รัฐมนตรี...ที่ไม่ใช่รัฐมนตรง

ในอดีตก่อนกาลนานมาแล้ว รัฐมนตรีของไทยเรา จะเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ที่ “ตรง” กับบทบาทและหน้าที่ สามารถกำกับนโยบายและบริหารงานกระทรวงที่ได้รับมอบหมายเป็นอย่างดี ประชาชนสามารถยกย่องท่านเหล่านั้น ยกมือไหว้ท่านเหล่านั้นได้ด้วยความสนิทใจ และเมื่อติดตามผลการทำงานของท่านเหล่านั้นก็จะมีเรื่องราวดีๆ เชิงประจักษ์ให้เราชื่นชมได้ แต่ประมาณ 30-40 ปีที่ผ่านมา การแต่งตั้งรัฐมนตรีก็เปลี่ยนไป เรื่องความรู้ความสามารถของผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจึงไม่ได้มีความสำคัญเท่ากับมาตรการอื่นๆ ที่ผู้มีอำนาจของพรรคเป็นผู้กำหนด ทำให้เราได้รัฐมนตรีที่ไม่ใช่รัฐมน “ตรง” คือเป็นคนที่ไม่ได้มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ใดๆ ที่จะทำให้เราเชื่อได้ว่าเขาคนนั้นจะสามารถกำกับดูและและบริหารกิจการของกระทรวงที่ได้รับมอบหมาย

อันที่จริงแล้ว ประเทศไทยของเราไม่ใช่ว่าจะไร้คนเก่งคนดีที่มีความสามารถจะเป็นรัฐมนตรีกำกับกระทรวงต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย แต่บุคคลเหล่านั้น ไม่ได้รับเลือกก็เพราะไม่ต้องตาต้องใจผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ หรือมีคุณสมบัติไม่ตรงตามมาตรการในการคัดเลือกของผู้มีอำนาจ ตามกฎหมายแล้ว การแต่งตั้งรัฐมนตรีเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี แต่ในช่วง 20 ปีนี้น่าจะไม่ใช่ ยิ่งรัฐบาลล่าสุดในตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีชุดแรก หรือรัฐมนตรีชุดที่สองที่เพิ่งมีการปรับคณะรัฐมนตรีไป ผู้คนต่างก็เชื่อว่านายกรัฐมนตรีไม่น่าจะเป็นผู้มีอำนาจในการคัดสรรผู้ที่จะได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จะเอาใครเข้า จะเอาใครออก จะให้ใครดำรงตำแหน่งใด น่าจะเป็นอำนาจของเจ้าของคอกหรือเจ้าของพรรคตัวจริง แม้จะไม่มีตำแหน่งใดๆ ในพรรคแต่ก็มีอำนาจเหนือทุกคนที่มีตำแหน่งในพรรค พิจารณาจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนมีการปรับคณะรัฐมนตรี และรายชื่อของรัฐมนตรีที่ถูกปรับออก การสลับตำแหน่ง และรัฐมนตรีป้ายแดงที่เข้ามา ประชาชนก็มองออกว่าน่าจะเป็นไปตามความต้องการของผู้มีอำนาจคนนั้น

อันที่จริงแล้ว ผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งนั้น เป็นการสมัครลงรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่นิติบัญญัติ คือออกกฎหมาย และตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล แต่มีคนจำนวนมากที่หวังว่าจะได้เข้าไปเป็นรัฐมนตรี จะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงไหนก็ได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงความรู้ความสามารถ ขอให้ได้เป็นรัฐมนตรีก็พอ แต่ก็มีบางคนที่อาจจะต้องการเป็นรัฐมนตรีที่มีงบประมาณเยอะ มีอำนาจมาก การที่คนบางคนเจาะจงกระทรวงแบบนี้ ก็รู้ๆ กันอยู่ว่าทำไมพวกเขาบางคนเหล่านั้นจึงเจาะจงกระทรวงบางกระทรวงโดยเฉพาะ

ในระยะหลังที่พรรคการเมืองมีนายทุนผู้ร่ำรวยเป็นเจ้าของพรรค การคัดสรรรัฐมนตรีก็แปรเปลี่ยนไป ความรู้ความสามารถและประสบการณ์เป็นมาตรการรองๆ แต่มาตรการที่สำคัญมีในการทำให้คนบางคนได้เป็นรัฐมนตรีที่ไม่ใช่ “รัฐมนตรง” เป็นเรื่องที่ทำให้เราไม่อาจจะได้รัฐมนตรีที่มีความรู้ ความสามารถ และบางครั้งคนที่ได้ก็ไม่ใช่คนดีอีกด้วย มาตรการที่ว่ามีดังต่อไปนี้

1.คนที่เป็นตู้ ATM ของพรรค รับผิดชอบงบประมาณในการหาเสียงบางพื้นที่ ดูแล สส.ในสังกัดจำนวนหนึ่ง จึงมีคำว่า “มุ้ง” ขึ้นมาภายในพรรค

2.คนสนิทของผู้มีอำนาจในการคัดสรร เป็นการให้ตำแหน่งเพื่อเอาไว้ใช้งานตามประสงค์ เป็นคนที่ผู้มีอำนาจตัวจริงต้องการตอบแทน หรือต้องการเอาไว้เป็นมือเป็นไม้ในการทำงาน

3.ผู้ที่มีอาวุโสในทางการเมือง หมายความว่าเป็น สส.มาแล้วหลายสมัยที่ผู้มีอำนาจมองเห็นว่าเป็น สส.ของพรรคมาหลายปีแล้ว ชนะเลือกตั้งมาหลายสมัยแล้ว

4.ตัวตึงในการช่วยสร้างคะแนนให้กับพรรค ไม่ว่าจะเป็นการหาเสียงหรือการอภิปรายในสภา

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงได้เห็นคนดี คนเก่ง คนมีประสบการณ์ได้เป็นรัฐมนตรีน้อยกว่าคนบางคนที่ไม่เก่ง ไม่ดี มีภาพลักษณ์เป็นคนสีเทาที่ไม่ได้ใสสะอาด บางคนเป็นแล้วเป็นอีกเป็นอีกในทุกรัฐบาล ไม่ว่าตัวเขาจะสังกัดพรรคไหน หรือจะมีพรรคอะไรเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล จนทำให้คนสงสัยว่า เขามีดีอะไร ทำไมจึงได้เป็นรัฐมนตรีในทุกรัฐบาล ในบางสมัยก็เจาะจงที่จะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ ถ้าหากไม่ได้ตามที่ขอก็แสดงความไม่พอใจ และหลายครั้งผู้ที่มีอำนาจในการคัดสรรรัฐมนตรีก็เกรงใจ จึงให้ตำแหน่งไปตามที่ขอ ทั้งๆ ที่ในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในแต่ละสมัยนั้นก็ไม่ได้สร้างผลงานอะไรที่เลอเลิศให้ประชาชนได้ชื่นชม มิหนำซ้ำในบางครั้งกลับทำเรื่องที่ไม่ดี ส่งผลเสียหายกับประเทศชาติ เรียกว่าเป็นรัฐมนตรีที่ “ความชั่วนั้นมี แต่ความดีไม่ปรากฏ” เป็นที่สงสัยของประชาชนว่าประเทศไทยขาดรัฐมนตรีคนดังกล่าวไม่ได้เชียวหรือ

อันที่จริงแล้ว กฎหมายก็ไม่ได้ห้ามให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคนที่ไม่ได้เป็น สส.เป็นรัฐมนตรี ดังนั้นถ้าหากรัฐมนตรีเห็นแก่ประโยชน์ของบ้านเมือง ไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนในการจะเลือกให้ใครเป็นรัฐมนตรี หรือไม่ได้เห็นแก่ผลประโยชน์ของพวกพ้อง ก็สามารถเชิญคนเก่ง คนดี คนมีประสบการณ์ให้มาเป็นรัฐมนตรีบริหารบ้านเมืองตามความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เห็นแก่ประเทศชาติและประชาชน

ในหลายประเทศ เราจะเห็นรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ตรงกับบทบาทภาระหน้าที่ในการรับผิดชอบ เช่น ได้ทูตหรืออดีตทูตมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ผู้พิพากษา หรืออัยการ มาเป็นรัฐมนตรียุติธรรม ได้หมอมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ได้ทหารมาเป็นรัฐมนตรีกลาโหม ได้นักเศรษฐศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นนักปฏิบัติด้านการเงินเอกชน หรือเป็นอาจารย์เศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง มีผลงานที่โดดเด่นมาเป็นรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และในหลายประเทศ นอกจากจะเลือก “รัฐมนตรี” ที่เป็น “รัฐมนตรง” แล้ว เขายังให้คนที่ผู้มีอำนาจเลือกมาได้แสดงวิสัยทัศน์ว่าจะบริหารกระทรวงที่ตนเองกำกับอย่างไร ออกอากาศให้สาธารณชนได้รับรู้ รับฟัง ประชาชนก็ได้ร่วมในการตัดสินใจ ด้วยการแสดงออกว่าตอบรับคนที่ได้รับเลือกหรือไม่

ประเทศไทยเรา การดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรี” ที่เป็น “รัฐมนตรง” มีน้อยมาก เพราะการเป็นรัฐบาลผสม จะมีการกำหนดโควตากระทรวงที่แต่ละพรรคจะได้ เมื่อได้กระทรวงมาตามโควตาแล้ว ก็จะมาจัดสรรกันภายในพรรคตามมาตรการที่กล่าวข้างต้น ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ไม่เกี่ยว เพราะถ้าจะเอามาเกี่ยว ก็ไม่สามารถจะจัดสรรตำแหน่งได้ตามโควตาที่ได้มา เราจึงได้รัฐมนตรีหลายคนที่ไม่มีความรู้ ไม่มีความสามารถที่จะกำกับดูและและบริหารงานกระทรวงที่ได้รับมอบหมาย เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องอาศัยข้าราชการประจำเป็นผู้ช่วยในการทำงาน เจอคนดีก็โชคดีไป เจอคนที่ประจบสอพลอ ประเทศชาติก็จะตกอยู่ในอันตราย เพราะข้าราชการที่ทำงานเอาใจรัฐมนตรีเพื่อตำแหน่ง เพื่ออำนาจ เพื่อผลประโยชน์ ก็จะยอมทำทุกอย่างตาม “บัญชา” ของนักการเมือง แล้วถ้าหากนักการเมืองฉ้อฉล และมีข้าราชการสอพลอ ร่วมมือกับนักการเมืองฉ้อฉล ผลร้ายก็จะเกิดกับประเทศชาติ

ประเทศไทยเราสูญเสียโอกาสในการพัฒนาเพราะธรรมเนียมปฏิบัติในการคัดสรรรัฐมนตรีที่เป็นมากว่า 30 ปีเช่นนี้ เราจึงมีการพัฒนาล้าหลังกว่าหลายๆ ประเทศที่เคยตามหลังประเทศไทยเรามาในอดีต แต่บัดนี้หลายประเทศมีการพัฒนาล้ำหน้าเราไปแล้ว เราจะเอากันแบบนี้อีกนานไหมคะ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มาเป็นชุด! 'ดร.เสรี' ฟาดคนโอหัง ความรู้ไม่มี ทักษะไม่มี ไร้ภาวะผู้นำ น่าสมเพชอย่างแท้จริง

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า เตือนก็แล้ว ตำหนิก็แล้ว ต่อว่าก็แล้ว เยาะเย้ยก็แล้ว ล้อเลียนก็แ

ข้าอยากได้อะไร...ข้าต้องได้

เราคนไทยมักจะอ้างว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐ มีการบริหารกิจการต่างๆ ภายในประเทศตามหลักการของนิติธรรม แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเวลานี้ หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐจริงหรือ

เมื่อ 'ธรรมชาติ' กำลังแก้แค้น-เอาคืน!!!

เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาของบ้านเรา...ท่านเคยคาดๆ ไว้ว่า ฤดูหนาว ปีนี้น่าจะมาถึงประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม

จ่ายเงินซื้อเก้าอี้!

ไม่รู้ว่าหมายถึง "กรมปทุมวัน" ยุคใด สมัยใคร จ่ายเงินซื้อเก้าอี้ ซื้อตำแหน่ง ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ตามที่ "ทักษิณ ชินวัตร" สทร.แห่งพรรคเพื่อไทย ประกาศเสียงดังฟังชัดในระหว่างขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก

ดร.เสรี ยกวาทะจัญไรแห่งปี 'เขาเว้นเกาะกูดให้เรา'

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า ประโยควาทะอัปรีย์จัญไรแห่งปี "เขาเว้นเกาะกูดให้เรา" แสดงว่าเขาเมตตาเราสินะ เราต้องขอบคุณเขา สำนึกบุญคุณเขาใช่ไหม