หวังรัฐแก้ปมค้าชายแดน

การผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ดีนั้น จำเป็นต้องมองในทุกมิติและพัฒนาให้ครอบคลุม จะทิ้งใครหรืองานใดงานหนึ่งไว้ข้างหลัง จะเป็นตัวฉุดรั้งให้การเติบโตนั้นไม่ไปไหน และอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กับการลงทุนขนาดใหญ่ หรือในภาคการท่องเที่ยว ก็คือ “การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทย” ซึ่งที่ผ่านมาเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจในพื้นที่และภาพรวมของประเทศเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังเป็นการรักษาความเชื่อมั่นให้กับประเทศเพื่อนบ้านกับประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

แต่ที่ผ่านมาช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.2567 ภาพรวมการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยนั้นลดลง โดยมีมูลค่า 269,854 ล้านบาท ลดลง 0.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เดือน ก.พ. เพียงเดือนเดียวอยู่ที่ 128,960 ล้านบาท

ลดลง 3.46% จากปีก่อน โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้การค้าชายแดนระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านหดตัวมาจาก 1.เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร 2.สถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมายังคงมีความรุนแรงมากขึ้นต่อเนื่อง 3.สินค้าจีนเข้ามาตีตลาดในอาเซียนมากขึ้น และ 4.ปัญหาด้านการขนส่ง (โลจิสติกส์) และการผ่านแดนที่ติดขัด

ด้วยเหตุนี้เอง นายสุริยนต์ ตู้จินดา ประธานคณะอนุกรรมการด้านการค้าชายแดน สายงานอาเซียนและโลจิสติกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ออกมาเปิดเผยถึงการประชุมกับกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เรื่องการสู้รบในเมียนมา และผลกระทบต่อการค้าและการขนส่งชายแดน และได้มีข้อเสนอสรุปในการดำเนินงาน เพื่อให้ภาพรวมของปัญหานั้นลดลง โดยข้อที่ 1.ขอให้เจรจากับรัฐบาลเมียนมา เพื่อแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ณ ด่านเมียวดี อนุญาตให้รถบรรทุกขนาดใหญ่ของเมียนมาเข้ามาขนถ่ายสินค้าในฝั่งแม่สอด ตามที่กรมการขนส่งทางบกของไทยได้อนุญาตไว้แล้ว เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ประกอบการไทย

2.ขอให้รัฐบาลทั้งสองฝ่าย (ไทย-เมียนมา) อำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าเข้า-ออกที่ด่านทางเลือก ได้แก่ ด่านระนอง, จุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, ด่านพุน้ำร้อน และด่านเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี 3.ขอให้เจรจากับรัฐบาลเมียนมา เพื่ออนุญาตให้ผู้นำเข้าเมียนมาใช้ Import license ในการนำเข้าสินค้าสำหรับการค้าชายแดนไทย-เมียนมา สามารถนำใบอนุญาตดังกล่าวไปใช้ในการนำเข้าสินค้าทางเรือเป็นการชั่วคราวได้ จนกว่าสถานการณ์ที่ด่านแม่สอด-เมียวดีจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

และ 4.ขอให้กระทรวงพาณิชย์เผยแพร่ข้อมูลสถิติการค้าชายแดน-ผ่านแดน จำแนกตามด่านต่างๆ ให้กับเอกชนผ่านทางศูนย์ความเป็นเลิศข้อมูลทางการค้าและการลงทุน (http://cicbts.dft.go.th) ให้มีความเป็นปัจจุบันมากขึ้น โดยเอกชนสามารถเข้าถึงข้อมูลสถิติรายเดือนของเดือนล่าสุด ภายในสัปดาห์แรกของเดือนถัดไป (เช่น ตัวเลขสถิติของเดือน มี.ค.2567 สามารถดูข้อมูลได้ภายในสัปดาห์แรกของเดือน เม.ย.2567) เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถนำข้อมูลสถิติดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนธุรกิจได้ทันเหตุการณ์

นอกจากนี้ต้องการเร่งรัดเพื่อให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เรียกประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการค้าการลงทุนชายแดนและผ่านแดน ที่ประชุมไปตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2566 และยังไม่ได้มีการประชุมอีกเลย เพื่อติดตามความคืบหน้าต่างๆ จากการประชุม เนื่องจากสถานการณ์ค้าชายแดนและผ่านแดนมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เพื่อให้รัฐบาลมีข้อมูลทันต่อสถานการณ์ไปปรับแผนในการกระตุ้นการค้าชายแดนและผ่านแดนกับประเทศเพื่อนบ้านต่อไป

แน่นอนว่าหากสถานการณ์การค้าชายแดนนั้นยังซบเซาต่อเนื่อง อาจจะกระทบไปยังภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศได้ รวมถึงการดำเนินงานของเอกชนและเป้าหมายการลงทุนก็อาจจะติดขัด เนื่องจากยังลังเลในการตัดสินใจ เชื่อว่าหากรัฐบาลเข้ามาแก้ไขในส่วนนี้โดยเร็ว จะสามารถสร้างความลื่นไหลทั้งทางการลงทุนและเม็ดเงินหมุนเวียนได้อย่างดี.

 

ณัฐวัฒน์ หาญกล้า

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความสำเร็จของแบรนด์กับการใช้Meta

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีประชากร 700 ล้านคน และมี GDP รวมประมาณ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เป็นตลาดที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก

หวยเกษียณแก้ปัญหาแก่ก่อนรวย

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ หรือหวยเกษียณ ของกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งนี่ถือเป็นโครงการที่รัฐบาลพยายามส่งเสริมการออมของประชาชนในประเทศ

เจ็บแล้วจบ

หลังการบริหารงานของรัฐบาลเศรษฐาได้เข้ามาเดินหน้ามาตรการประชานิยมลด แลก แจก แถม จัดเต็ม ตามที่สัญญากันไว้ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะนโยบายด้านพลังงาน ลดค่าไฟฟ้า

3แผนกรีนดันอุตฯไทยรักษ์โลก

เทรนด์รักษ์โลกยังมีมาอย่างต่อเนื่อง และตลอดปี 2567 ที่ผ่านมานี้หลายหน่วยงาน หลายบริษัทก็ยังไม่ทิ้งอุดมการณ์อันแรงกล้านี้ และยังแห่ประกาศแผนดำเนินงานเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมกันอย่างคึกคัก

เร่ง“ปรับ”ก่อน(ถูก)“เปลี่ยน”

ยอดขายรถยนต์ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 ที่ผ่านมา หลายคนคงตกใจ เพราะหดตัวลงถึง 23.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีแนวโน้มว่าทั้งปีจะหดตัวลงอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 15 ปี

เปิดไม้เด็ดธุรกิจขนาดเล็กสู้ในตลาด

หากย้อนเวลาไปเมื่อหลายปีก่อน ธุรกิจที่มีทุนหนาและมีส่วนแบ่งการตลาดมาก มักจะถูกมองว่าเป็น “ปลาใหญ่” ที่ได้เปรียบเหนือคู่แข่งที่ทุนน้อยกว่าซึ่งเปรียบเหมือน “ปลาเล็ก” จนเป็นที่มาของคำว่า “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” หนึ่งในข้อได้เปรียบที่เห็นชัดที่สุดคือ การมี Economy of Scale หรือ การประหยัดต่อขนาด ซึ่งหมายถึง การผลิตสินค้าหรือบริการในจำนวนที่มากพอที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำลง พูดง่ายๆ ก็คือ “ยิ่งผลิตมากขึ้น ต้นทุนการผลิตยิ่งลดลง และยิ่งคุ้มค่ามากขึ้น” โดยต้นทุนในการผลิตสินค้าหรือบริการจะแบ่งออกเป็น ต้นทุนคงที่ (fixed cost) และต้นทุนผันแปร (variable cost) ต้นทุนคงที่ คือ ต้นทุนที่ธุรกิจต้องจ่ายเป็นจำนวนคงที่ ไม่ว่าจะผลิตสินค้าหรือบริการในปริมาณเท่าใดก็ตาม เช่น ค่าเช่าพื้นที่ ค่าเครื่องจักรอุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ส่วนต้นทุนผันแปร