ญี่ปุ่นเสริมแนวป้องกันแนวเกาะ เตรียมรับกรณีจีนบุกไต้หวัน!

ญี่ปุ่นกลัวจีนจะบุกไต้หวันจริงหรือ?

คำตอบคือจริง!

ไม่เฉพาะเพราะเหตุผลด้านภูมิรัฐศาสตร์เท่านั้น

หากแต่ยังโยงกับความตึงเครียดในความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับจีน

และญี่ปุ่นเลือกจะอยู่ข้างไต้หวันมากกว่าปักกิ่ง

เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศแนวปฏิบัติสำหรับหมู่เกาะรอบนอกสำหรับจังหวัดโอกินาวาเกี่ยวกับการก่อสร้างที่หลบภัยและระเบิดหลายแห่ง ซึ่งจะใช้ในกรณีที่จีนบุกไต้หวัน

จุดหลบภัยฉุกเฉินเหล่านี้จะถูกสร้างขึ้นในไม่ช้าบนเกาะอิชิงากิ มิยาโกจิมะ โยนากุนิ ทาเคโทมิ และทารามะ

โดยประกอบด้วยกำแพงอย่างน้อย 30 เซนติเมตร ทำจากคอนกรีตเสริมเหล็ก และมีเสบียงอาหารและน้ำเพียงพอสำหรับดำรงที่พักพิงยามฉุกเฉินเป็นเวลา 2 สัปดาห์

โยนากุนิเป็นเกาะเล็กๆ ซึ่งอยู่ห่างจากโตเกียวประมาณ 2,000 กิโลเมตร และห่างจากไต้หวันเพียง 110 กิโลเมตร กำลังต้องตระเตรียมเผื่อสถานการณ์อันไม่พึงปรารถนาจะระเบิดขึ้น

เพราะเกาะแห่งนี้และใกล้เคียงกลายเป็นแนวหน้าในแผนการของญี่ปุ่น ที่ต้องยกระดับขีดความสามารถด้านการป้องกันของเกาะห่างไกลทางตะวันตกเฉียงใต้อย่างรวดเร็ว

เดือนนี้ ในบรรยากาศความตึงเครียดรอบๆ ช่องแคบไต้หวัน ญี่ปุ่นก็ส่งหน่วยทหารใหม่และขยายฐานทัพบนเกาะต่างๆ

หน่วยใหม่ขนาด 50 นายได้เริ่มปฏิบัติการที่ฐานทัพป้องกันตนเองภาคพื้นดิน (SDF) บนโยนากุนิ

กองทหารมีหน้าที่รับผิดชอบการต่อสู้ทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสกัดกั้นการสื่อสารของศัตรูและเรดาร์รบกวน

ฐานบนเกาะเล็กๆ แห่งนี้ซึ่งมีประชากรประมาณ 1,700 คน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2559

รายงานแจ้งว่ากระทรวงกลาโหมวางแผนที่จะติดตั้งขีปนาวุธภาคพื้นดินสู่อากาศที่นั่นเร็วๆ นี้

และมีแผนจะซื้อพื้นที่ที่อยู่ติดกันเพื่อขยายฐานดังกล่าวเป็น 1.6 เท่าของขนาดปัจจุบัน

เมื่อเร็วๆ นี้ ญี่ปุ่นเปิดฐานบนเกาะห่างไกลอีก 2 เกาะใกล้ไต้หวัน ได้แก่ บนเกาะมิยาโกะในปี 2562 และเกาะอิชิงากิเมื่อปีที่แล้ว

ว่ากันว่าทั้งสองเกาะพร้อมจะรองรับหน่วยขีปนาวุธ

สื่อญี่ปุ่น Nikkei Asia อ้างเจ้าหน้าที่กระทรวงความมั่นคงเล่าว่า เบื้องหลังความเคลื่อนไหวเหล่านี้คือ "สภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงหลังสงครามที่รุนแรงและซับซ้อนที่สุด"

มีรายงานข่าวว่าเรือของจีนบุกรุกน่านน้ำอาณาเขตของญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่ขีปนาวุธของจีน 5 ลูกร่วงลงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2565

นักวิเคราะห์ด้านยุทธศาสตร์ทหารของญี่ปุ่นมองว่าหากจีนโจมตีไต้หวัน ก็มีแนวโน้มจะโยงกับหมู่เกาะญี่ปุ่นที่อยู่ใกล้เคียงเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

ญี่ปุ่นมองว่าหากไม่มีการวางกองกำลังบนเกาะแก่งเหล่านี้ จีนก็อาจจะถือวิสาสะเข้ายึดครองในกรณีที่ต้องเปิดศึกใหญ่กับไต้หวัน

นักวิเคราะห์สงครามมองว่าทหารจีนอาจบุกไต้หวันจากทางตะวันออกเฉียงเหนือหรือตะวันออกเฉียงใต้ของไต้หวัน หรือจากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก

ในกรณีเช่นนั้น หมู่เกาะญี่ปุ่นกลุ่มนี้ก็จะตกอยู่ในแผนการรุกของจีนได้

ที่ญี่ปุ่นต้องกังวลและเตรียมตั้งรับเพราะฟังสี จิ้นผิง ประกาศอย่างชัดเจนว่า

 “การรวมชาติมาตุภูมิอีกครั้ง (กับไต้หวัน) ถือเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”

ญี่ปุ่นไม่เพียงแต่จะสร้างฐานทัพบนเกาะแห่งนี้เท่านั้น

การเสริมกำลังบนเกาะเหล่านั้นของญี่ปุ่นย่อมต้องวางร่วมกับสหรัฐฯ

เพราะเชื่อกันว่าขีดความสามารถของญี่ปุ่นบนเกาะเหล่านี้อาจมีความสำคัญต่อกองกำลังสหรัฐฯ

วันนี้ อเมริกามีฐานทัพเพียง 2 แห่งภายในรัศมี 800 กิโลเมตรจากไต้หวันบนเกาะหลักของโอกินาวา

ในกรณีที่จีนถล่มฐานทัพเหล่านั้น สหรัฐฯ จะต้องระดมกำลังจากกวมหรือฟิลิปปินส์

การที่ญี่ปุ่นเสริมสร้างอำนาจการยิงบนหมู่เกาะริวกิว [หมู่เกาะโอกินาวา] ก็อาจจะช่วยเสริมความมั่นใจให้กับสหรัฐฯ ว่าหากจีนตัดสินใจบุกไต้หวัน ก็จะต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างรุนแรงในช่วงเริ่มต้นของสงคราม

ปีที่แล้ว ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาทำการซ้อมร่วมกันบนเกาะอิชิงากิและจุดอื่นๆ เพื่อสร้างความพร้อมเพรียงของทั้งสองพันธมิตร

เรือของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่ติดตั้งระบบอาวุธ Aegis ยังได้เข้าเทียบท่าที่อิชิงากิเป็นครั้งแรกในเดือนที่ผ่านมา

ผลการลงประชามติเกี่ยวกับการจัดตั้งฐานทัพบนโยนากุนิในปี 2558 ระบุว่า 3-2 เห็นด้วยกับการเสริมกำลังด้านทหาร

คำถามที่สำคัญคือว่า การประเมินว่าจีนจะบุกไต้หวันในช่วงใกล้ๆ นี้เป็นเรื่องคาดการณ์กันไปเองของสหรัฐฯ และญี่ปุ่นหรือไม่

นักวิเคราะห์บางสำนักมองว่าจีนตั้งเป้าที่จะมีความสามารถในการยึดไต้หวันได้ภายใน 5 ถึง 15 ปีข้างหน้า

เป็นไปได้ว่าจีนอาจต้องการรอให้สถานการณ์ดำเนินไปถึงจุดที่ความสนใจของสหรัฐฯ ในไต้หวันลดลง

รัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนที่จะใช้จ่ายด้านกลาโหมเป็นจำนวนเงินรวม 43 ล้านล้านเยน (ประมาณ 10 ล้านล้านบาท) ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่เริ่มในปีงบประมาณที่เริ่มต้นในเดือนเมษายนปีที่แล้ว

รัฐบาลในเดือนธันวาคม สองปีก่อนได้ตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์อนุญาตให้มีการครอบครองอาวุธที่สามารถโจมตีฐานทัพศัตรูได้

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว มิโนรุ คิฮาระ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมถูกตั้งกระทู้ถามในรัฐสภาว่า โยนากุนิจะถูกรวมไว้ในการติดตั้งอาวุธดังกล่าวหรือไม่

เขาตอบว่า “ขณะนี้เรากำลังพิจารณาความเป็นไปได้ต่างๆ มากมาย รวมถึงเกาะโยนากุนิด้วย”

ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นถึงความตึงเครียดในย่านนี้ที่โยงกับไต้หวันในระดับที่มีแต่จะเพิ่ม...ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ว่าจะมีทางเจรจาต่อเพื่อลดภาวะความร้อนแรงได้เลย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว

อองซาน ซูจี: เสียงกังวล จากลูกชายในวันเกิดที่ 79

วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาคือวันเกิดที่ 79 ของอองซาน ซูจี...ในวันที่เธอยังถูกคุมขังเป็นปีที่ 4 หลังรัฐประหารโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021