อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร
การสู้รบในฉนวนกาซาระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นพรรคพวกของอิหร่านครั้งล่าสุดถึงวันนี้นานกว่า 6 เดือนแล้ว
ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตไปแล้วกว่า 33,000 คน
วันที่ 13 เมษายน คือวันที่อิหร่านเปิดศึกถล่มดินแดนของอิสราเอลเป็นครั้งแรก
หลังจากที่เมื่อวันที่ 1 เมษายน อิสราเอลทิ้งระเบิดใส่สถานกงสุลอิหร่านที่กรุงดามัสกัส, ประเทศซีเรีย, สังหารเจ้าหน้าที่ไป 13 คน
ในจำนวนนี้คือนายพลคนสำคัญของอิหร่านอย่างน้อย 2 คน
ทำให้อิสราเอลตอบโต้ในวันที่ 19 เมษายน ต่อเป้าหมายในอิหร่าน
แม้ว่าการตอบโต้จากฝั่งอิสราเอลไม่รุนแรงอย่างที่คาดการณ์ แต่ก็ถือได้ว่าทั้ง 2 ประเทศได้ “เปิดหน้าชก” กันแล้ว โดยไม่ต้องอาศัย “ตัวแทน” มาทำหน้าที่ช่วยฟาดฟันอีกฝ่ายหนึ่งแต่อย่างใด
อาจเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ หากจะบอกว่าครั้งหนึ่งในอดีต อิหร่านและอิสราเอลเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกันด้วยซ้ำ
อิหร่านยอมรับการสถาปนาประเทศอิสราเอลในปี 1948
ความสัมพันธ์ช่วงที่ยังหวานชื่นกันนั้นตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับความตึงเครียดทุกวันนี้
อิหร่านเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมเป็นส่วนใหญ่
เป็นอันดับ 2 รองจากตุรกีที่ยอมรับอิสราเอลหลังจากการก่อตั้งในปี 1948 ท่ามกลางการต่อต้านอย่างรุนแรงจากประเทศอาหรับอื่นๆ ที่ทำสงครามโดยตรงกับอิสราเอล
ตอนนั้นอิหร่านไม่ได้ร่วมสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งแรก
และได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล หลังจากที่สงครามได้รับชัยชนะ
ขณะนั้นอิหร่านเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวยิวที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ความสัมพันธ์ฉันมิตรเกิดขึ้นภายใต้พระเจ้าชาห์ โมฮัมเหม็ด เรซา ปาห์ลาวี และนายกรัฐมนตรีคนแรกของอิสราเอล เดวิด เบน-กูเรียน
ผู้นำอิสราเอลที่เพิ่งเกิดพยายามสร้างพันธมิตรกับตุรกีและอิหร่านเพื่อต่อต้านความเป็นปรปักษ์จากรัฐอาหรับที่ยืนอยู่ข้างเดียวกับปาเลสไตน์ที่ต่อต้านการ “รุกราน” ของยิวต่อดินแดนของพวกเขา
ตอนนั้นอิหร่านขายน้ำมันให้อิสราเอล ซึ่งเผชิญมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจโดยรัฐอาหรับ
อิสราเอลตอบสนองท่าทีอันเป็นมิตรของอิหร่านด้วยการให้หน่วยข่าวกรอง “มอสสาด” ฝึกอบรมตำรวจลับ “ซาวัค” ผู้น่าเกรงขามของพระเจ้าชาห์
ต้องสังเกตด้วยว่าขณะนั้นทั้งกษัตริย์ชาห์และอิสราเอลได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาเหมือนกัน
อิสราเอลก่อตั้งสถานทูตในกรุงเตหะราน และแลกเปลี่ยนเอกอัครราชทูตในช่วงทศวรรษ 1970
จากนั้นความสัมพันธ์ทางการค้าก็เจริญรุ่งเรือง เคียงข้างกับความร่วมมือทางทหารและความมั่นคงระหว่างทั้ง 2
แต่แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไปชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ หลังการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านปี 1979
นั่นคือเหตุการณ์ที่พระเจ้าชาห์ถูกโค่นล้ม และฝ่ายปฏิวัติสถาปนารัฐทางศาสนา
อยาตุลลอฮ์ รูฮอลลอฮ์ โคมัยนี นำเสนอมุมมองใหม่ที่สนับสนุนศาสนาอิสลาม และมองว่าอิสราเอลเป็นผู้ครอบครองดินแดนปาเลสไตน์เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง
โคไมนีเรียกอิสราเอลว่า "ซาตานตัวน้อย" และตราหน้าสหรัฐเป็น "ซาตานผู้ยิ่งใหญ่"
อิสราเอลประกาศไม่ยอมรับรองสาธารณรัฐอิสลามใหม่
เป็นผลให้อิหร่านตัดความสัมพันธ์ทั้งหมดกับอิสราเอล
จากนั้นก็ประกาศปิดกั้นการเดินทางและเส้นทางการบินไปยังประเทศยิว
ซ้ำเติมด้วยการเปลี่ยนสถานทูตอิสราเอลเป็นสถานทูตปาเลสไตน์
อิหร่านยังพยายามที่จะขยายอิทธิพลของตนในตะวันออกกลาง โดยขัดแย้งกับซาอุดีอาระเบียและอิสราเอล ซึ่งเป็นมหาอำนาจที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ
นั่นคือจุดเริ่มต้นของสงครามตัวแทน
แม้ว่าการเชื่อมโยงทางการค้าอย่างไม่เป็นทางการระหว่างอิหร่านและอิสราเอลยังมีอยู่ในช่วงที่ความสัมพันธ์เริ่มตึงเครียด แต่อาการความเสื่อมถอยของทั้ง 2 ก็ชัดขึ้นทุกที
ท้ายที่สุด “สงครามเงา” ก็อุบัติขึ้นระหว่างทั้ง 2
อิหร่านได้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธตัวแทนและกลุ่มต่างๆ ในประเทศใกล้เคียงเช่น ซีเรีย อิรัก เลบานอน และเยเมน
โดยมีการส่งเงินสนับสนุนและการฝึกอาวุธให้อย่างต่อเนื่อง
ญิฮาดอิสลามกลายเป็นหนึ่งในองค์กรปาเลสไตน์กลุ่มแรกที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน และจับอาวุธลุกขึ้นต่อต้านอิสราเอลอย่างเปิดเผย
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทั้ง 2 ประเภทก็จ้องจะประหัตประหารกันในทุกรูปแบบทั่วตะวันออกกลางผ่านสิ่งที่เรียกว่า “สงครามตัวแทนลับ”
มีการกล่าวหาว่าอิสราเอลลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ชาวอิหร่าน และพยายามบ่อนทำลายที่ตั้งของสถานีปรมาณูในสาธารณรัฐอิสลาม
มีการกล่าวหาเช่นกันว่า อิสราเอลทิ้งระเบิดสนามบินในซีเรีย เพื่อขัดขวางการขนส่งอาวุธของอิหร่าน
ในทางกลับกัน อิหร่านถูกสงสัยว่าก่อเหตุวางระเบิดและโจมตีด้วยปืนโดยมุ่งเป้าไปที่ชาวยิวตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
ในปี 2010 เชื่อกันว่าสหรัฐและอิสราเอลได้พัฒนาไวรัสคอมพิวเตอร์ที่เป็นอันตรายที่เรียกว่า Stuxnet ซึ่งมีการกล่าวหาว่าได้สร้างความเสียหายอย่างกว้างขวางต่อโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน
อีกกรณีหนึ่งคือการโจมตีทางไซเบอร์ครั้งแรกที่เปิดเผยต่อสาธารณะต่อเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่โยงกับอิหร่าน
โดยอ้างว่าที่มีผลทำลายเครื่องหมุนเหวี่ยงจำนวนมากในโรงงานเสริมสมรรถนะยูเรเนียม Natanz ของอิหร่าน
นับแต่ปี 1979 ผู้นำอิหร่านทุกคนเรียกร้องให้จัดการกับอิสราเอล และแสดงท่าทีต่อต้านการยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ของอิสราเอลเพื่อเป็นการตอบโต้ อิสราเอลยังได้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อยับยั้งการโจมตีที่อาจเกิดขึ้นจากอิหร่านอีกด้วย
ความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู เรียกโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านเป็น “ความผิดพลาดครั้งประวัติศาสตร์”
จากนี้ไปความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศนี้จะเป็นดัชนีชี้อนาคตของโลกเคียงคู่กับสงครามยูเครน
ซึ่งมีผลแบ่งโลกเป็น 2 ขั้วมหาอำนาจ...จีนกับรัสเซียยืนอยู่คนละข้างกับโลกตะวันตกที่นำโดยสหรัฐ ทั้งในสงครามตะวันออกกลางและยุโรป
ซึ่งอาจจะบานปลายมาหลอกหลอนในเอเชีย...ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งว่าด้วยไต้หวัน, เกาหลีเหนือหรือทะเลจีนใต้!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว