เหตุโจมตีกันและกันเมื่อเมษา.ที่ผ่านมา เป็นการรบพอหอมปากหอมคอ แต่เป็นการปะทะโดยตรงครั้งแรกของสงครามที่คาดว่ารุนแรงในอนาคต
เหตุอิหร่านโจมตีอิสราเอลเมื่อ 13 เมษายน น่าสนใจมาก เป็นครั้งแรกที่เข้าโจมตีอิสราเอลโดยตรง ผู้นำสูงสุดอิหร่านชี้แจงเหตุผล บทความนี้ประมวลหลักคิดเบื้องต้นอิหร่านโจมตีอิสราเอล พร้อมการวิเคราะห์ดังนี้
ภาพ: อยาตุลเลาะห์ ซัยยิด อาลี คาเมเนอี
เครดิตภาพ: https://www.tehrantimes.com/news/496954/Israel-will-be-punished
จำต้องตอบโต้ไซออนิสต์:
ไม่กี่วันหลังอิสราเอลโจมตีกงสุลอิหร่านในซีเรีย นายทหารกับเจ้าหน้าที่หลายคนเสียชีวิต ฮัสซัน นัสรุลเลาะห์ (Hassan Nasrallah) ผู้นำฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนกล่าวว่า อิหร่านได้พลีชีพ (martyrdom) เสียสละเพื่อชาวปาเลสไตน์มาแล้วมากมาย เพราะไซออนิสต์กับอเมริกาต่อต้านอิหร่าน นำสู่การโจมตีกงสุล จากนั้นกล่าวโจมตีหลายประเทศในภูมิภาคที่เป็นมิตรกับสหรัฐว่าต้องรับโทษในฐานะอาชญากรไม่ต่างจากอิสราเอลกับสหรัฐ ชี้ว่าแม้สงครามฮามาส-อิสราเอลผ่านมาแล้ว 6 เดือนยังไม่สามารถทำลายฮามาส เพราะกองกำลังนี้แยกเป็นกลุ่มย่อยที่ปฏิบัติการโดยอิสระ
นอกจากนี้ฮามาสไม่ใช่แค่กองกำลังแต่เป็นอุดมการณ์ต่อสู้ปลดปล่อยตัวเองของปาเลสไตน์ที่ฝังรากลึกในชาวปาเลสไตน์ ไม่สามารถทำลายด้วยอาวุธทหาร ความล้มเหลวของกองทัพอิสราเอลส่งเสริมกลุ่มต่อต้านทั้งในเลบานอน อิรักและเยเมน
อิหร่านจำต้องตอบโต้ไซออนิสต์ในเหตุโจมตีกงสุลแน่นอน นำภูมิภาคเข้าสู่เฟสใหม่ (อิหร่านรบกับอิสราเอลโดยตรง) ขอให้กลุ่มกองกำลังทั้งหลายเตรียมพร้อมหากต้องทำสงครามเบ็ดเสร็จ
อยาตุลเลาะห์ ซัยยิด อาลี คาเมเนอี (Ayatollah Seyyed Ali Khamenei) ผู้นำสูงสุดอิหร่าน ใช้โอกาสนี้กล่าวโทษชาติมุสลิมบางประเทศว่า น่าผิดหวังที่ชาติอิสลามบางประเทศช่วยอิสราเอล “ทรยศต่อชนชาติอิสลาม (Islamic Ummah) ทรยศตัวเอง เอื้อให้ไซออนิสต์เข้มแข็งขึ้น” ที่ควรทำคือตัดขาดความสัมพันธ์เศรษฐกิจการเมืองกับไซออนิสต์ แต่ที่เราเห็นตอนนี้คือชาติอิสลามบางประเทศระงับความสัมพันธ์กับอิสราเอลชั่วคราว ไม่ช่วยเหลือไซออนิสต์ที่กำลังก่ออาชญากรรมเท่านั้น
ในขณะที่พวกไม่ใช่มุสลิมในหลายประเทศทั้งสหรัฐ ยุโรป แอฟริกา ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนชาวกาซา ปาเลสไตน์มากมายอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน
อิหม่ามคาเมเนอีพูดถูกต้องแล้ว ไม่นานนี้มีข่าวอินโดนีเซียคิดยอมรับรัฐอิสราเอลว่าเป็นประเทศถูกต้องตามกฎหมาย กลับลำนโยบายต่อต้านไซออนิสต์ แลกกับการที่อินโดนีเซียได้เป็นสมาชิก OECD กระแสข่าวปรับสัมพันธ์มีมาหลายปีแล้ว ทุกวันนี้แม้ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของคู่นี้อยู่ที่ 500 ล้านดอลลาร์ต่อปี อินโดนีเซียเป็นตัวอย่างอีกประเทศที่คิดญาติดีกับอิสราเอล
ลงโทษอิสราเอลและการโต้กลับ:
ทุกอย่างเป็นไปตามคาด อิหร่านเข้าโจมตีอิสราเอลโดยตรง สรุปปฏิบัติการหลังโจมตีเพียงรอบเดียวว่าบรรลุเป้าหมายแล้ว พร้อมกับเตือนอิสราเอลอย่าโต้กลับ อิหร่านไม่ต้องการทำสงคราม เป็นการตอบโต้เพื่อป้องกันตัวเองตามกฎบัตรสหประชาชาติ โจมตีเป้าหมายทางทหารเท่านั้น นอกจากนี้อิหร่านใช้อาวุธเพียงพอประมาณ ตอบโต้อย่างเหมาะสมเพื่อปกป้องอธิปไตย (ไม่ได้ประเมินจากความสูญเสียที่อิสราเอลต้องชดใช้)
นายอิบราฮิม ไรซี (Ebrahim Raisi) ประธานาธิบดีอิหร่านสดุดีความสำเร็จ กล่าวว่าปฏิบัติการโจมตีอิสราเอล “ให้ไซออนิสต์ได้บทเรียน” พร้อมเตือนว่าอิหร่านจะเล่นงานให้หนักขึ้นถ้าอิสราเอลโต้กลับ
อิหม่ามคาเมเนอีกชี้ว่าสถานกงสุลของประเทศใดเป็นอาณาเขตของประเทศนั้น เมื่อถูกโจมตีเท่ากับประเทศถูกโจมตี กล่าวอาลัยถึงนายทหารอาวุโส 2 นาย (สังกัด Quds Force) พร้อมกับเจ้าหน้าที่ทั้งหมดรวม 13 คนที่เสียชีวิต ประกาศว่า “ระบอบชั่วช้า (evil regime) ทำพลาดไปแล้วและต้องได้รับโทษ”
พร้อมกับประณามรัฐบาลตะวันตกที่สนับสนุนอิสราเอลสังหารชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ผู้บริสุทธิ์มากมายเสียชีวิต เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลตะวันตกแสดงความชั่วร้ายของพวกเขา กองทัพอิสราเอลใช้วิธีสกัดกั้นน้ำ อาหาร ไฟฟ้า สร้างความทุกข์ยากแก่คนกาซา
การโจมตีก่อคำถามว่าอิสราเอลจะโต้กลับหรือไม่อย่างไร
ไม่กี่วันต่อมาอิสราเอลโจมตีใจกลางประเทศอิหร่าน แต่เป็นการโจมตีเล็กน้อยเชิงสัญลักษณ์มากกว่า สรุปว่าทั้งคู่ต่างได้โจมตีดินแดนอีกฝ่าย ปะทะกันพอหอมปากหอมคอ
อิหร่านไม่ได้ใช้โอกาสนี้ “ลบอิสราเอลออกจากแผนที่โลก”
ที่เพิ่มเติมเข้ามาคือประกาศว่า “นับจากนี้เป็นต้นไปอิหร่านจะตอบโต้ทุกการโจมตีของอิสราเอลด้วยตนเองจากแผ่นดินตัวเอง หากผลประโยชน์ ทรัพย์สิน บุคคลสำคัญหรือพลเมืองอิหร่านถูกเล่นงาน”
หลายปีแล้วที่กองกำลังอิหร่านที่สนับสนุนในซีเรียโดนกองทัพอิสราเอลเล่นงานเป็นระยะ ส่วนใหญ่ด้วยการโจมตีทางอากาศ น่าเชื่อว่าบางครั้งมีคนของอิหร่านอยู่ด้วย ครั้งหน้าอิหร่านอาจตีความว่าอิสราเอลเล่นงานพลเมืองของตนจึงต้องโต้กลับ หากเป็นเช่นนั้นจริงอิหร่าน-อิสราเอลจะปะทะโดยตรงถี่ขึ้น
ไม่นำสู่สงครามใหญ่?:
ตั้งแต่เริ่มสงครามฮามาส-อิสราเอล หลายคนกังวลว่าสักวันอิหร่านคงได้สู้กับอิสราเอล ท่ามกลางไฟสงคราม อาจบานปลาย นานาชาติรวมทั้งพวกตะวันตกขอให้ทุกฝ่ายสงบศึก อันโตนิโอ กูเตอร์เรส (Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่า ไม่ว่าจะภูมิภาค (ตะวันออกกลาง) หรือโลก ต่างรับสงครามใหม่ไม่ได้อีกแล้ว (สงครามมีผลกระทบร้ายแรง) ทุกฝ่ายต้องอดกลั้นไม่ก่อสงคราม
หลายคนเกรงว่าจะนำสู่สงครามนิวเคลียร์ แม้อิสราเอลไม่ปฏิเสธและไม่ยอมรับว่ามีอาวุธนิวเคลียร์ (nondeclaratory policy) แต่นานาชาติยอมรับว่าอิสราเอลน่าจะมีนิวเคลียร์ 80-90 หัวรบและยังคงพัฒนาต่อเนื่อง รวมทั้งระบบปล่อยอาวุธ การจะต่อกรกับผู้มีอาวุธนิวเคลียร์จึงต้องไตร่ตรองอย่างรอบคอบ และในรอบนี้ผู้นำอิหร่านไม่หวั่นเกรงแต่อย่างใด (บางคนอาจชี้ว่าอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์เหมือนกัน) หากใช้นิวเคลียร์ย่อมทำให้ประเทศวอดวาย อารยธรรมถูกทำลายล้าง
เป็นไปได้ว่าอิหร่านคงประเมินแต่แรกว่าจะไม่เกิดสงครามใหญ่ อิหร่านไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น นานาชาติก็เช่นกัน ที่ต้องการคือให้บทลงโทษตามสมควรเท่านั้น ไม่คิดทำสงครามแตกหัก อย่างไรก็ตามการปะทะโดยตรงย่อมมีความเสี่ยงเกิดสงครามใหญ่ไม่มากก็น้อย
ครั้งนี้ที่อิหร่านไม่ตั้งใจทำสงครามใหญ่ไม่ได้หมายความว่าอิหร่านยกเลิกความคิด “ลบอิสราเอลออกจากแผนที่” นักวิชาการกับนักการศาสนาบางคนยืดมั่นเสมอว่าอิหร่านต้องรบกับไซออนิสต์อีกนาน เป็นคู่อาฆาตที่อยู่ร่วมโลกไม่ได้ ต่างฝ่ายต่างเชื่อมั่นว่าตนเป็นฝ่ายชนะ ภายใต้แนวคิดนี้ทั้งคู่รบกันมานานแล้ว ความเป็นไปในกาซา ปาเลสไตน์ กงสุลในซีเรียเป็นเพียงแค่ฉากเล็กๆ ของเรื่องราวทั้งหมดที่จะเดินหน้าสู่สงครามใหญ่ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
รวมความแล้วการปะทะโดยตรง การโต้กลับ ต่างฝ่ายน่าจะทำเป็นสัญลักษณ์เท่านั้น แต่ต้องบันทึกว่าเหตุโจมตีกันและกันเมื่อเมษายนที่ผ่านมาเป็นการปะทะโดยตรงครั้งแรกของสงครามที่คาดว่ารุนแรงในอนาคต
หลังการปะทะกันหอมปากหอมคอ สถานการณ์คลี่คลาย อยาตุลเลาะห์ ซัยยิด อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่านออกมากล่าวอีกครั้ง ชื่นชมกองทัพว่าได้แสดงอานุภาพแล้ว ที่สำคัญคือ นานาชาติได้เห็นเจตนาอันแน่วแน่ของประเทศอิหร่าน กองทัพอิหร่านจะพัฒนาต่อไป ทั้งด้านอาวุธกับยุทธวิธี เรียนรู้กลเม็ดฝ่ายตรงข้าม ขอให้ชาวอิหร่านทุกคนตระหนักศักยภาพกับทักษะของแต่ละคน เข้าใจคำสอนและยึดมั่นศรัทธาพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่
ถ้อยคำของอิหม่ามคาเมเนอีได้สรุปสถานการณ์อนาคตจากมุมมองฝั่งนี้แล้ว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เส้นทางสายไหมตะวันออกแห่งศตวรรษที่21
BRI จะเป็นแค่การพัฒนาร่วมหรือเป็นยุทธศาสตร์ครองโลกของจีนเป็นที่ถกแถลงเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรนานาชาติเฝ้าติดตาม จริงหรือเท็จกาลเวลาจะให้คำตอบ
ท่าทีความมั่นคงของเนทันยาฮู2024 (2)
เนทันยาฮูย้ำว่า อิสราเอลหวังอยู่ร่วมกับนานาชาติโดยสันติ แต่กระแสโลกต่อต้านอิสราเอลส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของอิสราเอล นโยบายกับความจริงจึงย้อนแย้ง
ท่าทีความมั่นคงของเนทันยาฮู 2024 (1)
บัดนี้สถานการณ์ชี้ชัดแล้วว่าอิสราเอลกำลังจัดการฮิซบุลเลาะห์ต่อจากฮามาส ทำลายอิหร่านกับสมุนให้เสียหายหนัก
เลือกตั้งสหรัฐ2024เลือกสังคมนิยมหรือฟาสซิสต์
ทรัมป์ชี้ว่าแฮร์ริสเป็นพวกสังคมนิยม ส่วนแฮร์ริสชี้ว่าทรัมป์เป็นเผด็จการ สหรัฐกำลังเข้าสู่การเลือกระหว่าง “สังคมนิยม” กับ “ฟาสซิสต์”
ทรัมป์จะเป็นเผด็จการหากชนะอีกสมัย?
หากได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัยและปกครองแบบเผด็จการ ก็ต้องถือว่าเป็นเผด็จการที่มาจากความต้องการของคนอเมริกันตามระบอบประชาธิปไตยสหรัฐ
ทรัมป์คุกคามโลกเสรีประชาธิปไตย?
การที่ทรัมป์แสดงท่าทีเป็นมิตรต่อรัสเซีย จีน อาจไม่ปกป้องสมาชิกนาโต ชวนให้ตั้งคำถามว่าทรัมป์เป็นภัยคุกคามโลกเสรีประชาธิปไตยหรือไม่