อุณหภูมิบ้านเรามันร้อนเหลือเกินครับ ไปไหนมาไหนมีแต่คนพูดถึงความร้อน ซึ่งมันก็ร้อนจริงๆ แต่ยังโชคดีที่สัปดาห์หน้า อุณหภูมิจะไม่ร้อนระอุเหมือนที่ผ่านมา จากอุณหภูมิร้อนระอุจะกลับสู่ภาวะร้อนธรรมดา ก็ยังดีครับ
ตั้งแต่สงกรานต์ ข่าวที่ปรากฏ คือการชุมนุมการประท้วง และการปะทะ สลายการชุมนุม ตามมหาวิทยาลัยชื่อดังในสหรัฐอเมริกา ผมยอมรับว่าช่วงแรกๆ ที่ผ่านตา ผมก็นึกว่าเป็นการประท้วงปกติจากฝ่ายที่อาจเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสงครามอิสราเอลกับฮามาส เพราะวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยดังๆ ในสหรัฐ คือเป็นเวทีแสดงความคิดเห็นด้วยเหตุด้วยผล ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายใดก็ตาม ซึ่งบางครั้งเหตุผลจะแพ้อารมณ์ แต่อย่างน้อยๆ สู้กันด้วยเหตุด้วยผลเป็นหลัก
แตกต่างกับบ้านเราที่ว่า ปากพูดว่า “อยากให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นเต็มที่” แต่มีข้อแม้ครับ ทุกคนแสดงความคิดเห็นได้….แต่ต้องเป็นความคิดเห็นตรงกับกู….
วันนี้ขออนุญาตเท้าความ ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐ สำหรับใครที่อาจไม่ได้ติดตามใกล้ชิด (เหมือนผม) ตอนที่ข่าวออกมาใหม่ๆ อาจถือว่าเป็นเรื่องราวที่ผ่านตา ถือว่าเป็นการประท้วงของเด็กมหาวิทยาลัยธรรมดาๆ แล้วอยู่ๆ การประท้วงผุดขึ้นมาหลายที่ และตอนนี้ตามข่าวไม่ทัน
ถ้าย้อนเวลากลับไป ช่วงแรกของสงครามอิสราเอลกับฮามาส ตอนที่อิสราเอลเป็นฝ่ายถูกโจมตี ผมเชื่อว่ากระแส “ความเห็นใจ” อยู่ฝ่ายอิสราเอล เพราะเป็นการโจมตีที่เอาพลเรือนธรรมดาเป็นเหยื่อและเป็นเป้า ช่วงแรกๆ ผมเชื่อในใจว่าแรงสนับสนุนให้กับอิสราเอล สนับสนุนให้อิสราเอลโจมตีกลับ
แต่พออิสราเอลโจมตีกลับจริงๆ และโจมตีกลับแบบจริงๆ จังๆ ไม่ไว้หน้า ไม่สนผลกระทบ เป็นการโจมตีกลับดุเดือด และแก้แค้นประเภท “แค้นนี้ต้องชำระ” กระแสสนับสนุนอิสราเอลเริ่มไขว้เขว ค่อยๆ เริ่มเอนไปทาง “สงสารชาวปาเลสไตน์” มากกว่า เพราะถือว่าเป็นการโจมตีที่โหด ทำให้พลเรือนปาเลสไตน์นั้นต้องถูกทารุณและต้องเป็นเหยื่อ
หัวใจการประท้วงตามมหาวิทยาลัยในสหรัฐ (และลามไปถึงแคนาดากับฝรั่งเศส) ค่อนข้างเอนไปทางเห็นใจชาวปาเลสไตน์ แต่ไม่ได้ประท้วงเพียงจุดแค่นั้นครับ ไม่ได้เป็นการแสดงพลัง ร่วมใจ ส่งใจให้กับชาวปาเลสไตน์อย่างเดียว ไม่ได้เป็นการชุมนุมที่นัดตามเวลา ให้ถ่ายเซลฟีลงโซเชียลของตัวเอง และกลับบ้านเมื่อแบตมือถือหมด คราวนี้เป็นการประท้วงจากนักศึกษา ขอให้มหาวิทยาลัยของตนเลิกลงทุน เลิกร่วมงานสนับสนุนอิสราเอล คือเลิกทำงานวิจัย หรือทำโปรเจกต์อะไรที่จะเป็นประโยชน์ให้กับอิสราเอล ในการโจมตีฮามาสกับชาวปาเลสไตน์
การประท้วงรอบแรกเกิดขึ้นในช่วงธันวาคมที่ผ่านมา ตอนอธิการบดีมหาวิทยาลัย Harvard MIT กับ University of Pennsylvania ถูกเรียกจากกรรมาธิการในสภา มาพูดเรื่องกระแสต่อต้านยิวตามมหาวิทยาลัยของตน ซึ่งถ้าย้อนเวลากลับไป เห็นได้ชัดว่าท่านอธิการบดีแต่ละท่านนั้นเหมาะที่เป็นนักวิชาการ อยู่ในห้องสมุดมากกว่าอยู่หน้าไฟ เหมือนตอบอะไรไม่ถูก เมื่อไม่มีหนังสืออ้างอิง หรือมีทฤษฎีพาดพิงได้
ช่วงเวลาใกล้กับสงกรานต์บ้านเรา อธิการบดีมหาวิทยาลัย Columbia (นาง Nemat Shafik) ถูกเรียกไปที่กรรมาธิการชุดหนึ่งของสภา มาพูดเรื่องบรรยากาศการประท้วงตามมหาวิทยาลัย ซึ่งพอพูดถึงมหาวิทยาลัยของตน อธิการฯ บอกว่าการประท้วงดูเหมือนจะเน้นการออกมาประณามยิวมากกว่าการประท้วงตามเหตุตามผล และตามความคิดเห็นของตนนั้น สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดควรมีข้อจำกัด ถ้าเน้นแต่เรื่องการสร้างความเกลียดชังและสร้างความแตกแยก
ทางผู้ประท้วงที่ Columbia ไม่พอใจสิ พวกเขาเลยยกระดับการประท้วงด้วยการยึดพื้นที่ในมหาวิทยาลัย ตั้งเต็นท์นอนค้าง (วันที่ 17 เมษา.) เพื่อแสดงพลังว่าเขาอยู่เคียงข้างชาวปาเลสไตน์
สิ่งหนึ่งที่ต้องพูดออกมาคือ ผู้ประท้วงไม่ได้เป็นพี่น้องชาวมุสลิมอย่างเดียวนะครับ ผู้ประท้วงที่ประกาศเข้าข้างชาวปาเลสไตน์ในสงครามครั้งนี้มาจากหลากหลายเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นคนผิวดำ คนเอเชีย คนตะวันออกกลาง คนแอฟริกา และสิ่งสำคัญกว่านั้น คนผิวขาว
จริงๆ แล้วด้วยประวัติของมหาวิทยาลัย Columbia ถือว่าเขาเป็นดินแดนแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่เสรีอยู่แล้ว ในประวัติมีการปะทะ มีการสลายการชุมนุมที่รุนแรงบ้าง ไม่รุนแรงบ้าง แต่เป็นอันเข้าใจว่า Columbia น่าจะคุ้นเคยกับเรื่องการประท้วงการชุมนุมมากกว่าที่อื่น คนถึงแปลกใจที่อธิการบดี Shafik เรียกตำรวจเข้ามาจัดการและสลายการชุมนุมในวันที่ 18 เมษายน
ตำรวจเข้ามาสลายการชุมนุม และจับผู้ชุมนุมจำนวนประมาณ 100 คน ทั้งใส่กุญแจมือ ทั้งลากออกมา นักศึกษาบางคนถูกพักเรียน และบางคนถูกขับไล่ออกจากหอพัก จึงทำให้อธิการบดีประกาศให้เรียนออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน เพราะเกรงกลัวว่าบรรยากาศการประท้วงและการชุมนุมไม่ได้เอื้อให้นักเรียนเรียนหนังสือได้ และให้อีกเหตุผลหนึ่งคือ เพื่อให้นักเรียนทุกคนทบทวนจุดยืนของตนเอง และเมื่อพร้อม กลับมาใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัย เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันบนพื้นฐาน หลักการ และเหตุและผล
คราวนี้ ผู้สนับสนุนเห็นใจชาวปาเลสไตน์ในมหาวิทยาลัยอื่นๆ อยากแสดงพลังบ้าง และอยากให้กระแสที่เกิดใน Columbia ไปต่อ เลยมีการตั้งเต็นท์แบบเดียวกันที่มหาวิทยาลัย Yale, Harvard, The University of Michigan, New York University, MIT, UCLA, Emerson College, California State Polytechnic และ University of Texas at Austin เป็นต้น ซึ่งตามข่าวเราก็เห็นกันว่าตำรวจเข้ามาสลายการประท้วง มีการปะทะและมีการจับผู้ประท้วงเป็นจำนวนหลายร้อยคน
วันนี้ถือว่าเป็นการปูทางเรื่องที่เกิดขึ้นแบบย่อครับ ในครั้งต่อไปเราจะดูกันเรื่อง เมื่อมีมือที่ 3 เข้ามา ทำให้การประท้วงตามมหาวิทยาลัยกลายเป็นประเด็นทั่วโลกได้อย่างไร และผู้นำทางการเมืองที่มี agenda เอามาปั่นกระแสให้เข้าข้างตัวเองอย่างไร และมีใครบ้าง ไว้เจอกันครั้งต่อไปครับ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วันส่งท้าย 'สวัสดีปีใหม่'
หวังว่าวันนี้คงไม่สายเกินไปที่ผมจะทักแฟนคอลัมน์ด้วยคำว่า “สวัสดีปีใหม่” ครับ เนื่องจากวันนี้เป็นวันแรกที่เราได้เจอกันในรอบปีใหม่ แต่ผมมีคำถามอยู่คำถามหนึ่งว่า
'This is what butterflies listen to after a long day.'
ทิ้งท้ายปีนี้ด้วยคอลัมน์สบายๆ ครับ ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ผมจะเขียนในวันนี้ จะถึงใจแฟนคอลัมน์หรือเปล่า เพราะผมไม่แน่ใจว่าพวกเราชอบฟังเพลงแนว Podcast
Gisele Pelicot วีรสตรีของโลก
วันนี้ผมขออนุญาตเขียนเรื่องที่อาจสะเทือนใจ และสร้างความอึดอัดให้กับแฟนคอลัมน์หลายท่าน มันไม่ใช่เรื่องที่คนปกติจะนั่งพูดคุยกัน เป็นเรื่องสะเทือนใจ
สงครามที่โลกลืม…ปิดฉากไปแล้ว
มันแปลกจริงๆ ครับ ประมาณเกือบ 2 สัปดาห์ที่แล้ว อยู่ๆ ผมนึกถึงคอลัมน์ที่ผมเคยเขียน เรื่องเกี่ยวกับ “สงครามที่โลกลืม”
President Biden….You’re a Good Dad
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีสารพัดเรื่องที่น่าสนใจและน่าเขียนถึง เรื่องแรกต้องเป็นเรื่องประกาศกฎอัยการศึกในเกาหลีใต้ เพราะเป็นเรื่องไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้น และถือว่าเป็นการประกาศฟ้าผ่าทีเดียว
คุยเรื่อง…ที่ไม่ใช่เรื่อง
เผลอแป๊บเดียว วันนี้เราเข้าเดือนสุดท้ายของปีแล้ว ถือว่าเราเข้าฤดูกาลซื้อของขวัญสำหรับคริสต์มาสและปีใหม่อย่างเป็นทางการ ถึงแม้ตามห้างต่างๆ