แนะSME“ปรับเปลี่ยน”เพื่อ“ไปต่อ”

สถานการณ์ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก โดย แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ระบุว่า ภาพรวมของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขณะนี้ยังน่ากังวล เพราะยังคงไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ดังนั้นช่วงครึ่งแรกของปีนี้ยังเชื่อว่าเอสเอ็มอีในภาพรวมยังไม่ฟื้ันตัว ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนที่สูงทำให้กำลังซื้อต่ำ ส่วนสถานการณ์โลก อาทิ ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งจากความตึงเครียดในทะเลแดง การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส รวมถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องสงครามการค้าโลกที่ยังเป็นปัจจัยลบ และยังต้องจับตาดูเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่เชื่อว่าจะมีผลต่อนโยบายต่างๆ กับทั่วโลก

ขณะเดียวกัน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ tta analytics ได้ออกบทวิเคราะห์ โดยระบุว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ที่แม้รายได้เอสเอ็มอีจะมีสัดส่วนเพียง 18.26% จากรายได้ภาคธุรกิจทั้งหมด แต่ในมิติของจำนวนผู้ประกอบการ พบว่า ผู้ประกอบการกว่า 99.53% หรือ 3.19 ล้านราย เป็นธุรกิจเอสเอ็มอี รวมถึงเป็นแหล่งการจ้างงานมากกว่า 70% จากจำนวนการจ้างงานภาคธุรกิจทั้งหมด 18.07 ล้านคน

นอกจากนี้ สถานประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่กระจายตัวไปตามพื้นที่ภูมิภาค ส่งผลให้ธุรกิจเอสเอ็มอีนอกจากเป็นแหล่งรายได้ให้กับคนส่วนใหญ่ ยังเป็นข้อต่อกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากศูนย์กลางสู่พื้นที่ภูมิภาค

แต่อย่างไรก็ดี มีข้อมูลสถิติได้บ่งชี้ถึงความเปราะบางในการประกอบธุรกิจของเอสเอ็มอี โดยอัตราการอยู่รอดจากการประกอบธุรกิจในช่วง 3 ปีแรกเฉลี่ยอยู่เพียง 20% ซึ่งเป็นเรื่องที่เอสเอ็มอีควรต้องเร่งรับรู้และเตรียมปรับตัวรับมือกับปัญหาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการดำเนินธุรกิจในระยะยาวต่อไป

สำหรับ 3 ประเด็นที่สะท้อนความเปราะบางของเอสเอ็มอีได้แก่ 1.รายได้โตต่ำและขาดกำไรสะสม 2.ต้นทุนต่อหน่วยสูง และ 3.อำนาจต่อรองต่ำ โดยจากความเปราะบางทั้ง 3 ประเด็นของเอสเอ็มอีขนาดเล็ก เมื่อรวมกับปัญหาที่ถาโถม ทั้งภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตช้าลง ภาระหนี้ครัวเรือนสูง และต้นทุนของธุรกิจในระดับสูงต่อเนื่อง กดดันให้เอสเอ็มอีมีโอกาสที่อัตราการอยู่รอดต่ำลงกว่าเดิม แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการช่วยเหลือผ่านการลดดอกเบี้ย แต่ก็เป็นเพียงเพื่อช่วยบรรเทาภาระทางการเงินบางส่วน ไม่สามารถลดความเปราะบางที่มีอยู่ของธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นข้อเสียเปรียบเชิงโครงสร้างที่ต้องอาศัยการบริหารจัดการ และกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดให้มีประสิทธิภาพที่เหมาะสมกับเอกลักษณ์เฉพาะตัวของธุรกิจแต่ละราย

ทั้งนี้ ttb analytics มองว่า เอสเอ็มอีไทยต้องปรับตัวภายใต้ความเปราะบาง โดยเอสเอ็มอีรายเล็กต้อง “ปรับเปลี่ยน” เพื่อ “ไปต่อ” อีกระดับ ด้วยการขยายธุรกิจให้ข้ามผ่านระดับรายได้ 30 ล้านบาทต่อปี เพื่อเพิ่มโอกาสให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน

โดยจาก Data Driven พื้นที่ตลาดของกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี แบ่งออกเป็น 4 ส่วน พบว่าเอสเอ็มอีไทยต้องเร่งหาจุดยืน ดังนี้ 1.เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ต้องเร่งหาพื้นที่ตลาดที่เหมาะสม เพราะกลยุทธ์และกลุ่มลูกค้าที่ไม่ชัดเจน 2.เอสเอ็มอีที่มีกลยุทธ์ชัดเจนเน้นตลาดเฉพาะที่มีพื้นที่กำไรสูง 3.เอสเอ็มอีที่มีกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการทำการตลาดขนาดใหญ่ และ 4.กลุ่มเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้และสร้างพื้นที่ทำกำไร โดยมีการเตรียมความพร้อมเพื่อยกระดับพัฒนาตัวเอง สร้างพื้นที่ธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นในตลาดเอสเอ็มอี หรือตลาดรายใหญ่ที่น่าจะเป็นโจทย์ทางธุรกิจที่ยากขึ้นกว่าเดิม

อย่างไรก็ดี ttb analytics สรุปว่า ปีนี้เป็นปีที่มีความท้าทายสำหรับเอสเอ็มอีเพื่อเตรียมรับมือ พร้อมก้าวออกจาก Comfort Zone และหาพื้นที่เหมาะสม (Find Right Place) ต้อง “ปรับเปลี่ยน” เพื่อ “ไปต่อ” อีกระดับ ด้วยการขยายธุรกิจให้ข้ามผ่านระดับรายได้ 30 ล้านบาทต่อปี เพิ่มโอกาสอยู่รอดอย่างยั่งยืน จากการลดปัญหาเชิงโครงสร้างหลัก 3 ประการ กำไรต่ำ ต้นทุนต่อหน่วยสูง อำนาจต่อรองต่ำ ผ่านกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับเอกลักษณ์ของธุรกิจแต่ละราย เช่น ขยับเข้าหาตลาดเฉพาะที่มีกำไรสูง (Go Niche) หรือเร่งสร้างรายได้ในตลาดใหญ่ (Go Mass) และเมื่อเอสเอ็มอีมีความเข้มแข็งขึ้น กลุ่มที่เน้นกำไรก็จะเริ่มมีฐานลูกค้าจนเพิ่มรายได้ และกลุ่มเพิ่มรายได้อาจทำ Segment Marketing เพื่อเพิ่มกำไร จนส่งผลให้ในระยะถัดไป SMEs เหล่านี้เข้มแข็งก้าวผ่านความเปราะบาง 3 ประการดังกล่าวข้างต้นได้ ก็จะเป็นช่วงเวลาที่เอสเอ็มอีก้าวไปข้างหน้า (Go Forward) สำหรับพื้นที่ตลาดที่ใหญ่และท้าทายเพิ่มมากขึ้น.

 

ครองขวัญ รอดหมวน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บิ๊กอีเวนต์กระตุ้นท่องเที่ยว

ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ

ต้องเคร่งครัดและแก้ไขจริงจัง

สืบเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา รถไฟฟ้า “สายสีเหลือง-สายสีชมพู” ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้าโมโนเรล 2 สายแรกของประเทศไทย ได้เกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการและสาธารณชน

จับตา “AI” เปลี่ยนตลาดแรงงานทั่วโลก

ปัจจุบันต้องยอมรับว่า AI เข้ามามีบทบาท และมีประโยชน์ในภาคธุรกิจหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการตลาดที่ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจพฤติกรรมลูกค้ามากขึ้น หรือแม้กระทั่งการใช้ AI เพื่อวิเคราะห์ธุรกิจในหลากหลายมิติ ถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของภาคธุรกิจในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

บี้เร่งสปีดแหลมฉบังเฟส 3

เมื่อพูดถึงโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นโครงการเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

จับตา“ทุเรียนไทย”ราคาสูง แต่ผลผลิตแผ่ว

ถ้าพูดถึง “ทุเรียน” ประเทศไทยถือเป็นเบอร์ต้นๆ ของราชาผลไม้ชนิดนี้ ไม่ว่าจะขายในประเทศหรือส่งออก เรียกได้ว่าสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลเองก็ได้เร่งสนับสนุนเรื่องการส่งออกทุเรียน

เตรียมแผนท่องเที่ยวรับโลว์ซีซั่น

จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-9 มิ.ย.2567 ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา 15,543,344 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วประมาณ 736,096 ล้านบาท