ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

แต่แกไม่ยักแวะมาประเทศไทย

ทั้งๆ ที่เมื่อเดือนก่อนหน้านั้น นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน บอกว่าทิม คุก ขอมาพบตอนไปเยือนอเมริกา และได้ “แสดงความสนใจ” ที่จะ “ศึกษาความเป็นไปได้” ที่จะมาลงทุนในไทย

แต่แล้วเรื่องก็เงียบหายไป

มาเป็นข่าวอีกที แกก็ขึ้นภาพและข้อความ ถ่ายเซลฟีกับคนรุ่นใหม่ที่เป็นมันสมองด้านเทคโนโลยีของเพื่อนบ้านเรา

เพราะ Apple ไปเปิดสถาบันบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ให้เรียนรู้เทคโนโลยีที่สอดคล้องกับการขยายตัวของธุรกิจของเขาในประเทศเหล่านั้น

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ China Plus One ของหลายๆ บริษัทที่เริ่มจะหวาดหวั่นต่อความไม่แน่นอนของจีน

ยุทธศาสตร์นี้สำหรับ Apple หมายถึงการโอนฐานการผลิตส่วนหนึ่งจากจีนมายังประเทศใกล้เคียงในอาเซียน

เพราะเศรษฐกิจจีนเริ่มเจอปัญหาเรื่องอสังหาริมทรัพย์ และบทเรียนจากช่วงโควิด ทำให้บริษัทต่างๆ ต้อง “ลดความเสี่ยง” ด้วยการกระจายการลงทุนออกไปประเทศอื่นๆ

เวียดนามและอินโดนีเซียเป็นสองประเทศที่ Apple เลือก

ทิม คุก บอกว่า Apple จะมุ่งเน้นไปที่เวียดนามมากขึ้น และขยายความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์ หรือ supply chain ในประเทศและลงทุนมากขึ้นในภูมิภาค

เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ทิม คุก ต้องทบทวนยุทธศาสตร์เกิดในปี 2022 เมื่อโรงงานของ Foxconn ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ของ Apple ปิดตัวลงเนื่องจากการระบาดของโควิด-19

เป็นจังหวะที่จีนมีนโยบายควบคุมโรคระบาดอย่างเข้มงวด ทำให้แผนการผลิตถูกกระทบ ซ้ำเติมด้วยปัญหาแรงงานเมื่อคนงานประท้วงว่านายจ้างเข้มงวดเกินเหตุ

การหยุดชะงักในกระบวนการผลิตครั้งนั้นส่งผลให้เกิดการขาดแคลน iPhone ประมาณ 6 ล้านเครื่อง

ทำให้ Apple สูญเสียรายได้ไปมหาศาล

หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น Apple เริ่มมองหาวิธีในการกระจายห่วงโซ่อุปทานไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

เวียดนามและอินเดียกลายเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญในการขยายการดำเนินงานสำหรับการผลิตสินค้าตัวสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น AirPods, Apple Watch และล่าสุดคือ iPad

อีกเหตุผลหนึ่งที่สอดคล้องกับการขยับมาเวียดนาม ก็เพราะซัพพลายเออร์หลักหลายรายของ Apple เช่น Foxconn และ Luxshare ก็มีความแข็งแกร่งในประเทศนั้นเช่นกัน

ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา Apple ได้ลงทุนประมาณ 16 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณเกือบ 6 แสนล้านบาท) เพื่อตั้งฐานการผลิตในเวียดนาม

อีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้บริษัทยักษ์ๆ ต้องปรับแผน ก็เพราะความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลสหรัฐฯ สั่งห้ามบริษัทจีนไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง ควบคู่ไปกับข้อกล่าวหาว่าจีนทำให้บางภาคส่วนมีสินค้าราคาถูกท่วมตลาดของประเทศอื่น ก็ยิ่งทำให้ระดับความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้นอีก

และที่มองข้ามไม่ได้คือ Apple เผชิญกับยอดขายที่ลดลงในประเทศจีนด้วยเช่นกัน เพราะการแข่งขันจากยี่ห้อจีน และเพราะเศรษฐกิจที่ซึมลงทำให้อำนาจซื้อของชนชั้นกลางจีนอ่อนแอตามไปด้วย

โดยยอดขาย iPhone หดตัวลง 24% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ก็เพราะยอดขายที่ลดลงประกอบกับภาวะการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากยี่ห้อแบรนด์สมาร์ทโฟนจีน ส่งผลให้การจัดส่ง iPhone ลดลง 10% ในไตรมาสแรกของปีนี้

นั่นแปลว่า Apple ต้องสูญเสียตำแหน่งผู้ขายสมาร์ทโฟนอันดับต้นๆ ของโลกให้กับ Samsung

จึงพอจะสรุปได้ว่าเวียดนามมีความสำคัญต่อ Apple มากขึ้น เพราะบริษัทพยายามที่จะกระจายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน

ทิม คุก เข้าพบนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ฝ่าม มิงห์ จิ่ง เพื่อตอกย้ำถึงนโยบายที่จะมาขยายการลงทุนในประเทศนั้นอย่างต่อเนื่อง

ในการแถลงข่าว ทิม คุก บอกว่า “ไม่มีประเทศไหนเหมือนเวียดนาม เพราะเป็นดินแดนที่มีชีวิตชีวาและมีธรรมชาติที่สวยงาม”

พร้อมทั้งเสริมว่าการลงทุนของ Apple ในเวียดนามเพิ่มขึ้นสองเท่านับตั้งแต่ปี 2019

ทิม คุก เข้าคลุกคลีกับคนรุ่นใหม่อย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา โปรแกรมเมอร์ และผู้สร้างเนื้อหาบนโซเชียลมีเดีย

ความจริง Apple เริ่มบุกเข้าเวียดนามเมื่อกว่าทศวรรษที่แล้ว และถึงวันนี้ได้สร้างงานมากกว่า 200,000 ตำแหน่งที่นั่น

เวียดนามวันนี้จึงกลายเป็นหนึ่งในห้าผู้ผลิตเกมมือถือชั้นนำของโลก

เวียดนามได้ก่อร่างสร้างฐานสำหรับการลงทุนของ Apple มายาวนาน ดูได้จากที่มีซัพพลายเออร์ 26 ราย และมีโรงงาน 28 แห่งในเวียดนาม

ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในจังหวัดทางตอนเหนือ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับห่วงโซ่อุปทานที่มีอยู่ในจีนตอนใต้ได้อย่างง่ายดาย

เวียดนามตอนเหนือยังเป็นศูนย์กลางในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในอดีตและมีแรงงานที่มีทักษะราคาถูก

จากเวียดนาม ทิม คุก ก็บินไปอินโดนีเซียเพื่อพูดคุยกับประธานาธิบดีโจโก วิโดโด เรื่องจะไปขยายการลงทุนที่นั่นเช่นกัน

อินโดฯ เป็นประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 “เราได้พูดคุยเกี่ยวกับความปรารถนาของประธานาธิบดีที่จะเห็นการผลิตในประเทศ และนั่นเป็นหัวข้อที่เรากำลังพิจารณาอยู่” ทิม คุก บอกนักข่าวหลังพบผู้นำอินโดฯ

 “ความสามารถในการลงทุนในอินโดนีเซียไม่มีที่สิ้นสุด มีสถานที่ดีๆ มากมายให้ลงทุนและเรากำลังลงทุน” เขากล่าวเสริม

แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดของแผนการลงทุนในด้านใดเป็นพิเศษ

แต่ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน Apple ได้ประกาศแผนการที่จะส่งเสริมการลงทุนในอินโดนีเซีย โดยจะเริ่มด้วยการเปิด Apple Developer Academy แห่งที่สี่ของประเทศในบาหลี

สถาบันนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อบ่มเพาะผู้มีความสามารถด้านเทคโนโลยีในระบบเศรษฐกิจแอป iOS ที่กำลังเติบโตของประเทศ โดยมุ่งเน้นที่การสอนการเขียนโค้ดและการออกแบบ

รัฐมนตรีอุตสาหกรรมอินโดฯ Agus GumiwangKartasasmita บอกว่า Apple ได้ลงทุนเป็นเงินรวม 1.6 ล้านล้านรูเปีย (ประมาณ 3,500 ล้านบาท) ในสถาบันทั้ง 4 แห่งในอินโดนีเซีย

รัฐบาลอินโดฯ ได้ขอให้ Apple จัดตั้งสถาบันการศึกษาอีกสองแห่ง แห่งหนึ่งอยู่ในอินโดนีเซียตะวันออก และอีกแห่งในเมืองหลวงใหม่บนเกาะบอร์เนียว

อินโดฯ เตรียมย้ายเมืองหลวงจากจาการ์ตาไปยังนูซันตาราในเดือนสิงหาคม

ประธานาธิบดีโจโกวีขอให้ทิม คุก เข้าร่วมโครงการ “เมืองอัจฉริยะ” ในเมืองหลวงแห่งใหม่อีกด้วย

อินโดฯ เพิ่งออกกฎใหม่ให้บริษัททั้งหลายเพิ่มสัดส่วนของชิ้นส่วนที่ทำในประเทศเพิ่มส่งเสริมการผลิตของประเทศ

เมื่อปี 2022 รัฐบาลได้เพิ่มจำนวนชิ้นส่วนและส่วนประกอบในประเทศที่ Apple ต้องใช้ในสมาร์ทโฟนเป็น 35% ของมูลค่าในปีนั้น

โดยเพิ่มจาก 20% ในปี 2016

ด้วยเหตุผลที่ว่าซอฟต์แวร์ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดการจัดซื้อในท้องถิ่น Apple จึงได้จัดตั้งฐานการฝึกอบรมทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2018

การประกาศล่าสุดถือเป็นการตอบสนองต่ออัตราส่วนการจัดซื้อในประเทศที่สูงขึ้น

การจัดซื้อซอฟต์แวร์ในประเทศนั้นคำนวณจากปัจจัยต่างๆ รวมถึงการออกแบบ สิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา และการจ้างงานด้วย

ทุกวันนี้ Apple มีส่วนแบ่ง 11.57% ของตลาดโทรศัพท์มือถือของอินโดนีเซีย

ตามข้อมูล ณ เดือนมกราคม ของ Statista ผู้นำตลาดคือ Oppo โดยมีส่วนแบ่งเกือบ 18%

ตามมาด้วย Samsung ที่ประมาณ 17.44%

ทั้งหมดพอจะอธิบายได้ไหมว่าทำไมทิม คุก จึงไม่แวะประเทศไทย?

หรือรัฐบาลไทยยังต้องการการวิเคราะห์ที่ต้องลึกและกว้างกว่านี้...เพื่อบอกประชาชนคนไทยว่า

เวียดนาม, อินโดฯ มีอะไรที่ไทยเรายังไม่มี?.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว