กองทัพพม่าย่ำแย่ถึงขั้นต้อง เกณฑ์โรฮิงญามาช่วยรบแล้ว?

กองทัพพม่าเพลี่ยงพล้ำหนักถึงขั้นต้องไปพึ่งพาชาว “โรฮิงญา” ที่เคยถูกขับไสไล่ส่งเลยหรือ?

สื่อต่างชาติหลายแห่งรายงานตรงกันว่ามีการติดต่อให้ชาวโรฮิงญามาติดอาวุธร่วมรบกับฝั่งทหารพม่า

เพื่อสู้รบกับฝ่ายต่อต้านในสมรภูมิหลายแห่งที่กองทัพพม่ากำลังล่าถอยหรือเตรียมจะเปิดศึกรอบใหม่

สหประชาชาติเคยกล่าวหากองทัพพม่าสังหารชาวมุสลิมโรฮิงญาหลายพันคน เข้าข่าย "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์"

แต่วันนี้ต้องหันมาขอให้พวกเขาช่วยเพื่อประคองสถานการณ์ที่ย่ำแย่

บีบีซีบอกว่าจากการสัมภาษณ์ชาวโรฮิงญาหลายคนที่อยู่ในรัฐยะไข่ชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 100 คน ถูกเกณฑ์ทหารในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

บางคนบอกว่าจำเป็นต้องไปร่วมกับกองทัพเพราะกลัว

หนึ่งในคนที่ตอบคำถามของบีบีซีบอกว่าอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่งใกล้เมืองซิตตเว เมืองหลวงของรัฐยะไข่

เขาเล่าว่าช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาหัวหน้าค่ายผู้ลี้ภัยมาบอกกลางดึกคืนหนึ่งว่าต้องไปเป็นทหาร

หากแข็งขืน ครอบครัวจะไม่ปลอดภัย

อีกหลายคนก็เจอกับภาวะกดดัน เพราะมีเจ้าหน้าที่วนเวียนอยู่รอบค่ายสำหรับผู้พลัดถิ่น สั่งให้คนหนุ่มไปรายงานตัวเพื่อฝึกทหาร

เรื่องประหลาดก็คือชาวโรฮิงญายังไม่มีสถานภาพเป็นพลเมืองของเมียนมา

และยังถูกเลือกปฏิบัติอีกมากมายหลายกรณี

ไม่ว่าจะเป็นยุคทหารครองเมือง หรือแม้ตอนที่อองซาน ซูจีได้ขึ้นบริหารประเทศในช่วงสั้น ๆ รัฐบาลเมียนมาก็ไม่ยอมรับการดำรงอยู่ของโรฮิงญา

กลับเรียกพวกเขาว่าเป็น “พวกบังกาลีที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย”

บีบีซีรายงานว่าในปี 2012 ชาวโรฮิงญาหลายหมื่นคนถูกไล่ออกจากชุมชนหลายแห่งในรัฐยะไข่

ถูกบังคับให้ต้องอาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพที่มีสภาพย่ำแย่

หลังจากนั้น 5 ปีในเดือนสิงหาคม 2017 ชาวโรฮิงญากว่า 700,000 คนต้องลี้ภัยออกจากพม่ายังบังกลาเทศเพราะกองทัพเปิดปฏิบัติการกวาดล้างชาวโรฮิงญาครั้งใหญ่

มีการกล่าวหาว่าทหารพม่าสังหารและข่มขืนชาวโรฮิงญาหลายพันคน

มีภาพและข่าวยืนว่ามีการเผาหมู่บ้านหลายแห่ง

ทุกวันนี้ ยังมีชาวโรฮิงญาอีกกว่า 600,000 คนที่อาศัยอยู่ในเมียนมาในสภาพที่ไม่รู้อนาคตของตน

มิหนำซ้ำ รัฐบาลพม่ายังถูกฟ้องข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอแลนด์

ข่าวแรก ๆ ที่ยืนยันว่ากองทัพพม่าได้เกณฑ์ชาวโรฮิงญาไปร่วมรบก็เพราะเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา กองทัพอาระกันที่ต่อสู้กับทหารพม่าได้เผยแพร่รูปภาพการสู้รบหลังจากที่เข้ายึดฐานที่มั่นทางทหาร 3 จุดได้ที่อ้างว่าอย่างน้อย 3 ศพที่ระบุได้ว่าเป็นชาวโรฮิงญา

แต่กองทัพเมียนมาออกปฏิเสธว่าได้ใช้ชาวโรฮิงญาไปต่อสู้กับกองทัพอาระกัน

พลจัตวาซอ มิน ตุน โฆษกของกองทัพเมียนมา บอกกับบีบีซีว่า ไม่มีแผนจะส่งชาวโรฮิงญาไปที่แนวหน้า

แต่จากการสัมภาษณ์กับบีบีซี ชาวโรฮิงญา 7 คนจากค่ายผู้ลี้ภัย 5 แห่งใกล้เมืองซิตตเว ล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขารู้ว่ามีชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 100 คน ที่ถูกเกณฑ์ทหารและถูกส่งไปสู้รบแล้วในปีนี้

วิธีการที่ยังดำเนินการอยู่ก็คือการให้ผู้นำค่ายผู้ลี้ภัยพยายามชักชวนชายหนุ่มที่ยากจน รวมถึงคนไม่มีงานให้ไปเกณฑ์ทหาร

ด้วยข้อเสนอดูแลครอบครัวตอนไปฝึกหรือออกไปรบโดยใช้เงินบริจาคที่ได้มาจากผู้อาศัยในค่ายคนอื่น ๆ

ที่น่าสนใจคือกองทัพฝ่ายต่อต้านอาระกันได้ยกประเด็นความเป็นไปได้ที่จะมอบความเป็นพลเมืองให้กับทุกคนที่เคยอยู่อาศัยในรัฐยะไข่

ทำให้เกิดความหวังในหมู่ชาวโรฮิงญาว่าหากอาระกันสามารถชนะสงครามต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าได้อาจเปิดทางให้ชาวโรฮิงญากลับจากบังกลาเทศก็ได้

บีบีซีอ้างคำพูดของเคียง ตูคา โฆษกของกองทัพอาระกันว่ามุมมองที่มีต่อชาวโรฮิงญาได้เปลี่ยนไปแล้ว

โดยกองทัพอาระกันมองว่าการที่ชาวโรฮิงญาถูกเกณฑ์ทหารเพื่อไปสู้ให้กับเผด็จการทหารถือเป็น "การหักหลังที่เลวร้ายที่สุด สำหรับผู้ที่เพิ่งเป็นเหยื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และสำหรับผู้ที่ต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยจากเผด็จการ"

ในอีกด้านหนึ่ง สื่อที่สนับสนุนกองทัพเมียนมาได้รายงานถึงการประท้วงของชาวโรฮิงญาในเมืองบูตีต่องซึ่งประท้วงต่อต้านกองทัพอาระกัน

แต่ชาวบ้านในเมืองนี้บอกกับนักข่าวพวกเขาสงสัยว่านี่จะเป็นการจัดฉากโดยกองทัพเมียนมา ซึ่งพยายามจะทำให้ชาวโรฮิงญาและกองทัพอาระกันแตกแยกกัน

น่าสนใจตรงที่ว่าสงครามกลางเมืองพม่ามาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญขนาดที่อาจจะพลิกความสัมพันธ์ระหว่างชาวโรฮิงญากับอาระกันกันแล้ว!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว

อองซาน ซูจี: เสียงกังวล จากลูกชายในวันเกิดที่ 79

วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาคือวันเกิดที่ 79 ของอองซาน ซูจี...ในวันที่เธอยังถูกคุมขังเป็นปีที่ 4 หลังรัฐประหารโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021