'ภาษีกู' ทั้งนั้น

เวียนหัวกับรัฐบาลนี้จริงๆ

นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตหัวละหมื่น พูดกี่ทีก็ไม่ค่อยจะเหมือนเดิม

เดิมทีหน้าบาง นั่งยันนอนยันไม่เหมือนคนละครึ่งของรัฐบาลลุงตู่ เพราะไม่ใช่นโยบายสงเคราะห์ หรือช่วยเหลือค่าครองชีพ แต่เป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

วานนี้ (๑๐ เมษายน) นายกฯ เศรษฐา แถลงกลายเป็นการหาเสียงกับประชาชนทุกระดับชั้น

"...โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ตลอดจนยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ เช่น  กลุ่มเปราะบาง กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนและชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ และสามารถพึ่งพาตนเองได้

รวมทั้งจะเป็นการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และยังก่อให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล อันจะนำเข้ามาเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมอีกด้วย

ในส่วนของความคุ้มค่าของการดำเนินงานโครงการ จะให้สิทธิ์แก่ประชาชนจำนวน ๕๐ ล้านคน ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตวงเงิน ๕ แสนล้านบาท และกำหนดให้ใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนด ซึ่งจะเป็นการเติมเงินลงสู่ฐานราก จะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยประมาณ ๑.๒% ถึง ๑.๖%  จากกรณีฐานครั้งนี้ขึ้นอยู่กับรายละเอียดเงื่อนไขของโครงการ..."

เป็นไงครับ เงินดิจิทัลกลายเป็นพาราเซตามอลไปซะงั้น!

ครอบจักรวาล

ปีที่แล้ว นายกฯ เศรษฐา ย้ำแล้วย้ำอีกนะครับ

 “...นโยบาย Digital Wallet ไม่ใช่การสงเคราะห์ประชาชนผู้ยากไร้ แต่เป็นการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจผ่านสิทธิการใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาล (Partnership) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ผ่านสิทธิการใช้จ่าย ๑๐,๐๐๐ บาทครับ”

วันนี้มาหมด กลุ่มเปราะบาง กลุ่มรากหญ้า

พูดก็พูดเถอะ หายไปตั้งหลักอยู่หลายเดือน กลับมาอีกที ที่คืบหน้าคือ ทุนใหญ่สั่งผลิตสินค้ารองรับได้เลย ส่วนธุรกิจริมทางของบรรดารากหญ้า ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย

นักข่าวถาม "ช่วยคลัง" จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ว่า 7-11  และแม็คโคร ถือเป็นร้านค้าขนาดเล็กที่เข้าเงื่อนไขหรือไม่

คำตอบคือ "เบื้องต้นร้านสะดวกซื้อลงมาถือว่าเป็นร้านขนาดเล็ก เพราะต้องการให้เงินกระจายอยู่ในชุมชน  ส่วนแม็คโคร ห้างค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ ซูเปอร์มาร์เก็ต  และห้างสรรพสินค้าไม่รวมไม่นับ"

นั่นเพราะคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน  ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่าน Digital Wallet กำหนดสเปกร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

ก็จบครับร้านค้าริมทางหาเช้ากินค่ำรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ไม่ได้ประโยชน์จากนโยบายแจกเงินครั้งนี้เลย

เจ้าสัวรับทรัพย์

พรรคเพื่อไทยตอนเป็นฝ่ายค้านไม่ใช่หรือ ที่แหกปากด่ารัฐบาลลุงตู่ว่านโยบายคนละครึ่งเอื้อนายทุน ทำให้ประชาชนเป็นหนี้ร้อยปี

แล้วตอนนี้เป็นไง

ยังไม่ทันเริ่มแจกเลียตูดทุนใหญ่เสียแล้ว

ซูเปอร์มาร์เก็ต สมัยนี้ เขาเปิดเป็น มินิ เป็นค้าปลีกไซส์เล็ก ตามซอกซอยเต็มไปหมด

มาถึงประเด็นสำคัญ คือเรื่องที่มาของเงิน

เลิกออกเป็นพระราชบัญญัติกู้เงินเป็นที่เรียบร้อย เพราะรัฐบาลรับรู้แล้วว่าผิดกฎหมายหลายมาตรา ขืนดื้อดึงต่อ รัฐบาลพัง!

แต่มันก็สะท้อนครับว่า รัฐบาลไม่มีความเป็นมืออาชีพเลย พรรคเพื่อไทยกำหนดนโยบายขึ้นมาโดยไม่มีการเตรียมความพร้อมที่ดีพอ

เพราะเป้าหมายคือหาเสียง ไม่ใช่กระตุ้นเศรษฐกิจ

ยิ่งรัฐบาลบอกว่านโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตมีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะประเทศกำลังอยู่ในวิกฤตเศรษฐกิจ ก็ต้องยิ่งศึกษาเตรียมความพร้อมนโยบายให้สามารถนำมาใช้ได้ในทันที

กลับกลายเป็นว่า ไม่มีอะไรอยู่ในหัว เปลี่ยนที่มาของเงินไปเรื่อย

ล่าสุดคือ "ภาษีกู" นี่แหละครับ

จากการแถลงข่าวของ "ลวรณ แสงสนิท" ปลัดกระทรวงการคลัง บอกแหล่งที่มาของงบประมาณ มาจาก ๓ แหล่ง

๑.งบประมาณปี ๒๕๖๘ จำนวน ๑๕๒,๗๐๐ ล้านบาท มีการขยายกรอบวงเงินในปี ๒๕๖๘ เรียบร้อยแล้ว

๒.จะมาจากการดำเนินการผ่านหน่วยงานของรัฐ  จำนวน ๑๗๒,๓๐๐ ล้านบาท รายละเอียดตรงนี้จะใช้มาตรา ๒๘ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกรจำนวน ๑๗ ล้านคน  ผ่านกลไกมาตรา ๒๘ ของปีงบประมาณ ๒๕๖๘

และ ๓.มาจากการบริหารจัดการเงินงบประมาณของปี ๒๕๖๗ ของรัฐบาลเอง จำนวน ๑๗๕,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งงบประมาณปี ๒๕๖๗ เพิ่งใช้ ยังมีเวลาที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาว่ารายการไหนสามารถปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงงบกลาง อาจจะมีการนำมาใช้เพิ่มเติมในส่วนนี้ถ้าวงเงินไม่เพียงพอ

เป็นอันว่างบประมาณปี ๒๕๖๘ ต้องตั้งขาดดุลเพิ่ม ๑๕๒,๗๐๐ ล้านบาท

ส่วนงบประมาณปี ๒๕๖๗ ที่เพิ่งจะใช้กันไป ก็คงจะเหลือให้ใช้ต่อเพราะอีก ๖ เดือนก็สิ้นปีงบประมาณแล้ว

ส่วนการไปล้วงเงิน ธ.ก.ส. รัฐบาลยังไม่ได้บวกดอกเบี้ย และการสูญเสียรายได้ของ ธ.ก.ส. ทบต้นทบดอก  ๒ แสนล้านไม่น่าจะเอาอยู่

แบงก์ชาติถึงได้ออกมาเตือนทันควันว่า การใช้มาตรา ๒๘ เป็นเรื่องที่ต้องกังวล ควรต้องผ่านกระบวนการหลักเกณฑ์ถูกต้องครบถ้วน มองทั้งเรื่องเสถียรภาพ สภาพคล่องที่ต้องพิจารณา

ยังมีเรื่องแนวทางปรับลดระดับหนี้สาธารณะ

ระบบการชำระเงิน เพราะมีความซับซ้อน ระบบต้องเสถียร และดูแลข้อมูลส่วนบุคคลได้ ต้องปลอดภัยต่อภัยไซเบอร์

ครับ...รัฐบาลจัดให้แล้วนะครับ

ที่คืบหน้าคือหนี้จากโครงการนี้ไม่ใช่ ๕ แสนล้านแน่ๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทลายทุนผูกขาด

ชื่นใจ... ชื่นใจในความรวยของเศรษฐีไทยครับ วารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยติดต่อกันปีนี้เป็นปีที่ ๓๑ แล้วครับ

นายกฯ ฝึกงาน

ขยี้ตาสิบที... แถลงผลงานในรอบ ๓ เดือนแน่นะ "อิ๊งค์" ไปดูอีกทีกับการแถลงข่าววานนี้ (๑๒ ธันวาคม)

ชะตากรรม 'นายกฯ ชินวัตร'

วันนี้ (๑๒ ธันวาคม) นายกฯ อิ๊งค์ แถลงผลงาน อยากรู้ว่าผลงานมีอะไรบ้าง เชิญเฝ้าหน้าจอสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที หรือช่อง ๑๑ นั่นแหละครับ

ง่ายๆ แค่เลิกโกง

อาจถึงขั้นเปลี่ยนขั้วตั้งรัฐบาลกันเลยทีเดียวครับ... หากพรรคเพื่อไทย จะเอาให้ได้ กับร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ด้วยการจับยัดเข้าสภาฯ ก็สามารถยึดอำนาจกองทัพได้สำเร็จครับ