สี จิ้นผิงบอกบลิงเกน: จีน-มะกัน ควรเป็น ‘หุ้นส่วน’ ไม่ใช่ ‘ปรปักษ์’

รัฐมนตรีต่างประเทศแอนโทนี บลิงเกนไปเมืองจีนครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อนเจอกับ “เล็กเชอร์” จากประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเป็นชุด

ฝ่ายจีนย้ำว่า “โลกใบนี้ใหญ่พอสำหรับเราสองประเทศ”

และยืนยันว่าจีนกับสหรัฐฯควรเป็น “หุ้นส่วน” ไม่ใช่ “คู่แข่ง” ที่จะเอาเป็นเอาตาย

สีบอกบลิกเกนว่าปักกิ่งกับวอชิงตันต้องไม่สร้างปัญหาด้วยการเข้าสู่ “การแข่งขันที่ดุเดือดเลือดพล่าน”

และควรแสวงหา “ความสำเร็จร่วมกัน” ไม่ใช่ “ทำร้ายซึ่งกันและกัน”

“จีนยินดีที่ได้เห็นความมั่นใจ เปิดกว้าง และเจริญรุ่งเรืองของ สหรัฐ เราหวังว่าฝ่ายสหรัฐฯ จะสามารถมองการพัฒนาของจีนในแง่บวกและเชิงรุกได้เช่นกัน” สีกล่าว

“เมื่อปัญหาพื้นฐานนี้ได้รับการแก้ไขเท่านั้น ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ จึงจะมีเสถียรภาพและก้าวไปข้างหน้าอย่างแท้จริง” สีกล่าวเสริม

แต่ทั้งสองฝ่ายก็ยอมรับว่ายังมีเรื่องที่เห็นขัดแย้งกันและเป็นข้อพิพาทที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อเมริกาจี้ไปที่จีนว่าควรจะเลิกสนับสนุนรัสเซียในการทำสงครามในยูเครน

บลิงเกนพูดพบปะกับสีว่าได้ “พยายามกระชับความร่วมมือที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นโดยที่ผลประโยชน์ของเราสอดคล้องกัน”

บลิงเกนตั้งข้อสังเกตว่าจีนเป็นซัพพลายเออร์ชั้นนำด้านเครื่องมือกล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ไนโตรเซลลูโลส และสินค้าใช้งานคู่อื่นๆ ซึ่งมีความสำคัญต่อฐานอุตสาหกรรมด้านกลาโหมของรัสเซีย

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯบอกว่าเมื่อขอกันตรง ๆ ให้จีนหยุดช่วยรัสเซียทำสงครามในยูเครน ก็จะรอการตอบสนองจากจีน

“แต่หากจีนไม่ทำ ฝ่ายเราก็จะดำเนินการเอง”

บลิงเกนพูดอย่างนี้เหมือนขู่จีน แต่ก็คงจะเป็นวิธีการนำเสนอที่ต้องการจะสะท้อนว่าไม่ได้มาปักกิ่งเพื่อมารับฟังฝ่ายจีนอย่างเดียว

แต่ต้องการจะมาบอกว่าอเมริกาอยากจะเห็นจีนตอบสนอง “ความกังวล” ของวอชิงตันด้วย

ก่อนพบสี จิ้นผิง  บลิงเกนคุยกับรัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ของจีนก่อน

โดยยกความสำคัญของการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในทะเลจีนใต้และรอบๆ ไต้หวัน

และแน่นอนว่าหวัง อี้ก็ย้ำกับบลิงเกนอีกครั้งว่าเรื่องไต้หวันเป็น “เส้นแดง” ที่อเมริกาต้องระวัง อย่าเดิมข้ามมา เพราะจีนไม่อาจจะยอมรับการมาแทรกแซงของสหรัฐฯในเรื่องนี้ได้

หวัง อี้บอกว่าแม้ว่าการเจรจาและความร่วมมือกับสหรัฐฯจะเพิ่มขึ้นใน "สาขาต่างๆ" แต่ในทางกลับกัน ปัจจัยลบในความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ยังคงเพิ่มขึ้นและยังสะสมเพิ่มขึ้นตลอดเวลา

หวัง อี้บอกบลิงเกนว่าปัญหาใหญ่อีกด้านหนึ่งคือการที่สหรัฐฯยังเดินหน้าสกัดจีนในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

เช่น การปิดกั้นการส่งออกเทคโนโลยี และการเผยแพร่เรื่องเล่าเท็จเกี่ยวกับกำลังการผลิตล้นเกินของอุตสาหกรรมจีนเพื่อทุ่มสินค้าจีนเข้าตลาดประเทศอื่น

บลิงเกนบอกว่า “จีนผลิตหนึ่งในสามของการผลิตทั่วโลก แต่เป็นอุปสงค์หนึ่งในสิบของโลก ดังนั้นจึงมีความไม่ได้สัดส่วนกันอย่างชัดเจน” บลิงเกนกล่าว

เขาตั้งข้อสังเกตว่าการอุดหนุนอย่างหนักของปักกิ่งสำหรับอุตสาหกรรมทำให้เกิดกำลังการผลิตล้นเกินในประเทศและมีการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศในราคาที่ต่ำมาก

ด้านความร่วมมือระหว่างสองยักษ์ใหญ่ก็มีหลายด้านที่มีความคืบหน้า

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมการขายสารตั้งต้นเฟนทานิลโดยบริษัทจีน

แต่ความขัดแย้งก็ทวีความรุนแรงขึ้นในทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนอ้างสิทธิ์เกือบทั้งหมด

เรือของจีนพยายามสกัดไม่ให้ฟิลิปปินส์ส่งเสบียงนาวิกโยธินบนเรือ Sierra Madre ซึ่งเกยตื้นอยู่ที่ Second Thomas Shoal อันเป็นแนวปะการังที่จมอยู่ใต้น้ำในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์

สหรัฐฯ เตือนว่าสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันกับฟิลิปปินส์ใช้กับเซียร์รา มาเดรได้

แปลว่าถ้าฟิลิปปินส์ร้องขอความช่วยเหลือในกรณีนี้ วอชิงตันอาจจะต้องทำตามพันธะกรณี

อันหมายความว่าสหรัฐฯอาจต้องเผชิญหน้ากับจีน

ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะสานต่อการแลกเปลี่ยนระหว่างกองทัพทั้งสองและการปรึกษาหารือในด้านอื่นๆ เช่น ความร่วมมือด้านการควบคุมยาเสพติด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัญญาประดิษฐ์

หวัง อี้เตือนสหรัฐฯ ไม่ให้ทำให้ความสัมพันธ์เสื่อมทรามจนกระทบเสถียรภาพและอาจเข้าสู่ “เกลียวก้นหอย”

อันจะทำให้กลายเป็นการการแข่งขัน การเผชิญหน้า และแม้แต่ความขัดแย้ง

บลิงเกนเยือนจีนเป็นครั้งที่สองในรอบหนึ่งปี

ตอบด้วยน้ำเสียงที่ระมัดระวัง และกล่าวว่า "การทูตที่แข็งขัน" เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อก้าวไปข้างหน้าตามวาระที่ไบเดน และนายสี ได้กำหนดไว้ในการพบกันที่ซานฟรานซิสโกครั้งล่าสุดเมื่อพฤศจิกายน ปีที่แล้ว

มีคลิปที่ส่งต่อกันในโซเชียลมีเดียที่ถูกกล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวาง

คลิปแรกเห็นสี จิ้นผิงยืนรอบลิงเกนมาจับมืออย่างกระวนกระวาย พร้อมถามเจ้าหน้าที่จีนที่ประสานงานว่า

“เขา (บลิงเกน) จะกลับวันไหน?”

คล้าย ๆ จะมีความรำคาญผู้มาเยือนจากวอชิงตันคนนี้ไม่น้อย

กับอีกภาพที่เห็นบลิงเกนจับมืออำลาทูตสหรัฐฯประจำปักกิ่งก่อนขึ้นเครื่องบินกลับไปอเมริกา

พร้อมคำบรรยายจากนักสังเกตการณ์บางคนว่า

“เห็นไหมว่าไม่มีเจ้าหน้าที่จีนแม้แต่คนเดียวมาส่งบลิงเกน แค่นี้ก็พอจะเดาออกมาบรรยากาศการมาเยือนจีนของบลิงเกนครั้งนี้อบอุ่นหรือเย็นชาเพียงใด”

ทั้งหมดนี้สะท้อนใน “อาการ” ที่แสดงออก แต่ไม่ได้ปรากฏในเนื้อหาของการแถลงข่าวจากทั้งสองฝ่าย

เพราะนี่เป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ ฉากของความสัมพันธ์ของสองมหาอำนาจโลกที่ยังมีอีกหลายตอนนัก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว