ความตายกับการเมือง

เห็นความเคลื่อนไหวในโซเชียลบางส่วนแล้วไม่สบายใจ

ความสูญเสียไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน สิ่งที่ไม่ควรเกิดคือ การเยาะเย้ย ถากถาง สมน้ำหน้า

หรือดีอกดีใจ

ไม่ใช่เรื่องโลกสวย

แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์พึงปฏิบัติต่อกัน

ความคิดที่แตกต่างเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคม 

รวมไปถึงระบอบการปกครอง

ต่างฝ่ายต่างมีสิทธิ์ที่จะไม่เห็นด้วยกับอีกฝ่าย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาเหลือเกินในโลกยุคปัจจุบันนี้

แต่ก็ต้องยอมรับความจริงประการหนึ่งว่า ความแตกต่างที่สุดขั้วเกินไปนั้น มันทำให้ยากที่ต่างฝ่ายจะยอมรับความคิดของกันและกันได้

กรณี "บุ้ง ทะลุวัง" เป็นตัวอย่างของความต่างที่สุดขั้ว

ไม่มีทางที่คนคิดต่างจะเข้าใจ "บุ้ง" เพราะแม้แต่คนมีความคิดใกล้เคียงกันก็ยังตั้งคำถามกับ "บุ้ง"

ขณะเดียวกัน แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ "บุ้ง" จะเข้าใจความคิดของคนที่คิดต่างไปจากตัวเอง เพราะการเคลื่อนไหวที่ดู ดุดัน ไม่มีการประนีประนอม คืออุปสรรคขวางกั้น

แต่เมื่อ "บุ้ง" จากไปแล้ว แม้สิ่งที่เหลืออยู่จะเต็มไปด้วยความไม่เข้าใจในตัว "บุ้ง" มากมาย แต่ต้องไม่ใช่ความเกลียดชัง

เพราะความเกลียดชัง ยากที่จะหาจุดจบได้          

กรณี "ณรงค์ กิตติขจร" เป็นอีกตัวอย่าง ของความขัดแย้งในอดีต

"ณรงค์ กิตติขจร" คือบุคคลที่ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง และมีนักศึกษาประชาชนต้องล้มตายจำนวนมาก

เมื่อบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นทรราช ล้มตายไป ก็คือการปิดฉากการเป็นบุคคลนั้น

ในส่วนพฤติกรรม การกระทำต่างๆ ในอดีต ก็ถูกจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์

ไม่มีใครมาลบล้างได้

มองบทบาทของ "ณรงค์ กิตติขจร" ในอดีตถึงปัจจุบัน  คงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องมอง นักศึกษาประชาชน ที่มีบทบาทในช่วงเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

เพราะหลายคนมีอำนาจรัฐอยู่ในมือ

ย้อนไปกรณี "บุ้ง" อีกนิด เพราะยังมีข้อสงสัยบางประการก่อนจะเสียชีวิต หากข้ามไปเลยจะไม่มีการถอดบทเรียนสำหรับกรณีอื่นๆ ที่มีความใกล้เคียงกัน 

ใจความสำคัญอยู่ในแถลงการณ์ ๒ ฉบับ

แถลงการณ์ของกรมราชทัณฑ์

"...ด้วยทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้รายงานว่า นางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง มีอาการหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน ในช่วงเช้าวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๗ โดยทางทีมแพทย์ได้ทำการกู้ชีพ พร้อมนวดหัวใจ จากนั้นส่งตัวออกไปรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ  ซึ่งทีมแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์และแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ได้พยายามกู้ชีวิตผู้ป่วยอย่างสุดความสามารถ ตั้งแต่เวลา ๐๖.๒๐-๑๑.๒๒ น. ร่างกายผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษา และถึงแก่กรรมอย่างสงบ ในเวลา ๑๑.๒๒ น. ..."

ขณะที่​ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ออกแถลงการณ์ว่า

"...วันนี้ (๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๗) เวลา ๐๙.๓๐ น.  โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รับตัวนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม (บุ้ง ทะลุวัง) จากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ด้วยอาการหมดสติไม่มีสัญญาณชีพ และได้รับการทำ CPR เพื่อฟื้นคืนชีพจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ตั้งแต่เวลา ๐๖.๒๓ น. และส่งผู้ป่วยมารับการรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โดยระหว่างการนำส่งมายังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ผู้ป่วยยังได้รับการช่วยฟื้นคืนชีพตลอดเวลาขณะนำส่ง

เมื่อผู้ป่วยถูกส่งตัวมาถึงได้ถูกนำเข้ารับการรักษา ณ ห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ชั้น ๑ อาคารกิตติวัฒนา โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เบื้องต้นแพทย์ประเมินพบว่าผู้ป่วยไม่มีสัญญาณชีพ ระบบประสาทไม่มีการตอบสนอง ไม่พบคลื่นไฟฟ้าหัวใจ จึงทำการ CPR  อย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานทางการแพทย์ เพื่อช่วยเหลือชีวิตอย่างเต็มที่

หลังจากการทำ CPR ฟื้นคืนชีพอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เวลา ๐๙.๓๐-๑๑.๒๒ น. ร่างกายผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาและถึงแก่กรรมอย่างสงบ ในวันที่ ๑๔  พฤษภาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๑.๒๒ น. ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตรอการชันสูตรตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป..."

จุดที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์เพื่อเป็นบทเรียนสำหรับกรณีถัดไปคือเรื่อง "เวลา"

การตัดสินใจนำผู้ป่วยวิกฤตจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปยังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ระยะทางกว่า ๓๐ กิโลเมตร เดินทางโดยรถฉุกเฉินในช่วงเวลาเร่งด่วนอาจใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง มาจากปัจจัยอะไรบ้าง

เพราะ "บุ้ง" มีประวัติการรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

เพราะใครต้องการให้ไปที่นั่น

ขณะเดียวกัน รอบๆ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั้งของรัฐ และเอกชนมากมายหลายแห่ง

ทำไมไม่เป็นตัวเลือกแรก

เช่นโรงพยาบาลวิภาวดี ที่มีแค่ถนนวิภาวดีรังสิตขั้นกลาง

ใช้เวลาไม่น่าจะเกิน ๑๐ นาที

แถลงการณ์ของกรมราชทัณฑ์บอกว่ากู้ชีพ ตั้งแต่เวลา ๐๖.๒๐ น.

ขณะที่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ทำ CPR ฟื้นคืนชีพอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เวลา ๐๙.๓๐-๑๑.๒๒ น.

เวลาที่เสียไปร่วมๆ ๓ ชั่วโมงกับผู้ป่วยวิกฤต ถือว่าเป็นเวลาที่ไม่น่าจะยอมรับได้

ถ้าเปลี่ยนไปโรงพยาบาลใกล้เคียงใช้เวลาแค่ ๑๐ นาที ผู้ป่วยอาจมีโอกาสรอด

นี่คือข้อสังเกต ไม่ใช่เฉพาะกรณี "บุ้ง ทะลุวัง" แต่สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะใส่เสื้อสีไหน มีความคิดเห็นทางการเมืองเช่นไร

กลับมาที่ "ณรงค์ กิตติขจร" เคยสร้างความหายนะไว้ในอดีต มีผู้ได้รับผลกระทบมากมาย ต่อเนื่องจาก ๑๔ ตุลา  ๒๕๑๖ ถึง ๖ ตุลา ๒๕๑๙

ครั้งนั้นนักศึกษาประชาชน ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ปลุกวิญญาณความเป็นประชาธิปไตย ให้เกิดขึ้นทั่วหัวระแหงในประเทศไทย

ผู้นำนักศึกษาในวันนั้น มาวันนี้หลายคนมีอำนาจ  เช่น อ้วน ภูมิธรรม เวชยชัย, หมอมิ้ง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช

ทั้งคู่อยู่ใกล้ชิดศูนย์อำนาจเหนือรัฐบาลเศรษฐามากที่สุด

มากกว่านายกฯ เศรษฐาด้วยซ้ำ

และสิ่งที่เป็นอยู่ในวันนี้คืออดีตคนเดือนตุลาทำงานใกล้ชิดกับ นักโทษคดีคอร์รัปชัน อดีตผู้ป่วยวิกฤตห่างหมอไม่ได้ที่ไม่ยอมติดคุกแม้แต่วันเดียว

มองในแง่อุดมการณ์ ไม่มีอะไรเข้ากันเลย

ถึงวันนี้ "ณรงค์ กิตติขจร" กับ "ทักษิณ ชินวัตร" ในฐานะผู้ก่อวิกฤตการเมืองแทบไม่มีอะไรต่าง

ขณะที่ "บุ้ง ทะลุวัง" อยู่ในเรือนจำร้อยกว่าวัน มีทั้งนักการเมือง นักเคลื่อนไหว นั่งอยู่ในห้องแอร์

ไม่มีใครมาขอเดินนำหน้า ร่วมอดอาหารกับ "บุ้ง"

แต่การเสียชีวิตของ "บุ้ง" แทบทุกคนที่เชียร์ "บุ้ง" บางส่วนจะนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองหลังจากนี้

นี่คือความจริงประเทศไทย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทลายทุนผูกขาด

ชื่นใจ... ชื่นใจในความรวยของเศรษฐีไทยครับ วารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยติดต่อกันปีนี้เป็นปีที่ ๓๑ แล้วครับ

นายกฯ ฝึกงาน

ขยี้ตาสิบที... แถลงผลงานในรอบ ๓ เดือนแน่นะ "อิ๊งค์" ไปดูอีกทีกับการแถลงข่าววานนี้ (๑๒ ธันวาคม)

ชะตากรรม 'นายกฯ ชินวัตร'

วันนี้ (๑๒ ธันวาคม) นายกฯ อิ๊งค์ แถลงผลงาน อยากรู้ว่าผลงานมีอะไรบ้าง เชิญเฝ้าหน้าจอสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที หรือช่อง ๑๑ นั่นแหละครับ

ง่ายๆ แค่เลิกโกง

อาจถึงขั้นเปลี่ยนขั้วตั้งรัฐบาลกันเลยทีเดียวครับ... หากพรรคเพื่อไทย จะเอาให้ได้ กับร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ด้วยการจับยัดเข้าสภาฯ ก็สามารถยึดอำนาจกองทัพได้สำเร็จครับ