ข่าวที่สร้างความแปลกใจไม่น้อยสำหรับคนที่ติดตามเรื่องราวของรัสเซียกับสงครามยูเครนมากว่า 2 ปี คือการที่ปูตินเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกลาโหมและเลขาธิการสภาความมั่นคงฯ
สะท้อนว่าปูตินไม่พอใจการบริหารสงครามของสองคนนี้ ที่นั่งอยู่ในบทบาทหลักของการบัญชาการรบ หรือปูตินเตรียมจะปรับยุทธศาสตร์สงครามยูเครนครั้งสำคัญ จึงต้องมีการปรับย้ายระดับบนของกองทัพครั้งนี้?
ข่าวจากมอสโกอย่างเป็นทางการเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาบอกว่า ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน เตรียมเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหลังจากเข้าสาบานตนรับตำแหน่งผู้นำประเทศในสมัยที่ 5
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีความหมาย เพราะเป็นการสั่งการให้ย้าย เซอร์เก ชอยกู ซึ่งนั่งอยู่ในตำแหน่งนี้มา 12 ปี ไปนั่งในตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติของรัสเซียแทน โดยที่ข่าวชิ้นเดียวกันแจ้งว่า ปูตินจะวางตัวให้ อันเดร เบลูซอฟ เป็นรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่แทนชอยกู
ใครที่ติดตามข่าวจากรัสเซียจะเห็นว่า ชอยกูมีความสนิทสนมกับปูตินเป็นพิเศษ ไปไหนมาไหนก็จะเห็นทั้งสองคนอยู่ประชิดติดกันตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการประชุมที่เคร่งเครียดหรือในช่วงเวลาชิลๆ ที่ออกไปยิงนกตกปลาด้วยกัน มีภาพและข่าวบ่อยครั้งที่ปูตินกับชอยกูไปพักผ่อนที่เมืองทูวาในไซบีเรีย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของรัฐมนตรีกลาโหมคนนี้
เชื่อกันว่าความสนิทเป็นการส่วนตัวของทั้งสอง เป็นเหตุผลว่าทำไมชอยกูถึงอยู่ในตำแหน่งนี้มายาวนานหลายปี ยิ่งช่วงเปิดสงครามกับยูเครนก็ยิ่งเห็นการปรากฏตัวของชอยกูในข่าวสงครามบ่อยขึ้น จนเหมือนเป็นเงาตามตัวปูติน แต่จู่ๆ ก็มีข่าวว่าจะต้องเปลี่ยนตัวคนกุมบังเหียนกองทัพ จึงเป็นเหตุให้มีการคาดการณ์ไปหลายด้าน
จังหวะเวลาในเรื่องอย่างนี้มีความสำคัญ การโยกย้ายรัฐมนตรีกลาโหมครั้งนี้เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ในตอนที่ปูตินนั่งตำแหน่งสูงสุดของประเทศเป็นสมัยที่ 5 หลังจากนั่งเก้าอี้ตัวนี้มา 24 ปีแล้วเท่านั้น แต่ยังเป็นช่วงเวลาที่สงครามยูเครนย่างเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว
ข่าวแรกมาเมื่อวันอังคารแต่เหมือนไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น คณะรัฐมนตรีของรัสเซียประกาศลาออกทั้งคณะตามกฎหมายของรัสเซีย เพราะมีการเลือกตั้งและประธานาธิบดีคนเดิมเข้าสู่วาระใหม่
การโยกย้ายนายทหารระดับสูงครั้งนี้ของรัสเซียกลายเป็นข่าว เพราะเป็นการโยกย้ายเจ้าหน้าที่กองทัพที่ใกล้ชิดปูตินครั้งใหญ่ครั้งแรกในรอบ 15 ปี แม้ว่าจะเป็นช่วงจังหวะเวลาที่กองทัพรัสเซียกำลังลุยเปิดแนวรบด้านใหม่ในยูเครน
ที่มองข้ามไม่ได้คือ ข่าวที่ปูตินถอดถอนรัฐมนตรีช่วยกลาโหม ทิเมอร์ อีวานอฟ ข้อหาคอร์รัปชันเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งถูกจับตาว่าอาจจะเป็นการส่งสัญญาณของการลดทอนบารมีของชอยกูก่อนจะย้ายเขาออกจากกลาโหม
พอถึงวันอาทิตย์ก็มีข่าวเรื่องการโหมบุกหนักอีกรอบของกองทัพรัสเซียในยูเครน โดยมุ่งเน้นไปที่สมรภูมิด้านตะวันออกเฉียงเหนือ
การรบพุ่งดุเดือดเพราะรัสเซียเปิดศึกถล่มเมืองคาร์คิฟ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของยูเครน ทำให้ประชาชนหลายพันคนต้องอพยพออกจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศนั้น
มาพร้อมกับข่าวว่า ทหารรัสเซียเริ่มการบุกภาคพื้นดินรอบใหม่ในบริเวณนั้น โดยมุ่งเป้าโจมตีเมืองและหมู่บ้านต่างๆ ด้วยปืนใหญ่อย่างดุเดือด สนับสนุนโดยการถล่มโจมตีทางอากาศ การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือด กดดันให้ทหารยูเครนในเขตปกครองคาร์คิฟต้องถอยร่นไป
นั่นแปลว่ายูเครนต้องเสียดินแดนที่อยู่ใน "โซนสีเทา" ซึ่งประชิดติดชายแดนรัสเซียให้รัสเซียเพิ่มขึ้น รัสเซียเปิดยุทธการรอบใหม่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครนเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่การสู้รบหนักหน่วงขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
การปะทะรุนแรงเน้นไปที่เมืองวอฟแชสก์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ที่สุดของภูมิภาคนี้ของยูเครน
เจ้าหน้าที่ยูเครนที่เขตปกครองคาร์คิฟรายงานว่า กองทัพรัสเซียรุกเข้าเมืองนี้จากสามทิศทางพร้อมกันโดยหวังจะเผด็จศึกให้ได้
เสริมด้วยกองกำลังรถถังของรัสเซีย ที่ชาวบ้านบอกว่าเห็นวิ่งไปตามท้องถนนที่ไปสู่เมืองนี้อย่างเร่งร้อน
ข้อความทางการจากผู้ว่าการคาร์คิฟ โอเลห์ ซีนีฮูบอฟ ในสื่อสังคมออนไลน์สั่งให้ชาวบ้านไม่น้อยกว่า 4,000 คนเดินทางออกจากคาร์คิฟตั้งแต่วันศุกร์ เป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นก่อนที่กองทัพรัสเซียจะเข้าโจมตีหมู่บ้านต่าง ๆ 27 แห่งในช่วง 24 ชั่วโมง
ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ยอมรับว่าศึกครั้งนี้หนักหน่วงไม่น้อย แต่ก็ยืนยันว่าอาวุธจากตะวันตกชุดล่าสุดกำลังทยอยมาถึงสนามรบของยูเครน จึงมีความมั่นใจว่ายูเครนจะสามารถยับยั้งการโจมตีของรัสเซียทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้
โดยย้ำว่านี่คือภารกิจหลักที่กองทัพยูเครนจะต้องทำให้สำเร็จให้จงได้ ยุทธวิธีของกองทัพยูเครนคือปฏิบัติการตีโต้กลับใส่พื้นที่รอบเขตปกครองคาร์คิฟเช่นกัน
ในเวลาเดียวกันก็มีรายงานจากเจ้าหน้าที่รัสเซียว่า บางส่วนของอาคารที่พักอาศัยความสูง 10 ชั้นแห่งหนึ่งในเมืองเบลโกรอด ใกล้ชายแดนยูเครนได้ถล่มลงมา มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8 ศพ บาดเจ็บ 20 คน
มอสโกอ้างว่าเป็นเพราะการโจมตีด้วยปืนใหญ่ของยูเครน แต่ฝ่ายยูเครนไม่ให้ความเห็นเรื่องนี้ เหมือนจะเป็นหลักปฏิบัติของยูเครนที่จะไม่ให้ข่าวในทำนองยอมรับหรือปฏิเสธรายงานข่าวใดๆ ที่เกี่ยวกับการโจมตีเป้าหมายในรัสเซียที่มอสโกอ้างว่าเป็นฝีมือของฝ่ายยูเครน
แต่การโยกย้ายครั้งนี้จะมีผลต่อปฏิบัติการในยูเครนมากน้อยเพียงใด ยังเป็นประเด็นที่ต้องประเมินกันทั้งจากแง่มุมของมอสโกและจากฝ่ายตรงกันข้ามคือฝั่งตะวันตก.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว