตัวของเรือจีนที่สันดอนซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดปาลาวัน 200 กม. มีขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่หน่วยยามชายฝั่งค้นพบกองปะการังที่ตายแล้วทับถมอยู่
หน่วยยามชายฝั่งนำนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลไปยังพื้นที่เพื่อตรวจสอบว่ากองปะการังเกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือเกิดจากการแทรกแซงของมนุษย์
พอมีการเสนอให้ขับนักการทูตจีนก็ทำให้อุณหภูมิพุ่งขึ้นทันที
เพราะก่อนหน้านั้นหนึ่งสัปดาห์ จีนยิงปืนใหญ่ฉีดน้ำใส่เรือฟิลิปปินส์ที่มุ่งหน้าไปยังสันดอนสการ์โบโรห์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดของการเผชิญหน้าระหว่างทั้งสองประเทศ
ที่ปรึกษาความมั่นคงฟิลิปปินส์บอกว่า
“การกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าของสถานทูตจีนในการเข้าไปมีส่วนร่วมและเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน ข้อมูลเท็จ และข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งขณะนี้ได้เผยแพร่สำเนาบันทึกหรือบันทึกการสนทนาปลอมๆ ที่อ้างว่ามีการสนทนาระหว่างเจ้าหน้าที่ของประเทศเจ้าภาพ ไม่ควรปล่อยให้ผ่านไปโดยไม่มีการคว่ำบาตรหรือไม่มีบทลงโทษร้ายแรง”
ตามรายงานของสื่อท้องถิ่น บทสนทนานี้มีขึ้นในเดือนมกราคม
โดยพลเรือเอกชาวฟิลิปปินส์ถูกกล่าวหาว่าตกลงที่จะ "ลดความตึงเครียดในสันดอน Ayungin (สันดอนโธมัสที่สอง)" โดยการจำกัดจำนวนเรือที่ฟิลิปปินส์ใช้ในภารกิจเสริมกำลังที่นั่น พร้อมทั้งยอมรับว่าจะแจ้งล่วงหน้าไปยังจีน
กระทรวงการต่างประเทศของจีนตอบโต้คำกล่าวหาทันที
“เราขอเรียกร้องอย่างจริงจังให้ฟิลิปปินส์รับรองว่าในบทสนทนานั้นสะท้อนว่านักการทูตจีนปฏิบัติหน้าที่ของตนตามปกติเท่านั้น"
รัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์ กิลเบิร์ต เทโอโดโร กระโดดเข้าร่วมวงวิวาทะด้วยการประกาศว่า ถ้าสถานทูตจีนเก็บบันทึกภาพบุคคลในประเทศนี้ไว้ก็เท่ากับ “ยอมรับว่าได้ละเมิดกฎหมายฟิลิปปินส์”
พร้อมกับสำทับว่า การกระทำของสถานทูตจีน “ละเมิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและกฎหมาย”
นอกจากความขัดแย้งเรื่องนี้แล้ว ความสัมพันธ์ทางการทูตที่เปราะบางอยู่แล้วก็มีอันต้องเสื่อมทรามลงไปอีก
เมื่อจีนยังคงอ้างถึง “ข้อตกลงลับ” ที่ทำกับฟิลิปปินส์ระหว่างการบริหารงานของอดีตประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต
ข้อตกลงลับที่ว่านี้ระบุว่า ฟิลิปปินส์สัญญาว่าจะไม่ซ่อมแซมหรือสร้างโครงสร้างที่สันดอนโธมัสที่สองในหมู่เกาะสแปรตลีที่เป็นข้อพิพาท
ที่ผ่านมา จุดนี้ฟิลิปปินส์สามารถควบคุมได้มาตลอด
รัฐบาลมาร์กอสบอกว่าไม่รับรู้ถึงการดำรงอยู่ของข้อตกลงที่จีนอ้างถึง
ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศถดถอยลงอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปีที่แล้วโดยไร้วี่แววที่จะกระเตื้องขึ้น
แม้ว่าจะตกลงกันเมื่อเดือนมกราคมที่จะปรับปรุงการสื่อสารระหว่างกันเพื่อจัดการบริหารความตึงเครียดในเส้นทางในทะเลที่เป็นจุดพิพาทก็ตาม
หน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์บอกว่ามีเหตุการณ์ที่เผชิญหน้ากับปักกิ่ง 3 ครั้งตั้งแต่ต้นปี
รวมถึงเหตุยิงปืนฉีดน้ำหรือการชนเรือในทะเลจีนใต้ นับตั้งแต่ต้นปี ตามมาด้วยเหตุการณ์อีก 10 ครั้งเมื่อปีที่แล้ว
ไต้หวันก็เป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างทั้งสอง
จีนและฟิลิปปินส์แลกวิวาทะกันอย่างดุเดือดหลังมาร์กอสแสดงความยินดีกับผู้นำคนใหม่ของไต้หวัน ไหล จิงเต๋อ ที่ชนะการเลือกตั้ง
กระทรวงการต่างประเทศของจีนถากถางว่ามาร์กอสควร "อ่านหนังสือให้มากขึ้น"
เกี่ยวกับประเด็นจีน-ไต้หวัน ฟิลิปปินส์โต้ด้วยการกล่าวหาปักกิ่งไม่เคารพจุดยืนของประเทศอื่น
สถานการณ์ความร้อนแรงในทะเลจีนใต้อาจบานปลาย บ่อนทำลายความพยายามของจีนกับอาเซียนที่จะเขียน “คู่มือปฏิบัติ” เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งรุนแรง
คลื่นลมและพายุในทะเลจีนใต้ยังรุนแรงต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว