เมื่อทูตจีนไปขอพบอดีตผู้นำทหารพม่าอย่างน้อย 2 คน ในจังหวะที่กองทัพพม่ากำลังเพลี้ยงพล้ำในสนามรบให้กับฝ่ายต่อต้าน ก็มีการคาดการณ์กันว่าปักกิ่งกำลังรณรงค์หาทางออกให้วิกฤตของพม่าอย่างไรหรือไม่
ภาพชุดนี้จะเห็นเอกอัครราชทูตจีนประจำเมียนมา Chen Hai ไปพบนายพลตาน ส่วย และอดีตนายทหารรองจากตาน ส่วย คือหม่อง เอ และอดีตประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ที่เมืองหลวงเนปยีดอ
ถือเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกและอาจจะมีความหมายทางการเมืองในจังหวะที่จีนมีความกังวลต่อสถานการณ์ในพม่าค่อนข้างสูง
สื่อทางการไม่ได้บอกว่าการพบปะกับอดีตผู้นำพม่าของทูตจีนมีขึ้นวันไหน แต่เข้าใจว่าเป็นช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะในคำบรรยายภาพระบุว่า เนื่องในโอกาส “ปีใหม่” ซึ่งก็ตรงกับสงกรานต์ของไทยเรานี่เอง
รายงานข่าวชิ้นนี้บอกว่า ทูตจีนให้คำมั่นกับอดีตผู้นำพม่าว่าปักกิ่งจะยังเดินหน้าสนับสนุนสันติภาพ, เสถียรภาพและความสมานฉันท์ รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนพม่าต่อไป
แม้ว่านายพลตาน ส่วย จะเกษียณตั้งแต่ต้นปี 2011 แต่นักการทูตจีนก็มักจะไปเยี่ยมเยือนเสมอ
ปีที่แล้ว เห็นชัดว่าทางการจีนให้ความสำคัญกับอดีตนายทหารที่ยังทรงอิทธิพลคนนี้ต่อเนื่อง...โดยเฉพาะในภาวะที่ฝ่ายต่อต้านเพิ่มกิจกรรมการสู้รบต่อรัฐบาลทหารของมิน อ่อง หล่าย อย่างมีนัยสำคัญ
ที่น่าจะเกี่ยวโยงกับกิจกรรมทางการทูตของจีนในพม่าก็คือข่าวจากกองทัพจีนเองที่ได้ยกระดับการเตรียมพร้อมตรงบริเวณชายแดนจีนติดกับพม่า ที่มีการสู้รบระหว่างกองกำลังโกก้างกับกองทัพพม่า
ข่าวสัปดาห์ที่ผ่านมาอ้างกองทัพปลดแอกประชาชนที่ประกาศว่าจะยังคงเฝ้าระวังระดับสูง และ “เสริมสร้างความเข้มแข็งยิ่งขึ้น” ในการลาดตระเวนและการควบคุมตามแนวชายแดนจีนติดกับเมียนมา
หลังจากการฝึกซ้อมด้วยกระสุนจริงในพื้นที่ดังกล่าวในสัปดาห์ที่ผ่านมา
บทความที่ตีพิมพ์โดยทางการของ PLA Daily ระบุว่า ความตึงเครียดได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ทางตอนเหนือของเมียนมา อันเป็นบริเวณที่กลุ่มต่อต้านกำลังรุกไล่ฝ่ายกองทัพรัฐบาลอยู่
คำแถลงของกองทัพจีนบอกว่า แม้ว่าทั้งสองประเทศจะเป็นเพื่อนบ้านที่ “เป็นมิตร” มานานหลายทศวรรษ แต่สงครามทางตอนเหนือของเมียนมาได้กลายเป็น “ภัยคุกคามอย่างรุนแรง” ต่อความมั่นคงและเสถียรภาพในพื้นที่ชายแดน
และ “ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัยบริเวณชายแดนทั้งสองฝ่าย”
ภาษาของบทความที่ฝ่ายจีนใช้ขึงขังจริงจังไม่น้อย
อีกตอนหนึ่งบอกว่า “กองทัพจีนมีการตื่นตัวอยู่เสมอ และจะยกระดับการลาดตระเวนและมาตรการควบคุมชายแดน ตลอดจนการคุ้มครองความมั่นคงระหว่างจีนและเมียนมา”
โดยเน้นว่า PLA จะใช้ “มาตรการที่จำเป็นทั้งหมด” เพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติและความปลอดภัยของประชาชน
เป็นที่รู้กันว่าพม่าได้ตกอยู่ในภาวะ “สงครามกลางเมือง” อย่างยืดเยื้อต่อเนื่องหลังจากการรัฐประหารโดยมิน อ่อง หล่าย เมื่อกว่า 3 ปีก่อน
แรกเริ่มนั้น ฝ่ายทหารคงเชื่อว่าแม้จะมีการต่อต้านในระยะแรก แต่หากมีการปราบปรามอย่างจริงจังก็ยังจะสามารถระงับยับยั้งฝ่ายต่อต้านได้
แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่
เพราะกลุ่มต่อต้านในเมือง เมื่อถูกไล่ล่าโดยกองทัพก็หนีเข้าป่า ตั้งเป็นกองกำลังสู้รบ
และต่อมาก็ได้จับมือกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้ปักหลักสู้กับรัฐบาลกลางมาหลายสิบปีแล้ว
กลายเป็นการรวมตัวของกลุ่มที่ยืนอยู่คนละข้างกับกองทัพมาช้านานอย่างแข็งขัน
และตั้งแต่ “ยุทธการ 1027” ซึ่งเป็นการรวมตัวของ 3 กลุ่มติดอาวุธที่สำคัญคือ โกก้าง, อาระกันและตะอาง เป็น “พันธมิตรฝ่ายเหนือ” ก็เห็นการถอยร่นของฝ่ายกองทัพตั้งแต่นั้นมาจนถึงวันนี้
จีนได้แสดงความไม่สบายใจซ้ำแล้วซ้ำอีกเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยของพื้นที่ชายแดนในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ โดยดำเนินการฝึกซ้อมด้วยกระสุนจริงครั้งแรกนับตั้งแต่รัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน ตามมาด้วยการซ้อมรบในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ตามข้อมูลของ PLA การฝึกซ้อมครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นการฝึกซ้อมร่วมที่เป็นการผสมผสานของกองกำลังทางบกและทางอากาศ มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงขีดความสามารถของจีนในการ “จัดการกับเหตุฉุกเฉินต่างๆ” ที่ชายแดน
บทความนี้ย้ำข้อเรียกร้องให้มีการหยุดยิงทางตอนเหนือของเมียนมา
โดยขอให้ “ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องใช้ความยับยั้งชั่งใจสูงสุดและดำเนินการแก้ไขปัญหาผ่านการเจรจา”
ปักกิ่งได้เล่นบทเป็นตัวกลางการเจรจาระหว่างรัฐบาลทหารของเมียนมาและกลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ก่อเหตุโจมตีครั้งใหญ่ในรัฐฉานทางตอนเหนือเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว
จนถึงขณะนี้มีการหารือกันมาแล้ว 4 รอบ
โดยรอบที่สามนำไปสู่ข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว แต่ก็มีรายงานว่ามีการละเมิดโดยรัฐบาลทหารในวันต่อมา
นอกจากเรื่องความมั่นคงแล้ว จีนยังกังวลเกี่ยวกับการหยุดชะงักทางการค้าที่เกิดจากความไม่มั่นคงในภาคเหนือของเมียนมา
การเจรจาสันติภาพรอบที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนที่แล้วในเมืองคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน ซึ่งมีพรมแดนร่วมกับรัฐฉาน
เป็นการเจรจาที่มุ่งเน้นไปที่การให้มีการฟื้นกิจกรรมการค้าชายแดนอีกครั้ง
แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน
สำนักข่าวอิรวดีรายงานการเยือนเมียนมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์โดยผู้ว่าราชการยูนนาน หวัง หยูโป
รายงานข่าวแจ้งว่า นายหวังเข้าพบกับมิน อ่อง หล่าย เพื่อหารือเกี่ยวกับการฟื้นฟูการค้าและการเคลื่อนไหวของสินค้าระหว่างเมียนมาและยูนนาน
สถานการณ์วุ่นวายในพม่าทำให้เพื่อนบ้านทั้งหลายเกิดปัญหากันโดยทั่วหน้าไม่ว่าจะเป็นจีน, อินเดีย, บังกลาเทศ และ สปป.ลาว ซึ่งเป็นประธานหมุนเวียนของอาเซียนปีนี้ด้วย
สำหรับไทย เรื่องพม่าต้องเป็น “วาระแห่งชาติ” อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องได้รับความสนใจระดับต้นๆ ของรัฐบาล
ที่ยังต้องสร้างกลไกการประสานงานของฝ่ายความมั่นคง, ต่างประเทศ, เศรษฐกิจ, สังคมและด้านการปกครองที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ให้จงได้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว