แม้ว่าการสู้รบในเมียวดี ตรงข้ามกับแม่สอดดูจะแผ่วลง เพราะมีการต่อรองผลประโยชน์สีเทากันระหว่างกลุ่มต่างๆ แต่สงครามในเขตอื่นๆ ทั่วประเทศพม่ายังหนักหน่วงรุนแรงต่อไป
สำหรับฝ่ายต่อต้านที่ดูเหมือนจะสร้างความได้เปรียบในสนามรบมาหลายเดือน แต่ก็กำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ตลอดเช่นกัน
นักวิเคราะห์ด้านยุทธศาสตร์ที่เกาะติดสถานการณ์สู้รบในพม่าในภาคต่างๆ ตั้งข้อสังเกตว่า ขณะที่นักรบชาติพันธุ์และพันธมิตรสามารถรุกคืบแย่งชิงพื้นที่จากฝั่งกองทัพพม่าได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องยกระดับการบังคับบัญชาเพื่อให้มีการบูรณาการกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยเฉพาะด้านการจัดการโลจิสติกส์และสายการจัดหาอาวุธ, อาหารและความช่วยเหลืออื่นๆ
รวมถึงการประสานงานการปฏิบัติงานร่วมขนาดใหญ่ที่ต้องการความเป็นเอกภาพทั้งในสนามรบและหน่วยสนับสนุนของทุกฝ่ายที่อาจจะไม่เคยมีประสบการณ์ของการทำงานร่วมกันมาก่อน
ปฏิบัติการ 1027 (เริ่มวันที่ 27 ตุลาคมของปีที่แล้ว) ที่เชื่อกันว่าบางส่วนได้รับการสนับสนุนอย่างลับๆ จากจีนนั้นเป็นสงครามเชิงยุทธศาสตร์ที่เป็นหัวใจของการกระหน่ำกองทัพพม่าเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันของการตั้งสหพันธรัฐแห่งเมียนมา
ผลที่ได้คือการที่พันธมิตรฝ่ายเหนือ 3 พี่น้องสามารถยึดการควบคุมพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐฉานเกือบทั้งหมดโดยมีผู้เสียชีวิตน้อยที่สุด
เป้าหมายต่อไปคือ การยึดเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศได้โดยไม่ต้องเข้าร่วมสงครามกึ่งหรือเต็มรูปแบบกับฝ่ายตรงข้าม
นักวิเคราะห์มองว่าเป้าหมายใหญ่อย่างนี้จะเกิดขึ้นได้มีเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องมีโครงสร้างการบังคับบัญชาที่เป็นเอกภาพทั่วประเทศ
รวมถึงการประสานงานปฏิบัติการร่วมระหว่าง EAO (กองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ) และกลุ่มต่อต้านอิสระที่อยู่ในเครือข่าย
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังคงมีความขัดแย้งและการไม่ลงรอยในหมู่กลุ่มต่อต้านหลายสิบกลุ่ม รวมถึงขุนศึกใน Shan, Chin, Karen และ Mon หรือในกลุ่มต่างๆ ในภาคกลางของพม่า พันธมิตรภาคเหนือ ประกอบด้วย KIA, TNLA และ MNDAA ซึ่งเริ่มปฏิบัติการ 1027 อย่างฮือฮา เพราะประสบความสำเร็จได้พอสมควร
แต่ลึกๆ แล้วก็มีปัญหาความระหองระแหงภายใน
อีกด้านหนึ่ง AA หรือกองกำลังอาระกันเพียงกลุ่มเดียวก็มิอาจสามารถรักษาสงครามระยะยาวในรัฐยะไข่ได้
ฝ่ายกองทัพพม่าของมิน อ่อง หลาย ตอบโต้สงครามโดรนในท้องถิ่นด้วยการสนับสนุนจากจีน รัสเซีย และอิหร่าน
เมื่อทหารรัฐบาลบาดเจ็บและล้มตายกันมากขึ้นก็หันไปจ้างทหารเกณฑ์และทหารผ่านศึกที่ขาดประสบการณ์สนามรบอย่างจริงจัง
มิหนำซ้ำยังหันไปเกณฑ์คนหนุ่มโรฮีนจาที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเหยื่อปราบปรามอย่างโหดร้ายของกองทัพในการช่วยรบด้วย
แสดงถึงการดิ้นรนอย่างหนักของฝ่ายกองทัพพม่าที่มีอาการหนักขึ้นอย่างมาก
เมื่อภาคพื้นดินเสียเปรียบ กองทัพพม่าก็หันไปใช้การโจมตีทางอากาศอย่างกว้างขวาง
เสริมด้วยปืนใหญ่ และการใช้อาวุธระเบิดเสริม
สัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวชายขอบอ้างกองทัพเพื่อประชาชนในเมืองมินดัท The Chinland Defense Force-Mindat (CDF-Mindat) เปิดเผยว่า กองทัพพม่าได้โจมตีทางอากาศ โดยทิ้งระเบิดโจมตีโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองมินดัท รัฐชิน ส่งผลให้มีคนไข้เสียชีวิต 2 ราย และได้รับบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก
นอกจากนั้นยังโจมตีเขตชุมชนที่อยู่รอบๆ โรงพยาบาลด้วย
อีกด้านหนึ่งคือ รัฐอาระกันซึ่งติดกับรัฐชินทางตะวันตกของพม่า บังกลาเทศได้ผลักดันทหาร เจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาชายแดน (BGF) และตรวจคนเข้าเมืองของพม่า 288 คน กลับไปยังฝั่งพม่า
เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้หนีการโจมตีจากกองทัพอาระกัน (Arakan Army-AA) ซึ่งสามารถยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ในรัฐอาระกันจากกองทัพพม่า
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ก็เคยเกิดเหตุการณ์ทหารพม่า 330 นาย ข้ามไปยังฝั่งบังกลาเทศมาแล้วครั้งหนึ่ง
สถานการณ์สู่รบในรัฐอาระกันอยู่ในช่วงเวลาสุ่มเสี่ยง เพราะกองทัพเสียฐานทัพหลายแห่งให้กับกองทัพอาระกัน
อีกด้านหนึ่งคือที่เมืองเล่าก์ก่าย ทางเหนือของรัฐฉานติดชายแดนจีน
สัปดาห์ที่ผ่านมากองกำลังโกก้าง ซึ่งคุมพื้นที่ในเมืองเล่าก์ก่ายได้ตัดสินประหารชีวิตเจ้าหน้าที่ของตน จำนวน 3 คน ข้อหาฆาตกรรม จับกุมตัวประชาชนเรียกค่าไถ่และอาชญากรรมออนไลน์
สำนักข่าวไทใหญ่ Tai TV Online รายงานว่า หลังการหยุดยิงระหว่างกองทัพพม่าและกลุ่มพันธมิตรที่ปฏิบัติการ 1027 ซึ่งประกอบด้วย กองกำลังโกก้าง MNDAA, TNLA และ AA ปรากฏว่าเริ่มส่อเค้าความขัดแย้งกับกลุ่มอื่นๆ ระหว่างกันมากขึ้น สาเหตุมาจากการควบคุมทับซ้อนกัน
กองกำลังปะหล่อง TNLA สั่งให้กองทัพคะฉิ่น KIA ถอนกำลังออกจากหมู่บ้านน้ำอุ๋ม ในเขตเมืองหมู่เจ้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ไม่ชัดแจ้งว่าทั้ง 2 ฝ่ายสามารถบรรลุความเข้าใจกันได้หรือไม่อย่างไร
สำนักข่าวชายขอบรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีเหตุสู้รบระหว่างกองทัพรัฐฉานเหนือ SSPP/SSA และกองกำลังโกก้างในเขตเมืองแสนหวี
โดยสื่อไทใหญ่วิเคราะห์ว่า เหตุตึงเครียดระหว่างกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้สร้างความกังวลใจให้กับประชาชนในพื้นที่ เพราะแต่ละกลุ่มต่างเร่งสร้างกองทัพตนให้แข็งแกร่งโดยการบังคับชาวบ้านไปร่วมรบ
บางแห่งก็มีการเรียกเก็บภาษีจากชาวบ้าน ซึ่งล้วนสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน
อีกด้านหนึ่งสำนักข่าว Irrawaddy รายงานว่า นับตั้งแต่วันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา ทางการพม่าไม่มีการส่งจดหมายแจ้งหรือเรียกตัวชายที่ถึงวัยเกณฑ์ทหารแล้ว
แต่เป็นการบังคับจับกุมตัวแทน โดยในขณะนี้เริ่มเกิดเหตุการณ์จับกุม ลักพาตัว เยาวชนในหลายเขตพื้นที่ทางตอนกลางของประเทศอย่างเขตย่างกุ้ง เขตอิรวดี เขตมะกวย และเขตพะโคแล้ว
โดยเยาวชนบางส่วนถูกจับตัวไปเป็นทหาร ในระหว่างที่กำลังอยู่ในที่ทำงาน หรืออยู่ตามร้านน้ำชา ตามถนน ขณะที่เยาวชนบางรายถูกจับตัวที่บ้านของตนในยามวิกาล
มีรายงานด้วยว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางกองทัพพม่าได้จับกุมเยาวชนราว 80 คน ที่อยู่ตามท้องถนน ในเมืองผิ่ว เขตพะโค ทั้งกองทัพพม่าประกาศใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ผลที่ตามมาคือเยาวชนได้หลบหนีออกจากประเทศจำนวนมาก
ภาพรวมทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่าสถานการณ์สู้รบในพม่ายังมีความผันผวนปรวนแปรอย่างยิ่ง
มีทั้งสีขาว-ดำ, สีเทา และสีช้ำเลือดช้ำหนองที่เป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาทางออกเพื่อสงบศึกและสันติภาพได้ยากยิ่งจริงๆ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว