ยิ่งนับวันเกาหลีเหนือก็ยิ่งขยับใกล้รัสเซียมากขึ้น...หลักฐานอาวุธจากเปียงยางไปปรากฏในสมรภูมิยูเครนตอกย้ำว่า “คิม จองอึน” กับ “วลาดิมีร์ ปูติน” กำลังสานสัมพันธ์ใกล้ชิดมากขึ้นทุกวัน
อเล็กซานเดอร์ มัตเซโกรา เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำเกาหลีเหนือบอกว่า ปีนี้จะเป็น "ปีที่ก้าวหน้า" สำหรับความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศ
ปูตินแห่งรัสเซียเตรียมเยือนเปียงยางในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเพื่อพบปะกับผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จองอึน
เป็นการตอบแทนการเยือนรัสเซียตะวันออกไกลของคิมเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว
หากการเดินทางครั้งนี้เกิดขึ้น ถือเป็นการเยือนเปียงยางครั้งแรกของปูตินนับตั้งแต่ปี 2000
ปีนั้นปูตินไปพบกับคิม จองอิล พ่อของผู้นำเกาหลีเหนือคนปัจจุบัน
กิจกรรมระหว่างสองประเทศยืนยันความสนิทสนมที่เพิ่มระดับขึ้นอย่างชัดเจน
ปีที่แล้ว กระทรวงวัฒนธรรมรัสเซียส่งคณะผู้แทนอาวุโสไปยังเกาหลีเหนือเพื่อรำลึกครบรอบ 75 ปีความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมทวิภาคี
ชี้ให้เห็นว่าปูตินและคิมจะพยายามยกระดับความร่วมมือให้ครบทุกมิติ
รวมถึงความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการทหาร โดยรวมถึงการสร้างการเชื่อมโยงทางสังคมและเศรษฐกิจ
ตัวเลขการท่องเที่ยวระหว่งกันก็กำลังเพิ่มสูงขึ้น
โดยชาวรัสเซียกลับมาเที่ยวรีสอร์ตสกี Masikryong ของเกาหลีเหนือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด
คนเกาหลีเหนือไปเยือนรัสเซียเพิ่มขึ้นห้าเท่าในปี 2023 จากปีก่อนหน้า
เขตเศรษฐกิจพิเศษ Rason ของเกาหลีเหนือ ซึ่งติดกับชายแดนทางรถไฟและท่าเรือเชื่อมต่อกับรัสเซีย ขณะนี้มีความคึกคักและพร้อมที่จะคึกคักเพิ่มขึ้นอีก...หากคิมและปูตินบรรลุข้อตกลงทางการค้าและการลงทุนฉบับใหม่
ภายใต้ข้อตกลงค้าอาวุธแลกกับอาหารซึ่งตกลงกันได้เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เครมลินกำลังได้รับอาวุธสำหรับทำสงครามในยูเครน
มอสโกก็ตอบแทนด้วยการจัดหาอาหารและสินค้าโภคภัณฑ์ที่จำเป็นอื่นๆ ให้กับเกาหลีเหนือซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนอาหารการกินอย่างหนักในหลายเขตโดยเฉพาะในจังหวัดที่ห่างไกล
น้ำมันเป็นสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญอีกชนิดหนึ่งที่รัสเซียจัดหาให้ โดยประเมินว่าอยู่ที่ 20% ถึง 50% ของการนำเข้าจากจำนวนได้รับอนุญาตภายใต้มาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติ
ความร่วมมือด้านอาวุธดูจะมีความน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะผู้นำทั้งสองมีความทุ่มเทกับเรื่องทำสงครามเป็นพิเศษ
รัสเซียให้การสนับสนุนโครงการขีปนาวุธของคิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยียานส่งจรวดที่ใช้ซ้ำได้
นั่นสามารถช่วยให้เกาหลีเหนือส่งหัวรบนิวเคลียร์แบบกำหนดเป้าหมายได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ในเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้เอง นักวิชาการจากศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการต่างประเทศในวอชิงตันได้ให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ที่รัสเซียอาจส่งมอบให้เกาหลีเหนือไปทางทะเลและทางรถไฟ 44 รายการตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว
เป็นการเก็บข้อมูลที่อิงตามภาพถ่ายเชิงพาณิชย์และข้อมูลการติดตามการขนส่งทางเรือเป็นหลัก
อีกด้านหนึ่งรัฐมนตรีกลาโหมของเกาหลีใต้ ชิน วอนซิก ประเมินว่าเกาหลีเหนือได้ส่งกระสุนมากกว่า 3 ล้านนัดไปยังรัสเซีย
และสหรัฐฯ ระบุว่าขีปนาวุธที่ผลิตโดยเกาหลีเหนือบางลูกถูกยิงใส่ทหารยูเครน
เมื่อต้นเดือนนี้ รัสเซียได้ขัดขวางการต่ออายุคำสั่งคว่ำบาตรของสหประชาชาติทุกปี
ทำให้การประเมินสถานะของโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือยากขึ้นมาก
ในขณะที่หัวหน้าสายลับของปูตินก็ไปเยือนเปียงยางด้วย
ตามรายงานของสื่อของรัฐบาลเอง เกาหลีเหนือทดสอบยิงขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงเชื้อเพลิงแข็งตัวใหม่เมื่อวันที่ 2 เมษายน
และดูเหมือนว่ารัสเซียจะให้การสนับสนุนโครงการขีปนาวุธของประเทศนี้ (อ้างจากสำนักข่าว KCNA ของเกาหลีเหนือผ่านรอยเตอร์)
ปูตินได้ส่งรถยนต์หรูที่ผลิตในรัสเซียไปให้เกาหลีเหนือ...อันเป็นการฝ่าฝืนการคว่ำบาตรโดยตรง
สื่อทางการของเกาหลีเหนือรายงานว่า คิม โยจอง น้องสาวและมือขวาของคิม จองอึน "กล่าวขอบคุณอย่างชื่นชมต่อรัสเซีย" โดยอ้างว่า "เป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวพิเศษระหว่างผู้นำระดับสูง"
สองประเทศนี้ไม่ปิดบังความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ที่ชัดเจนมากขึ้นทุกขณะ
ในระดับมหภาค ทั้งสองประเทศพยายามที่จะสร้างกลุ่มการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง “ทางเลือก” เพื่อแข่งขันและยันกับระเบียบระหว่างประเทศเสรีนิยมที่นำโดยตะวันตก
เมื่อรัสเซียจับมือเกาหลีเหนือและประสานไปกับจีนและอิหร่านก็จะเห็นภาพของการรวมกลุ่มใหม่นี้ชัดขึ้นทันที
ต้องไม่ลืมว่า รัสเซียและเกาหลีเหนือยังเป็นสองประเทศที่ถูกคว่ำบาตรหนักมากที่สุดในโลก
ยิ่งทำให้ทั้งสองมีความรู้สึกแน่นแฟ้นยิ่งกว่ากลุ่มใด
เกาหลีเหนือคงต้องการให้อเมริกา “หมกมุ่น” อยู่กับสงครามยูเครนให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้
เพื่อจะได้อุ่นใจว่าอเมริกาจะยังไม่มีเวลาคิดถึงการมาคุกคามหรือโค่นคิมให้ตกจากตำแหน่ง และซื้อเวลาให้เปียงยางเดินหน้าสร้างโครงการขีปนาวุธและนิวเคลียร์โดยมีการขัดขวางน้อยที่สุด
ในทำนองเดียวกัน มอสโกก็ได้ประโยชน์ที่ทำให้สหรัฐฯ กังวลเกี่ยวกับคาบสมุทรเกาหลี เพื่อป้องกันไม่ให้สหรัฐฯ มุ่งความสนใจไปที่ยูเครนมากเกินไป
แต่เกาหลีเหนือและรัสเซียไม่มีและไม่สามารถมีความร่วมมือแบบ "ไม่จำกัด" แบบที่ปูตินประกาศกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนก่อนการรุกรานยูเครนได้
เพราะความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างเปียงยางและมอสโกถูกจำกัดด้วยข้อเงื่อนไขอันเกิดจากมาตรการการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ
ลึกๆ แล้ว ปูตินคงต้องระมัดระวังการให้การสนับสนุนโครงการสร้างอาวุธของคิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการนิวเคลียร์
เพราะปูตินรู้ว่า สี จิ้นผิง ของจีนมีความไม่สบายใจหากเกาหลีเหนือพัฒนานิวเคลียร์ถึงขั้นที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของปักกิ่ง
ดังนั้น ความสัมพันธ์ 3 เส้าของปูติน, สี จิ้นผิง กับคิม จองอึน จึงน่าติดตามและวิเคราะห์เป็นอย่างยิ่ง
เพราะในความแน่นแฟ้นก็มีความเปราะบาง
และในความเปราะบางก็มีความเหนียวแน่น!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ