เปิดมาปีใหม่นี้เราจะเห็นการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในเวทีเศรษฐกิจโลกอีกมิติหนึ่ง
นั่นคือกลไกใหม่ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เรียกว่า Indo-Pacific Economic Framework หรือที่ผมย่อให้เป็น IPEF เพราะสหรัฐฯ เห็นจีนขยายอิทธิพลด้านเศรษฐกิจอย่างคึกคักและกว้างขวาง มีหรือที่วอชิงตันจะอยู่เฉยๆ ได้
เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมเป็นต้นมา RCEP ซึ่งมีจีนเป็นสมาชิกสำคัญมีผลทางปฏิบัติแล้ว
ยิ่งกว่านั้นจีนก็ยื่นใบสมัครเข้า CPTPP ด้วย
ทำให้ไบเดนต้องเคลื่อนไหว...เมื่อกลับเข้า CPTPP ที่บารัค โอบามา เป็นคนริเริ่มดูจะเสียฟอร์ม (โดนัลด์ ทรัมป์ กระชากสหรัฐฯ ออกจาก CPTPP) ก็ต้องทำอะไรบางอย่างที่วอชิงตันเป็นพระเอก
แนวคิดในการพัฒนากรอบเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียได้รับการประกาศครั้งแรกโดยไบเดน ในการประชุมสุดยอดระดับภูมิภาคออนไลน์เมื่อปีที่ผ่านมา
และกำลังจะเป็นรูปเป็นร่างในต้นปีนี้หลังจากการเจรจากับพันธมิตรของสหรัฐฯ
แต่ IPEF นี่คืออะไรกันแน่?
ถึงวันนี้กรอบการทำงานของกลไกใหม่นี้ยังค่อนข้างคลุมเครือ
เท่าที่รัฐมนตรีพาณิชย์ของสหรัฐฯ Gina Raimondo และตัวแทนการค้า (Trade Representative) Katherine Tai เกริ่นเอาไว้
IPEF จะเป็นข้อตกลงหลวมๆ ที่จะบรรลุ "วัตถุประสงค์ร่วมกัน" เอาไว้
ที่แน่ๆ คือไม่ใช่การตั้ง “เขตการค้าเสรี” กลุ่มใหม่ขึ้นมา
หากแต่เป็นการรวมเอาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า เศรษฐกิจและเทคโนโลยีดิจิทัล
ห่วงโซ่อุปทาน
พลังงานสะอาด
โครงสร้างพื้นฐาน มาตรฐานแรงงาน
และเรื่องอื่นๆ ที่อเมริกาเห็นว่ามีความสำคัญ
แรกเริ่ม รัฐมนตรี 2 คนของรัฐบาลไบเดนบอกว่าจะเชิญประเทศที่มีเศรษฐกิจก้าวไกลแล้ว รวมถึงประเทศเศรษฐกิจใหม่ในภูมิภาคนี้ด้วย
ชื่อประเทศไทยก็ถูกรวมอยู่ในการเอ่ยถึงในช่วงแรก
แต่ผมไม่แน่ใจว่ากระทรวงต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ของไทยเรามีข้อสรุปชัดเจนเพียงใดว่าเราอยู่ในส่วนไหนของสมการใหม่ของอเมริกาในเรื่องนี้
ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อเมริกาต้องออกแบบกลไกใหม่ในภูมิภาคนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าคือการเคลื่อนไหวของจีนทางด้านนี้ที่นำหน้าสหรัฐฯ ไปหลายก้าวแล้ว
เดือนกันยายนที่ผ่านมา ปักกิ่งบอกว่าได้ยื่นใบสมัครเข้าร่วม CPTPP หลังจากที่สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงดังกล่าวในปี 2017 ตามที่คาดไว้แต่แรก
จีน รวมทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ 10 ประเทศของอาเซียนเดินหน้าเรื่อง RCEP แล้ว
เกิดคำถามทันทีว่าแล้วสหรัฐฯ อยู่ตรงไหน?
เมื่อความสนใจเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความสำคัญของกฎเกณฑ์ที่ควบคุมการค้าดิจิทัล จีนบอกเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่าได้ขอเข้าร่วม Digital Economy Partnership Agreement (DEPA) “หุ้นส่วนเศรษฐกิจดิจิทัล” ที่ลงนามในปี 2020 โดยสิงคโปร์ ชิลี และนิวซีแลนด์
เป็น 3 ใน 4 ประเทศที่ได้วางรากฐาน สำหรับสิ่งที่ต่อมาพัฒนาเป็น CPTPP
มีประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาว่าจีนซึ่งมักถูกกล่าวหาว่าบิดเบือนตลาด เช่น การใช้เงินอุดหนุนอย่างกว้างขวาง จะได้รับการยอมรับใน CPTPP ที่มีมาตรฐานสูงในเร็วๆ นี้หรือไม่
เป็นประเด็นอ่อนไหวและสลับซับซ้อน
เพราะไต้หวันก็ยื่นใบสมัครเข้า CPTPP ในจังหวะใกล้กับจีนปักกิ่งเช่นกัน
ญี่ปุ่นและออสเตรเลียเป็นสมาชิกสำคัญของ CPTPP อยู่
หากมองความเชื่อมโยงทางการเมืองก็ต้องมอง 2 ประเทศนี้ใกล้ชิดและคุ้นเคยกับไต้หวันมากกว่าปักกิ่งอย่างปฏิเสธไม่ได้แน่นอน
หากสหรัฐฯ ไม่สามารถแสดงบทบาทเรื่องนี้ได้ และจีนยังคงกดดันให้ชาติ CPTPP ยอมให้เข้ามาได้
เหตุนี้กระมังไบเดนจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องเปิดเกมใหม่อะไรบางอย่างในเรื่องการค้า และประเด็นที่เกี่ยวกับการฟื้นเศรษฐกิจภูมิภาคนี้หลังโควิด-19
สำหรับทีมงานของไบเดนแล้ว การเสนอ IPEF จะทำได้ง่ายกว่าการเสนอแผนตั้ง “เขตการค้าเสรี” ใหม่
เพราะอย่างหลังต้องขออนุมัติผ่านรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งเป็นกระบวนการที่กินเวลาและสลับซับซ้อน
อีกทั้ง IPEF ก็ไม่จำเป็นต้องตั้งมาตรฐานทางการค้าที่สูงมากนัก
กรอบการทำงานของ IPEF มีเป้าหมายรวบรวมไม่เพียงแต่พันธมิตรและเศรษฐกิจร่ำรวยที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ อยู่แล้ว
แต่ยังรวมถึงประเทศที่พัฒนาน้อยกว่า แต่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ เช่น เวียดนาม
เพราะเวียดนามไม่สบายใจนักที่จีนมีบทบาทด้านนี้ที่คึกคักขึ้นในภูมิภาคนี้โดยไม่มีดุลถ่วงที่ชัดเจนจากอเมริกา
แต่คำถามสำคัญก็คือว่า ถ้าเป็นเพียงการรวมตัวแบบหลวมๆ อย่างนี้แล้ว ข้อตกลงนี้จะออกมาในรูปแบบไหน จะมีผลบังคับทางด้านกฎหมายหรือไม่
หรือเป็นเพียง “สโมสร” เพื่อการพบปะพูดจากันเท่านั้น
หากเป็นเช่นนี้จะมีการทับซ้อนกับ APEC หรือ Asia-Pacific Economic Cooperation ซึ่งมีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจอย่างไร
ไทยเราจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด APEC ปลายปีนี้อยู่พอดี
เราจะตีความ IPEF กับ APEC อย่างไร จึงเป็นคำถามสำคัญอีกข้อหนึ่ง เพราะ APEC มีจีน, อเมริกา, ไต้หวันและฮ่องกงเป็นสมาชิกอยู่แล้วเช่นกัน
และคงนำไปสู่คำถามที่ว่า IPEF กับ Quad (จตุภาคีที่สหรัฐฯ ตั้งร่วมกับญี่ปุ่น, อินเดียและออสเตรเลีย ซึ่งทำเรื่องห่วงโซ่อุปทานเรื่อง semiconductors อยู่แล้ว) จะเหมือนหรือต่างและทับซ้อนกันอย่างไร
ที่เป็นการบ้านใหม่สำหรับประเทศไทยสำหรับปีใหม่นี้อีกหลายข้อทีเดียว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ