หากการเมืองแทรกแซง ธนาคารกลางได้…

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เริ่มเคลื่อนไหวในสัปดาห์นี้เพื่อแสดงจุดยืนว่า “ความเป็นอิสระ” ของธนาคารกลางเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ของชาติ

ไม่อาจจะให้นักการเมืองที่มักจะมีผลประโยชน์ระยะสั้นมาแทรกแซงเพื่อกำหนดนโยบายอัตราดอกเบี้ยหรืออัตราแลกเปลี่ยนอันอาจจะสร้างความเสียหายระยะกลางและระยะยาวอย่างที่ปรากฏมาแล้วในหลายประเทศ

หากอ่านคำแถลงของคณะนักเศรษฐศาสตร์นี้แล้วจะเข้าใจได้ง่าย ๆ ว่าคนไทยควรจะต้องรู้เท่าทันเรื่องนี้อย่างไร

รศ. ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นายกสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทยและนักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ(TDRI) และ นายวิศาล บุปผเวส เลขาธิการสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้ส่งหนังสือเชิญร่วมลงนาม และแถลงการณ์เรื่องความขัดแย้งระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กับ ฝ่ายการเมือง ไปยังนักเศรษฐศาสตร์ของประเทศ

เพื่อให้พิจารณาร่วมลงนามเพื่อออกแถลงการณ์ในกรณีความขัดแย้งระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายการเมือง

แถลงการณ์มีหัวข้อ “เรื่องความขัดแย้งระหว่างธปท. กับ ฝ่ายการเมือง”

โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจว่า

ในห้วงเวลาที่ผ่านมา มีการตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะจากฝ่ายการเมือง ว่าเป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศหรือไม่ จนนำไปสู่วิวาทะระหว่างฝ่ายที่ต้องการปกป้องความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย กับฝ่ายที่สนับสนุนความเห็นของภาคการเมือง

เนื่องจากวิวาทะเรื่องนี้มีความสำคัญยิ่งต่อการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งเป็นเสาหลักหนึ่งของนโยบายเศรษฐกิจมหภาคควบคู่กับนโยบายการคลังในทุกประเทศทั่วโลก

ในขณะเดียวกันสังคมยังมีความเข้าใจค่อนข้างน้อยในเรื่องความจำเป็นที่ธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระเพื่อให้สามารถดำเนินนโยบายการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน คณะผู้แถลงการณ์จึงขอแสดงความเห็น ดังนี้

ความเป็นอิสระของธนาคารกลางมีความจำเป็นด้วยเหตุผลอย่างน้อยสองเหตุผล

ประการแรก ธนาคารกลางควรมีความเป็นอิสระจากอิทธิพลทางการเมืองในระดับหนึ่ง เพื่อป้องกันมิให้การดำเนินนโยบายการเงินเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการทางการเมืองระยะสั้น ที่อาจส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาวได้ ไม่ว่าจะเป็นเสถียรภาพด้านราคา เสถียรภาพของระบบการเงิน และเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน

หากอำนาจในการกำหนดปริมาณเงิน หรืออัตราดอกเบี้ยอยู่ในมือของรัฐบาลผู้ใช้เงิน ก็จะเกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะรัฐบาลมีแรงจูงใจที่จะให้ต้นทุนการใช้เงินหรืออัตราดอกเบี้ยต่ำลง

ประการที่สอง การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (inflation targeting) จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อสาธารณชน ตลาดการเงิน ตลาดทุน ตลาดเงินตราระหว่างประเทศ มีความเชื่อใจธนาคารกลางว่าจะแน่วแน่ในการรักษาเสถียรภาพสามประการที่กล่าวถึงก่อนหน้า จนทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อ (inflation expectation) อยู่ในกรอบเป้าหมายจริง ซึ่งจะส่งผลให้พฤติกรรมการใช้จ่าย การลงทุน ปริมาณและการหมุนเวียนของเงิน การสร้างสินทรัพย์ทางการเงิน เป็นไปในทิศทางที่เอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพจริง ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว หากความเชื่อมั่นดังกล่าวถูกทำลายไป หน่วยเศรษฐกิจก็จะมีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไป จนอาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ฟองสบู่ อันจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงในที่สุด ดังตัวอย่างประเทศตุรกีในปัจจุบัน

ความสำคัญของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้รับการรับรองจากงานวิชาการจำนวนมากรวมทั้งประสบการณ์ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตลอดระยะเวลาหลายสิบปีหรือมากกว่านั้น ที่แสดงให้เห็นว่าการมีเสถียรภาพของราคา ของระบบการเงิน และของระบบสถาบันการเงินส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ผ่านหลากหลายช่องทาง เช่นการที่ราคามีเสถียรภาพทำให้หน่วยเศรษฐกิจ (ประชาชน ธุรกิจ ภาคการเงิน และอื่น ๆ) สามารถวางแผนการจับจ่าย วางแผนธุรกิจ และแผนการเงิน ได้อย่างเหมาะสม ไม่ต้องกังวลกับความผันผวนของราคา ทำให้การใช้จ่าย การลงทุน การออม เป็นไปตามแผนระยะยาวได้ดีกว่า ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัว

และที่สำคัญคือการป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจ เช่นฟองสบู่และการหดตัวรุนแรงที่กล่าวถึงข้างต้น

ความสำคัญชองความเป็นอิสระของธนาคารกลางอันนำไปสู่ความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ นำไปสู่ ‘หลักปฏิบัติ’ ที่ได้รับการยอมรับกันทั่วโลกหลายประการ

เช่น ฝายการเมืองไม่ควรแสดงท่าทีกดดันหรือข่มขู่ธนาคารกลางในที่สาธารณะอย่างโจ่งแจ้ง แต่สามารถแสดงความคิดเห็นที่ต่างออกไปอย่างสุภาพ มีการพูดคุยที่อิงบนหลักการ หลักฐานเชิงประจักษ์และข้อมูลสนับสนุนอย่างรอบด้าน ไม่ใช่นำเสนอข้อมูลด้านเดียว เป็นต้น

ส่วนธนาคารกลางเองก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อภารกิจของตนให้เป็นไปตามกรอบนโยบายเงินเฟ้อที่ตกลงกับรัฐบาลและรัฐสภา

เหตุผลสำคัญสำคัญคือ ธนาคารกลางต้องมีความรับผิดชอบต่อสาธารณชน เช่นการออกจดหมายเปิดผนึกอธิบายเหตุผลกรณีที่เงินเฟ้อไม่อยู่ในกรอบเป้าหมาย เป็นต้น

นโยบายการคลังเองก็ต้องรักษาเสถียรภาพด้วยเช่นกัน ผ่านการมีวินัยการคลังที่เหมาะสม

เพื่อป้องกันมิให้หนี้สาธารณะ (ทั้งทางการและหนี้ที่เกิดจากนโยบายกึ่งการคลัง) และรายจ่ายในการบริหารหนี้สูงเกินไป ต้องมีนโยบายด้านภาษีที่เหมาะสมกับการพัฒนาประเทศ มีการใช้จ่ายด้านการคลังที่มีประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสประเทศในการก้าวทันพัฒนาการสำคัญ ๆ เช่นพัฒนาการด้านเทคโนโลยี การรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นต้น

คณะผู้แถลงการขอเรียกร้องให้ผู้รับผิดชอบนโยบายการเงินและนโยบายการคลังร่วมมือกันในการรักษาเสถียรภาพในด้านที่ตัวเองรับผิดชอบ และทำการประสานเชิงนโยบายอย่างเหมาะสม ผ่านการพูดคุยถกเถียงที่ตั้งอยู่บนฐานวิชาการ และมีข้อมูลสนับสนุน พร้อมกับการรักษาระดับความอิสระของธนาคารกลางอย่างที่ควรเป็น

ประเทศไทยโชคดีที่มีสถาบันและกระบวนการให้หน่วยงานด้านการเงินการคลังร่วมกันจัดทำกรอบงบประมาณประจำปีตามหลักวินัยการเงินการคลังอยู่แล้ว รัฐบาลจึงควรใช้กระบวนการนี้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด

อ่านแถลงการณ์นี้แล้วพอจะเห็นภาพว่านักวิชาการเพียงต้องการให้รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการเคารพในกฎกติกาสากลว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับธนาคารกลาง

เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของประเทศ และเพื่อให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะมีกลไกของการ “ถ่วงดุลอำนาจ” อันเหมาะควรระหว่างอำนาจการเมืองกับมืออาชีพด้านนโยบายการเงิน

ไม่ใช่เรื่อง “แตะต้องแบ็งก์ชาติไม่ได้” อย่างที่คนบางคนในรัฐบาลนี้สร้างวาทกรรมบิดเบือนแต่อย่างใดทั้งสิ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว