เบื้องหลัง‘ทักษิณ’ดิ้นหา บทบาทแก้วิกฤตพม่าซ้อนรัฐบาล

นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน บอกว่าไม่รู้ว่า “ทักษิณ ชินวัตร” ไปแอบคุยกับตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา

แล้วก็เฉไฉไปบอกว่า “ทุกคนต่างก็หวังดีต่อประเทศ”

รัฐมนตรีต่างประเทศ มาริษ เสงี่ยมพงษ์ ก็บอกว่าไม่รู้เรื่องนี้เหมือนกัน

 “เป็นสิทธิส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล”

ฟังคำอธิบายจากระดับนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศอย่างนี้แล้วก็สรุปได้ว่า “ทักษิณอยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาล”

อย่างนี้บ้านเมืองเละครับ

เพราะการอ้างว่า “ทักษิณ” มีสิทธิ์ไปเจอใคร แล้วไปขอให้เขาลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ตนไปเป็น “mediator” หรือผู้ไกล่เกลี่ยในสงครามของบ้านเขานั้นย่อมเป็นเรื่องที่สร้างความตื่นตะลึงทั้งในบ้านและนอกบ้าน

เพราะรัฐบาลเศรษฐาก็ได้ประกาศนโยบายว่ากระทรวงต่างประเทศไทยจะเป็นผู้เล่นบทไกล่เกลี่ยร่วมกับประเทศอื่นๆ เช่น จีน, อินเดีย, สปป.ลาว และบังกลาเทศที่มีชายแดนติดกับพม่าแล้ว

อยู่ดีๆ ทักษิณจะลอยมาขอเป็นพระเอกเสียเองอย่างนี้ รัฐบาลไทยจะไปอธิบายกับคนไทยและประชาคมโลกอย่างไร

เพื่อนเราในอาเซียนเขาก็งุนงงกับการเล่นบทผู้ยิ่งใหญ่ของทักษิณไม่น้อยเช่นกัน

หนึ่งในรายงาน “ภารกิจราชการลับ” ของทักษิณมาจาก “สำนักข่าวชายขอบ” อย่างนี้

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2567 แหล่งข่าวด้านความมั่นคงชายแดนไทยเปิดเผยว่า นายทักษิณ ชิณวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในรัฐบาลไทย ได้ส่งตัวแทนประสานงานไปยังกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ และฝ่ายต่อต้าน SAC เพื่อหาทางออกจากสถานการณ์การสู้รบในประเทศพม่า

และหลังจากนั้นนายทักษิณและผู้แทนกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ได้หารือกัน 2 รอบ โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2567 ที่ โดยกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ประกอบด้วย ตัวแทนสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union-KNU) พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (Karenni National Progressive Party-KNPP) องค์การแห่งชาติคะฉิ่น Kachin National Organization (KNO) รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติหรือเอ็นยูจี (National Unity Government-NUG) ได้พบกับนายทักษิณที่จังหวัดเชียงใหม่

หลังจากนั้นกลุ่มชาติพันธุ์อีกกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทเรื่องการเจรจาสันติภาพซึ่งนำโดยสภาเพื่อการกอบกู้รัฐชาน (RCSS/SSA) หรือกองทัพรัฐฉานใต้ซึ่งมี พล.อ.เจ้ายอดศึกเป็นผู้นำ ได้เข้าพบกับนายทักษิณอีกครั้ง

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในการพบปะแต่ละครั้งได้มีการหารือกันถึงสถานการณ์ในประเทศพม่า ซึ่งในขณะนี้สถานการณ์สู้รบกำลังดุเดือดโดยเฉพาะด้านเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ อ.แม่สอด จ.ตาก

ทั้งนี้ในวงหารือต้องการให้นายทักษิณเข้ามามีบทบาทในการหาทางออกของสงครามระหว่าง SAC และกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์และฝ่ายต่อต้าน ทั้งนี้นายทักษิณได้ให้ความสนใจ และหลังจากนั้นได้พยายามหาทางติดต่อกับผู้นำ SAC เพื่อต้องการทัศนะต่างๆ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำตอบใดๆ จาก SAC

 “ท่านนายกฯ ทักษิณมองว่าจะยังเคลื่อนใดๆ ไม่ได้ หากยังไม่ได้รับสัญญาณจากผู้นำ SAC ว่าจะมีท่าทีอย่างไร หากเคลื่อนแต่ด้านกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเดียว ท้ายที่สุดโต๊ะเจรจาก็ต้องล้ม ที่น่าสนใจคือ นายกฯ ทักษิณไม่เห็นด้วยกับแหล่งอาชญากรรมริมแม่น้ำเมยฝั่งเมียวดี เพราะเป็นสิ่งที่รับไม่ได้” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า ประเด็นเรื่องการเข้าพบนายทักษิณเป็นเรื่องที่ผู้นำกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ค่อนข้างระมัดระวังมาก เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเป็นห่วงผลกระทบที่จะตามมาหากกลายเป็นประเด็นด้านการเมืองในประเทศไทย ดังนั้นจึงพยายามปิดลับเรื่องการเข้าพบนายทักษิณ

ขณะที่ สาละวินเพรส รายงานในวันเดียวกันนี้ว่า อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ของไทยได้พบกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์บางกลุ่ม รวมถึงสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และหารือถึงวิธีการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ในเมียนมา

ทั้งนี้นอกเหนือจาก KNU, RCSS/SSA, KNPP, KNO แล้วยังมี NUG โดยพบปะครั้งนี้เมื่อเดือนมีนาคมและเมษายน องค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ที่กำลังต่อสู้กับ SAC เกิดขึ้นในเวลาที่ SAC เผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบาก

โดยอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำทหารเมียนมา และมีวิสัยทัศน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ดีในช่วงวิกฤต

บางคนมองว่าทักษิณเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่จะเข้าเป็นคนกลางในกิจการเมียนมา ทักษิณเชื่อว่าแรงงานเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจไทย รวมถึงโรงงานและอุตสาหกรรมประมงของไทย ทักษิณยังคิดที่จะอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยจากชายแดนไทยมาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย

นอกเหนือจากรายงานของสำนักข่าวชายขอบแล้วก็ยังมีแหล่งข่าวที่วิเคราะห์จากข้อมูลที่ได้จากหลายกลุ่มว่า

ทักษิณได้แจ้งกลุ่มต่างๆ ว่าต้องการจะเห็นสันติภาพในพม่า จึงเสนอตัวเป็น mediator เพื่อให้ฝ่ายต่างๆ ในพม่าบรรลุข้อตกลงต่างๆ ร่วมกัน

โดยในการพบปะดังกล่าวทักษิณได้นำเอกสารแบบฟอร์มมอบอำนาจให้ตนเป็น mediator ไปให้แต่ละกลุ่มลงนามด้วย (ทั้งๆ ที่เป็นการพบปะครั้งแรก)

เรื่องนี้กำลังเป็นเรื่องใหญ่และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในหมู่กลุ่มต่อต้านรัฐบาล

เหตุที่มีความวิตกกันมาก ก็เพราะ

ประการแรก กลุ่มต่อต้านยังไม่รู้ว่าทักษิณจะพาเขาไปในทางไหน ในการพูดคุยทักษิณก็ยังไม่ได้ชี้แจงว่ามีวิธีการไกล่เกลี่ยกับใครอย่างไร

ประการที่สอง พวกเขาไม่มั่นใจว่าทักษิณเข้าใจความสลับซับซ้อนของปัญหาพม่าแค่ไหน

ประการที่สาม แค่การเชิญกลุ่มหรือบุคคลมาพบ ก็ดูจะรีบร้อน ไม่ได้ศึกษาว่าใครเป็นใครในกลุ่มต่อต้าน

จึงเกิดเหตุการณ์เชิญผิดตัว เช่น ไปเชิญกลุ่ม KNO โดยเข้าใจผิดว่าเป็น KIO (KNO เป็นกลุ่มคะฉิ่นเล็กๆ ไม่มีความหมายทางทหารและการเมือง และไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับ KIO ซึ่งเป็นกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ลำดับสองของพม่า)

หรือการเชิญ KNU ไปพบที่เชียงใหม่ ก็ไปเชิญ พล.จ.จ่อ บอ แฮ ผบ.พลน้อย 5 แทนที่จะเชิญประธานหรือเลขาธิการ KNU (เลยต้องเชิญแกนนำมาพบที่ กทม.ภายหลัง)

ประการที่สี่ กลุ่มต่อต้านไม่ประสงค์จะเจรจากับกองทัพพม่าในรูปแบบนี้ ไม่ต้องการทำแบบเดิม คือ เจรจาทีละกลุ่ม

พวกเขาต้องการการเจรจาแบบทุกฝ่ายมีส่วนร่วมพร้อมกัน

ประการที่ห้า พวกเขาคิดว่า การแก้ไขปัญหาพม่าจะทำไม่ได้โดยไม่มีการเข้าร่วมของชนกลุ่มน้อยที่มีพลังอื่นๆ เช่น ว้า คะฉิ่น และอาระกัน ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่ยึดโยงกับจีน

และที่สำคัญ การจะเอากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เข้าร่วมต้องมีการปรึกษาหารือกับจีนและอินเดีย สองยักษ์แห่งเอเชียที่มีพรมแดนติดกับพม่าด้วย

ดังนั้น พวกเขาจึงประวิงเวลา ขอนำเรื่องกลับไปปรึกษาหารือกันภายในก่อน

แต่ยังไม่มีกลุ่มใดลงนามในเอกสารที่ทักษิณยื่นให้

หากทักษิณยังแสดงตนเป็น “ผู้มีอำนาจเหนือรัฐบาล” ต่อ อย่างนี้ก็นับถอยหลังรัฐบาลได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว