Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

 “โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด

ขณะที่ในมุมของ “เศรษฐกิจ” รัฐบาลก็ได้ยืนยันว่าประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย และเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในอนาคต สำหรับการกำหนดนโยบายที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย และที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะซึม จำเป็นจะต้องมีมาตรการที่เข้ามากระชากเพื่อให้เศรษฐกิจโงหัวขึ้นมาให้ได้ ร่วมกับมาตรการอื่นๆ” จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ระบุ

ด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกบทวิเคราะห์ โดยระบุว่า โครงการ Digital Wallet นั้น คาดว่าจะกระตุ้นค้าปลีกปี 2567 เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมเพียง 1% ทั้งนี้ มองว่าโครงการจะส่งผลต่อยอดค้าปลีกมากน้อยเพียงใด ยังขึ้นอยู่กับหลายเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดพื้นที่และประเภทร้านค้า นอกเหนือจากประเด็นทางกฎหมาย รวมถึงระบบการใช้งานของแอปพลิเคชันที่ยังต้องรอติดตาม ซึ่งการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ อาจส่งผลต่อร้านค้าปลีกและพฤติกรรมการใช้เงินของผู้บริโภคที่แตกต่างกัน

โดย “การกำหนดพื้นที่ในการใช้เงินต้องอยู่ในพื้นที่ตามทะเบียนบ้านเท่านั้น ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้เงินของผู้บริโภคที่แตกต่างกัน โดยผู้บริโภคอยู่นอกภูมิลำเนา มีราวๆ 6.6 ล้านคน อาจมีช่วงเวลาให้ใช้จ่ายสั้น และต้องวางแผนการเดินทางเพื่อกลับไปใช้จ่าย เช่น วันหยุดเทศกาลปีใหม่ ส่งผลให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้อาจจำเป็นต้องเร่งใช้เงิน และเลือกซื้อสินค้าที่มีมูลค่าต่อครั้งสูงๆ เช่น กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า มือถือ หรือของใช้ส่วนตัวที่จำเป็นและซื้อในปริมาณมากๆ จึงทำให้การใช้จ่ายอาจกระจุกตัวอยู่แค่บางร้านค้าและบางสินค้าเท่านั้น ส่วนผู้บริโภคที่พำนักอยู่ในภูมิลำเนา อาจไม่จำเป็นต้องรีบใช้จ่าย และสามารถซื้อสินค้าที่มีมูลค่าครั้งละไม่มากได้ การใช้เงินอาจจะกระจายได้ในร้านค้าและสินค้าที่หลากหลายกว่า

 “การกำหนดเงื่อนไขประเภทของร้านค้าและการถอนเงินสด อาจจำกัดร้านที่เข้าร่วมโครงการ โดยเฉพาะร้านค้าเดิมที่อยู่นอกระบบภาษี” โดยร้านค้าที่จะลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ คงจะต้องชั่งน้ำหนักความคุ้มค่า ทั้งในมิติของยอดขายจากการคาดเดาพฤติกรรมของผู้บริโภคว่าจะใช้จ่ายอย่างไร รวมถึงในมิติของการถอนเงินตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยหากเป็นร้านค้าขนาดเล็กที่ต้องการเงินสดในทันที และเดิมไม่ได้อยู่ในระบบภาษี อาจจะรู้สึกได้ถึงความไม่คุ้มค่า จนอาจตัดสินใจที่จะไม่เข้าร่วมโครงการ ทำให้ร้านค้าที่จะเข้าร่วมสุดท้ายแล้วอาจมีจำนวนน้อยกว่าที่คาดหวัง ส่งผลให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือการกระจายรายได้ไปยังร้านต่างๆ อย่างทั่วถึงก็จะจำกัดลงตาม

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า หาก Digital Wallet สามารถดำเนินการได้ทันทีในไตรมาส 4 ตามแผนที่วางไว้ อาจส่งผลให้ยอดขายค้าปลีกปี 2567 โต 4% ขยับขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะโต 3% กรณีไม่มีมาตรการ หรือเพิ่มขึ้นไม่มาก ราว 1% โดยประเมินจากการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคบนฐานธุรกิจค้าปลีกที่น่าจะเพิ่มไม่ถึง 0.55 บาท หากผู้บริโภคมีรายได้เพิ่ม 1 บาท (Marginal Propensity to Consume : MPC) ภายใต้สมมติฐานธุรกรรมที่เกิดขึ้น 2 รอบ และราว 2 ใน 3 ตกในไตรมาส 4 ซึ่งนอกจากผลของการกำหนดเงื่อนไขในการใช้ Digital Wallet จะมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของยอดขายค้าปลีกแล้ว ยังมีเหตุผลอื่นมาจากยอดขายค้าปลีกส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งผู้บริโภคมีการวางแผนใช้จ่ายอยู่แล้ว ทำให้การใช้จ่ายกรณีที่มีมาตรการอาจไม่ได้เพิ่มขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก แต่เป็นเพียงการนำเงิน Digital Wallet ที่ได้จากรัฐมาใช้แทนเงินในส่วนของตัวเอง

และหากมาตรการมีความล่าช้า รวมถึงผู้บริโภคบางกลุ่มที่ไม่ได้ติดปัญหาเรื่องการกลับไปใช้เงินที่ภูมิลำเนา ก็อาจมีการทยอยใช้เงินหรือวางแผนใช้เงินในปีหน้า จึงอาจส่งผลดีต่อยอดขายของค้าปลีกในปี 2568 แทน ดังนั้นผลของมาตรการอาจไม่ได้หนุนผู้ประกอบการค้าปลีกให้มียอดขายที่ดีขึ้นเท่ากันทุกราย แต่ก็มองว่า Digital Wallet หากสามารถดำเนินการได้ตามแผน ก็จะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนบรรยากาศหรือสร้างยอดขายให้กับธุรกิจค้าปลีกในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงต้นปีหน้าได้.

 

ครองขวัญ รอดหมวน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตา “AI” เปลี่ยนตลาดแรงงานทั่วโลก

ปัจจุบันต้องยอมรับว่า AI เข้ามามีบทบาท และมีประโยชน์ในภาคธุรกิจหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการตลาดที่ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจพฤติกรรมลูกค้ามากขึ้น หรือแม้กระทั่งการใช้ AI เพื่อวิเคราะห์ธุรกิจในหลากหลายมิติ ถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของภาคธุรกิจในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จุดเปลี่ยนผ่านอุตฯยานยนต์

จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ประเทศไทยเริ่มเห็นทิศทางอุตสาหกรรมใหม่ๆ มากขึ้น และเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนากลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ ทั้งเครื่องมือแพทย์

บี้เร่งสปีดแหลมฉบังเฟส 3

เมื่อพูดถึงโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นโครงการเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

“ความยั่งยืน” โอกาสการเติบโตทางธุรกิจ

สภาวะโลกร้อนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน เป็นตัวเร่งที่ทำให้ทั้งโลกต้องหันมาให้ความสนใจการไปต่อของโลกอย่างยั่งยืนมากขึ้น

เจาะกลยุทธ์“อาร์ตทอย”ตัวท็อปสุดแรร์

กระแสความนิยม “อาร์ตทอย” (Art Toy) เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในไทยซึ่ง “อาร์ตทอย” ไม่ได้เป็นเพียงแค่ของเล่นสำหรับเด็กเท่านั้น แต่กลายเป็นของเล่นและของสะสมที่มีการออกแบบสะท้อนถึงตัวตนและความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินผู้สร้างสรรค์

รณรงค์ใช้สินค้าไทย

ข่าวการปิดตัวโรงงานการผลิตของรถยนต์ ซูบารุ และซูซูกิ ในประเทศไทย เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยในขณะนี้อยู่ในช่วงที่อ่อนแอ เพราะไม่เพียงอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปเท่านั้นที่กำลังสั่นคลอน แต่อีกหลายอุตสาหกรรมของไทยก็กำลังประสบปัญหา