เมื่อกัมพูชากับเวียดนามขัดแย้งเรื่อง ‘คลองฟูนันเตโช’ ไทยยืนตรงไหน?

ความขัดแย้งระหว่างกัมพูชากับเวียดนามว่าด้วยโครงการสร้างคลอง “ฟูนันเตโช” ในกัมพูชาที่สนับสนุนโดยทุนจีนกำลังทำให้ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงไทยต้องจับตาดูเพื่อไม่ให้ลามเป็นความขัดแย้งของภูมิภาค

ล่าสุด สัปดาห์ที่ผ่านมาสื่อเวียดนามรายงานว่า โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามระบุว่า

“ข้อมูลที่เรามีเกี่ยวกับโครงการคลองฟูนันเตโชไม่เพียงพอประเมินระดับผลกระทบของโครงการ”

ก่อนหน้านั้นเพียง 2 วัน นายสัน จันทร รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา บอกว่า กัมพูชาได้แจ้งเรื่องโครงการนี้ต่อคณะกรรมการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) แล้ว

แต่กัมพูชายืนยันสิทธิ์ที่จะไม่ปรึกษาเรื่องนี้กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

ยังสำทับว่า ถ้าเอ็มอาร์ซีร้องขอ กัมพูชาจะให้ข้อมูลเพิ่มเติม 

แต่ยืนยันว่าไม่มีข้อผูกมัดทางกฎหมายให้ทำเช่นนั้น

ท่าทีที่แข็งกร้าวของกัมพูชาเรื่องนี้ทำให้หวั่นเกรงกันว่าอาจจะเป็นต้นเหตุของความร้าวฉานระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด (รวมถึงไทย) ที่มีมายาวนานกว่า 30 ปี

ปลายเดือนก่อน อดีตนายกฯ ฮุน เซน ของกัมพูชา ยืนยันว่าจะไม่มีการเจรจากับเวียดนามในเรื่องนี้               

เวียดนามโต้ด้วยการบอกว่า ข้อมูลจากกัมพูชายังไม่เพียงพอที่จะประเมินได้ว่าการขุดคลองนี้จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำโขงอย่างไร

โครงการคลองฟูนันเตโช เชื่อมท่าเรือแม่น้ำในกรุงพนมเปญกับอ่าวไทยไปทางตะวันตกเฉียงใต้ของกัมพูชา

กัมพูชาแจ้งว่าคลองนี้จะเริ่มใช้งานได้ต้นปี 2571 โดยจะลงทุนประมาณ ต้นทุนราว 1.7 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณกว่า 60,000 ล้านบาท

ที่น่าสนใจคือ โครงการนี้โยงกับจีนด้วย เพราะจะขุดโดยบริษัทจีนภายใต้รูปแบบ Build-Operate-Transfer (BOT)

หากเป็นไปตามข้อตกลงแม่น้ำโขงที่ลงนามกันในปี 2538 โครงการใดที่มีผลต่อการไหลของแม่น้ำโขงต้อง “ได้รับการประเมินทางเทคนิค” จากเอ็มอาร์ซี

อีกทั้งต้องมีการรับฟังข้อมูลจากประเทศสมาชิก ซึ่งหมายรวมถึงไทย เวียดนามและลาว

กัมพูชาอ้างว่าโครงการนี้ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมเล็กน้อยเท่านั้น

แต่เวียดนามส่งเสียงดังกว่าใครก่อน บอกว่าข้อมูลที่กัมพูชาเปิดเผยยังน้อยเกินไปที่จะประเมินได้ว่าเป็นไปตามข้อกล่าวอ้างหรือไม่

สินค้าเข้า-ออกกัมพูชาประมาณ 33% ส่งผ่านแม่น้ำโขงไปยังท่าเรือเวียดนามเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก

โดยโครงการคลองฟูนันเตโชตั้งเป้าว่าจะลดปริมาณสินค้าที่ใช้เส้นทางนี้ลงเหลือ 10%

คลองนี้จะเชื่อมท่าเรืออิสระพนมเปญผ่านจังหวัดกันดาล ตาแก้ว กัมปอต ไปเชื่อมกับท่าเรือน้ำลึกสีหนุวิลล์

โดยทางน้ำกว้าง 100 เมตร ลึก 5.4 เมตร สามารถรองรับเรือบรรทุกสินค้ามีน้ำหนักมากถึง 3,000 DWT

โครงการยังประกอบด้วยการสร้างระบบประตูน้ำ 3 บาน สะพาน 11 แห่ง และทางเดิน 208 กม.

บทบาทของจีนมีความสำคัญต่อกัมพูชาในหลายด้าน

โครงการคลองฟูนันเตโชนี้ได้รับทุนสนับสนุนทั้งหมดจาก China Bridge and Road Cooperation (CBRC)

หากสร้างคลองนี้เสร็จ กัมพูชาจะลดการพึ่งพาเวียดนามลงไปอย่างมาก

นักอนุรักษ์และทางการเวียดนามส่งเสียงเตือนถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่เปราะบางอยู่แล้ว ซึ่งเป็นภูมิภาคผลิตข้าวขนาดใหญ่ที่รองรับผู้คนหลายล้านคนที่อยู่ท้ายน้ำในเวียดนาม

คณะกรรมการแม่น้ำโขงบอกว่า กัมพูชาไม่ได้เปิดเผยการศึกษาความเป็นไปได้ของคลอง แม้จะมีการร้องขอหลายครั้ง และมีจดหมายอย่างเป็นทางการ 2 ฉบับ ที่ส่งไปในเดือนสิงหาคมและตุลาคมปีที่ผ่านมา

เวียดนามกังวลว่าโครงการนี้อาจทำให้ต้องมีการอพยพประชากรกับสูญเสียพื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่ชุ่มน้ำที่ลดลง

มีเสียงเรียกร้องให้กัมพูชาปรึกษาหารือกับภาคีอื่นๆ ภายใต้กฎของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง

เพราะแม่น้ำบาสซัคจะถูกเปลี่ยนเส้นทาง เป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ไม่ใช่แม่น้ำสาขา

แต่กัมพูชาอ้างว่าโครงการนี้เกี่ยวกับสาขาของแม่น้ำโขงเท่านั้น รวมถึงแม่น้ำบาสซัคด้วย

จึงไม่จำเป็นต้องมีการปรึกษาหารือกับพันธมิตร

บริษัทจีนที่รับออกค่าใช้จ่ายในการทำโครงการนี้ทั้งหมด CRBC เป็นบริษัทก่อสร้างรายใหญ่ของรัฐบาลจีน จะพัฒนาคลองและครอบคลุมต้นทุนทั้งหมดภายใต้ข้อตกลงกับรัฐบาลกัมพูชา

โดยแลกกับสัมปทานระยะยาว 30-50 ปี และปฏิเสธการคาดเดาว่าจีนอาจใช้คลองนี้เพื่อจุดประสงค์ทางทหาร

เพราะรัฐธรรมนูญกัมพูชาไม่อนุญาตให้มีทหารต่างชาติมาประจำการในประเทศ

จุดยืนของรัฐบาลไทยในเรื่องนี้ไม่ชัดเจน แม้ว่าในฐานะเป็นสมาชิกคณะกรรมการลุ่มแม่น้ำโขง โครงการนี้จะมีผลต่อประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม

และหากกัมพูชากับเวียดนามมีเรื่องระหองระแหงในกรณีนี้ก็จะทำให้ความร่วมมือในภูมิภาคนี้อ่อนแอลง

อะไรที่กระทบต่อแม่น้ำโขงย่อมจะต้องกระทบประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อีกทั้งยังมีประเด็นที่โยงการการแข่งขันภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจอีกด้วย

จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลไทยจะต้องวางยุทธศาสตร์ให้เหมาะเจาะ

และแจ้งกับประชาชนคนไทยและประชาคมในภูมิภาคนี้ได้รับทราบให้เป็นที่แจ่มแจ้งอีกด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว