(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า
“…ข้าราชการที่ถูกปลด ซึ่งมีจำนวนครึ่งหนึ่งหรือมากกว่าจำนวนตำแหน่งราชการสำคัญทั้งหมด อาจถือว่าเป็นมิตรของรัฐบาลชุดใหม่ เราอาจสรุปกว้างๆ จากตัวอย่างที่ผ่านมาว่า ชาวสยามทั่วไปมีความเฉี่อยชา ความเชื่อฟัง และขาดปฏิกิริยาโต้ตอบ แต่ถึงกระนั้น ก็ไม่ควรเชื่ออย่างไร้เหตุผล ข้าราชการเหล่านี้ต้องเปลี่ยนสถานะจากหน้ามือเป็นหลังมือ พวกเขาก็เสียหน้าเช่นกัน และโดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการส่วนใหญ่ที่มีเชื้อสายจีน ย่อมต้องยิ่งรู้สึก นอกจากนั้น เงินเดือนและเงินบำนาญที่พวกเขาเคยได้รับกับในปัจจุบันแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทว่าชาวสยามไม่ได้ใช้จ่ายเงินเหมือนชาวยุโรป พวกเขาไม่เก็บออก ไม่ทำธุรกรรมหรือสะสมทรัพย์สมบัติ เมื่อได้ขึ้นเงินเดือน ก็จะมีภริยาคนที่สอง คนที่สาม ไปเรื่อย....ครอบครัวจึงเพิ่มจำนวนมากท้องให้เลี้ยงดู หากรายได้ลดลงก่อนเวลาอันควร พวกเขาจะตกที่นั่งลำบากทันที เหมือนเช่นที่ถูกปลดจำนวนมาก
ปัญหาด้านการทหาร
กองทัพถูกปรับเปลี่ยนขนานใหญ่ รัฐบาลชุดใหม่กระทำการอย่างชาญฉลาด โดยมีแนวคิดที่จะลดกำลังพลและปรับปรุงกองทัพ ซึ่งปัจจุบัน กำลังพลส่วนใหญ่มาจากทหารเกณฑ์ ไปเป็นกองทัพสำหรับทหารอาชีพที่สมัครใจ มีการปรับเปลี่ยนเครื่องแบบ เครื่องหมายบอกกรมกองและลำดับยศ เปลี่ยนจำนวนกระดุมบนเสื้อนอกทหารจาก 5 เม็ด เป็น 7 เม็ด หมวกสีกากี (รูปแบบใหม่เหมือนหมวกทหารของอาณานิคมของฝรั่งเศส) แทนหมวกแบบเก่า...
บทวิเคราะห์ว่าด้วยนโยบายทางทหารที่ตีพิมพ์ใน บางกอกเดลิเมล์ ระบุถึงนโยบายใหม่ๆ ทางการเมือง ซึ่งบ่งชี้แนวโน้มที่ชัดเจน แม้จะดูเกินจริงไปบ้าง
รัฐบาลเห็นความสำคัญในการเสริมกำลังให้กองทัพด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ที่สมบูรณ์แบบ รัฐบาลอยู่ในระหว่างจัดซื้อรถถัง (รัฐบาลต้องการรถถังหนัก 7 ตัน วิ่งด้วยความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ติดปืนขนาดประมาณ 40 มิลลิเมตร) บริษัทฝรั่งเศสถูกทาบทามผ่านพ่อค้าคนกลางในพื้นที่ แต่ดูเหมือนว่า การซื้อขายจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะอาจถูกบริษัทอังกฤษตัดหน้าไปเสียก่อน
รัฐบาลชุดใหม่ปรารถนาจะจัดหาเครื่องบิน ‘ประเภทเบรอเกต์ 27’ ด้วยเช่นกัน โดยได้เจรจาเรื่องนี้กับบริษัทฝรั่งเศสในสยาม เมื่อข้าพเจ้าทราบเรื่อง จึงแจ้งให้รัฐมนตรีกระทรวงอากาศยานฝรั่งเศสทราบทันที
สุดท้ายนี้ ยังมีประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่สมควรกล่าวถึง หลังจากการพูดคุยกันหลายครั้งและด้วยความสนับสนุนของกลุ่มนายทหารสยามที่จบการศึกษาจากฝรั่งเศส กองบัญชาการทหารสูงสุดจึงตัดสินใจจะนำกฎข้อบังคับในการทำสงครามของประเทศฝรั่งเศสมาใช้ได้ในช่วงต้นปีหน้า ด้วยความสำเร็จด้านขวัญกำลังใจเช่นนี้ จึงไม่จำเป็นต้องเน้นย้ำถึงเรื่องผลประโยชน์อีก
อองรี รูซ์”
(พันโท อองรี รูซ์มีความสามารถทางด้านภาษา สามารถพูดได้หลายภาษา ได้แก่ เยอรมัน สเปน ลาว เวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาไทย. ข้อความทั้งหมดในส่วนของนายพันโท อองรี รูซ์ ข้างต้น มาจาก การปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ ในทัศนะของพันโท อองรี รูซ์, Henri Roux เขียน พิมพ์พลอย ปากเพรียว แปล, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน: 2564) หน้า 165-167).
-------------------
ต่อไปเป็นรายงานจากสถานทูตอื่นๆที่มีต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยผู้เขียนได้คัดลอกมาจากหนังสือ ฝรั่งมองไทยในสมัยรัชกาลที่ 7: ตะวันออกที่ศิวิไลซ์ ของ ธีระ นุชเปี่ยม จัดทำโดยมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี
รายงานจากสถานอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
“ ‘การปฏิวัติเกิดขึ้นในวันนี้อย่างไม่ได้คาดหมายมาก่อน’ รายงานกล่าวด้วยว่า ในช่วงก่อนงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปีในเดือนเมษายนก่อนหน้านั้นมีข่าวลือมากมาย [ทั้งที่เกี่ยวกับเหตุอาเพศและเหตุการณ์รุนแรงต่างๆ ] แต่การเฉลิมฉลองวาระสำคัญในครั้งนั้น ก็ผ่านไปได้ด้วยดี จึงไม่มีใครเชื่อข่าวลือเหล่านี้อีก รายงานกล่าวถึงเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน และระบุว่า มีนายทหารนายหนึ่งเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้ [จริงๆ แล้ว ไม่มีผู้ใดเสียชีวิต มีแต่บางคนขัดขืนการจับกุมและได้รับบาดเจ็บเท่านั้น]
การรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันนั้น ให้รายละเอียดพอสมควร รวมทั้งสาระโดยย่อของ ‘ประกาศคณะราษฎร’ การจับกุมพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงหลายพระองค์และบุคคลสำคัญอื่นๆ ไปคุมตัวไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงประทับที่หัวหิน และการส่งแถลงการณ์ไปให้แก่สถานอัครราชทูตต่างๆ ยืนยันว่า ‘รัฐบาลชั่วคราว’ (temporary government) จะรักษาความเป็นระเบียบและยึดมั่นในพันธกรณีระหว่างชาติอย่างถี่ถ้วน นอกจากนั้น รายงานยังตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจบางประการด้วย เช่น ‘เป็นการยากที่จะเชื่อว่า กองทหารซึ่งคุกเข่าอยู่เบื้องพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะลุกขึ้นมาก่อการต่อพระองค์’ และ ‘เป็นที่น่าแปลกใจว่า ได้มีการรักษาความลับไวได้อย่างไร สิ่งนี้บ่งชี้ว่า มีผู้นำ [การก่อการ] จำนวนน้อย แม้ว่านายทหารจำนวนมากคงจะต้องได้รับรู้แล้ว เพราะมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก’
วันที่ 25 มิถุนายน อัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ส่งโทรเลขแจ้งแก่กระทรวงการต่างประเทศของเขาว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยอมรับข้อเรียกร้องของคณะราษฎรที่จะให้มีการปกครองระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และอีก 3 วันต่อมา นายฮูเบอร์ก็ได้ส่งโทรเลขอีกฉบับหนึ่งแจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธยรัฐธรรมนูญชั่วคราว [ชื่อทางการ ‘พระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญปกครองสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475’] หลังจากที่ประเด็นซึ่งพระองค์ได้ทรงขอให้ผู้แทนคณะราษฎรที่ได้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลนำกลับไปแก้ไข ได้มีการดำเนินการตามพระราชประสงค์แล้ว โทรเลขฉบับนี้กล่าวถึงการจัดตั้งสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 70 คนด้วย
จากนั้นเพียง 2 วัน ต่อมา อัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ก็ได้จัดทำรายงานสถานการณ์ภายหลังการยึดอำนาจ โดยกล่าวถึงพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงยอมรับข้อเรียกร้องของคณะราษฎร เพราะทรงมี ‘ความปรารถนาที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยและหลีกเลี่ยงการเสียเลือดเนื้อ และให้สิ่งต่างๆ ดำเนินไปอย่างสงบเท่าที่จะเป็นไปได้ จะได้ไม่มีความปั่นป่วนรุนแรงอันจะเป็นผลร้ายต่อประเทศชาติ’ และนอกจากนั้น ยังทรงระบุด้วยว่า ทรงมีพระราชประสงค์อยู่แล้วที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงทรงยอมที่จะให้มีการสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ด้วยการเป็น ‘หุ่น’ (puppet)
รายงานได้เท้าความถึงการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริเสรีนิยม (liberal idea) ที่นำไปสู่พระราชประสงค์จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่อภิรัฐมนตรีสภาไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ดี ในการรับรู้และความเข้าใจของอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์นั้น ที่พระองค์ไม่ทรงต่อต้านคณะราษฎร ก็เพราะไม่ต้องการที่จะให้เกิดการนองเลือด
กำลังทหารนอกกรุงเทพฯ อันเป็นกำลังส่วนใหญ่ของกองทัพบกนั้น
ยังคงจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพร้อมที่จะต่อสู้
กับการปฏิวัติ แต่หากมีการต่อต้านเช่นนั้นเกิดขึ้น คณะราษฎรก็คงจะ
สังหารบุคคลที่ได้ควบคุมไว้เป็นตัวประกัน ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงยอมรับ
รายงานฉบับนี้ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมความในโทรเลขที่ส่งไปถึงกระทรวงการต่างประเทศก่อนหน้านี้แล้ว โดยเฉพาะเรื่องการลงพระปรมาภิไธย พระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญชั่วคราวเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 การจัดตั้งสภาผู้แทนราษฎร (Parliament) ประกอบด้วยสมาชิก 70 คน ซึ่งคณะราษฎรเป็นผู้แต่งตั้งโดยที่หลังจากพ้นช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ไปแล้ว ประชาชนก็จะได้มีโอกาสเลือกผู้แทนของตนเข้ามาทำหน้าที่ในสภาแห่งนี้ และการจัดตั้งคณะกรรมการราษฎร (Executive Committee) จำนวน 14 คน รายงานกล่าวถึงบุคคลบางคนในระบอบปกครองใหม่ บุคคลที่กล่าวถึงจริงๆ แล้ว เป็นคนในระบอบเดิมที่เคยมีบทบาทสำคัญในการปกครองและบริหารราชการแผ่นดิน คือ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร พลตรี พระยาอินทรวิชิต รองประธานสภาผู้แทนราษฎร พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎร และพระยาศรีวิศาลวาจา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ”
ในตอนต่อไป จะได้กล่าวถึงทรรศนะของอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ที่มีต่อการแต่งตั้งข้าราชการในระบอบเดิมให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในระบอบใหม่
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'อิ๊งค์' ยัน ทักษิณ-เพื่อไทย หาเสียงเลือกตั้งอบจ. เป็นไปตามกฎหมาย
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในฐานะหัวหน้
หนาว! คำร้องยุบพรรคเพื่อไทย อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริง
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงคำร้องยุบ 6 พรรคการเมืองว่
'สุริยะ' ชี้ 'วิโรจน์' พูดให้ดูดี ไม่สนนามสกุลเดียวกับ 'ธนาธร' ก็จะตรวจสอบ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม กล่าวกรณีฝ่ายค้านออกมาระบุว่าเตรียมจองคิวอภิปรายไม่ไว้วางใจกระทรวงคมนาคมว่า เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะตรวจสอบรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องปกติ
‘ทักษิณ’ กับการติดคุกครั้งใหม่!
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “คุณ ทักษิ
พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ? (ตอนที่ 53)
ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร