ถ้าเราจะเป็น ‘ฮับโน่นฮับนี่’ เราต้องทำการบ้านอะไรบ้าง?

นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ประกาศจะให้ไทยเป็น “ฮับ” ด้านต่างๆ รวมถึงด้านเทคโนโลยี เช่น  semi-conductors ทำให้เราต้องถามว่าประเทศเพื่อนบ้านของเราที่เขาก็กำลังเดินแนวทางเดียวกันนี้กำลังทำอะไรอยู่

ล่าสุด ข่าวจากปีนังของมาเลเซียทำให้เราต้องลุกขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้ให้ละเอียดรอบด้าน เพราะใครก็ประกาศเป็น “ฮับ” ได้ แต่ใครจะทำสำเร็จหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

จะมีความฝันและความทะเยอทะยานเพียงใด ถ้าไม่สามารถนำไปสู่การทำให้เกิดขึ้นจริงได้ก็เป็นเพียงคำมั่นสัญญาที่ต้องการจะสร้างภาพให้สวยงามเท่านั้น

ข่าวบอกว่ามีบริษัทต่างชาติที่สนใจจะมาลงทุนสร้าง “ชิป” ในไทยเป็นเจ้าแรกแล้ว เราก็กำลังรอคำยืนยันและรายละเอียดจากทางการอยู่

แต่เมื่อไม่กี่วันก่อนมีคำประกาศจากมาเลเซียว่า บริษัท Advantech ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์อุตสาหกรรมของไต้หวันกำลังเพิ่มการลงทุนในด้านการผลิตและการปฏิบัติการอื่นๆ ในมาเลเซีย

และประกาศว่าจะสร้างให้เป็น “ศูนย์กลางระดับภูมิภาค” ในการให้บริการลูกค้าทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ทางบริษัทนี้จะนำไปเปิดศูนย์แบบเดียวกันนี้ในเม็กซิโกและตุรกีด้วย

หากตรวจสอบข้อมูลเรื่องนี้จะพบว่าคอมพิวเตอร์และผลิตภัณฑ์ Internet of Things ของ Advantech ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ไปจนถึงระบบรถไฟความเร็วสูง

พอเกิดวิกฤตระหว่างประเทศ เพิ่มความตึงเครียดทางการเมืองไปทั่ว ทำให้เกิดปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทไต้หวันแห่งนี้ก็เริ่มยุทธศาสตร์ขยายกิจกรรมไปหลายๆ ประเทศ

เป็นแผนการที่จะขยายขอบเขตการผลิตไปทั่วโลก และเพิ่มการลงทุนทั้งในด้านการเงินและทรัพยากรบุคคล

เพื่อสร้างให้ตนกลายเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคเพื่อตอบสนองต่อลูกค้าที่ก็ต้องการจะกระจายธุรกิจและความเสี่ยงของตนเองเหมือนกัน

เมื่อเร็วๆ นี้บริษัทได้เปิด “ศูนย์บริการร่วมแห่งใหม่” รวมไปถึงการเพิ่มสายการผลิตผ่านพันธมิตรการผลิตตามสัญญาในปีนังของมาเลเซีย

ใครไปปีนังช่วงหลังจะเห็นว่าเขากำลังจะยกระดับตัวเองให้เป็น Silicon Valley ของมาเลเซียอย่างคึกคัก นอกเหนือจากจะเป็นเกาะสำหรับนักท่องเที่ยวและเป็นศูนย์กลางการศึกษาระดับสากลด้วย

บริษัทไต้หวันแห่งนี้ยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในมาเลเซียเพื่อสร้างบุคลากรที่มีความสามารถด้านวิศวกรรมชั้นสูงมาตั้งรับกับการขยายงานของตนด้วย

ผู้บริหารของ Advantech เปิดตัวเองอย่างร้อนแรงในมาเลเซีย

"เรากำลังทุ่มเทความพยายามอย่างมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราทุ่มทุนเพื่อสร้างศูนย์บริการร่วมแห่งใหม่ของอาเซียนในปีนัง ... นี่คือกลยุทธ์สำคัญของเรา - ในการเลือกสถานที่อย่างรอบคอบและแผ่ขยายการเข้าถึงของเราไปยังทั่วภูมิภาค”  Vincent Chang กรรมการผู้จัดการของ Advantech ประจำภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคข้ามทวีปกล่าวกับ Nikkei Asia

"เราจะจำลองกลยุทธ์นี้ในเม็กซิโกและตุรกีในภายหลัง ดังนั้นโมเดลนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงต้องประสบความสำเร็จ”

น่าสนใจว่าบริษัทระดับสากลอย่างนี้ เวลาที่เขาวางแผน เขามองทั้งโลกเป็นแหล่งผลิตและตลาดไปพร้อมๆ กัน

เขาแบ่งตลาดเกิดใหม่ออกเป็น 4 ภูมิภาคกว้างๆ ได้แก่ เอเชียแปซิฟิก อินเดีย ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา

ยอดขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น 200% ในช่วงหกหรือเจ็ดปีที่ผ่านมา เพราะความต้องการจากบริษัทต่างๆ ที่ต้องการจะลดความเสี่ยงด้วยการกระจายห่วงโซ่อุปทานของตน เพราะไม่ต้องการจะถูกเหตุการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์มากระทบต่ออนาคตของธุรกิจของตน

เขามองถึงพลวัตของตลาดที่มีส่วนเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ  และจีน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทาน 'China+1'”

นั่นหมายความว่านโยบายของต่างชาติที่ไปลงทุนในจีนจะต้องคิดหาอีกประเทศหนึ่งในอาเซียนที่จะกระจายความเสี่ยง และเป็น “หลุมหลบภัย” ในกรณีเกิดความขัดแย้งรุนแรงด้วย

เขาเลือกปีนังเพราะเคยเป็น 'ซิลิคอนแวลลีย์แห่งตะวันออก' ที่ต้องการจะฟื้นคืนบทบาทนี้อย่างคึกคัก

อีกทั้งยังมีห่วงโซ่อุปทาน หรือ suppliers ที่มีเทคโนโลยีสูงจำนวนมากรวมตัวกันที่นั่นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เขามองว่าศูนย์บริการร่วมแห่งนี้จะตอบสนองความต้องการจากตลาดอาเซียน เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม ไทย และอินโดนีเซีย

เขาเลือกปีนังด้วยเหตุผลอันใด?

ผู้บริหารของ Advantech ยอมรับว่ามาเลเซียไม่ใช่ตัวเลือกที่คุ้มค่าที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่วัฒนธรรมและภาษาที่หลากหลาย รวมถึงบุคลากรคุณภาพสูงจะเป็นประโยชน์ต่อกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัท

อีกทั้งยังสามารถจับมือกับซัพพลายเออร์ในท้องถิ่นเพื่อจ้างบุคคลภายนอกในการผลิตในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นหมายถึงความคล่องตัวในแง่ของคุณภาพของคนและเครือข่ายของ suppliers ที่มีประสิทธิภาพสูง

เขาตั้งเป้าที่จะขยายทีมวิศวกรในอาเซียน และในระยะยาวจะพัฒนากลุ่มผู้มีความสามารถระดับภูมิภาคที่ธุรกิจต่างๆ ของบริษัทสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

เขาจะสร้างคนอย่างไร?

หนึ่งในกลยุทธ์คือการทำบันทึกความเข้าใจกับมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์มาเลเซีย เพื่อสร้างห้องปฏิบัติการ "ปัญญาประดิษฐ์ของสรรพสิ่ง" ภายในสิ้นปีนี้

นอกจากนี้ยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือในประเทศไทย เพื่อปลูกฝังผู้มีความสามารถในอุตสาหกรรม Internet of Things

เรามีสถาบันชั้นสูงในเรื่องเหล่านี้ที่ต่างชาติมองเห็นความสำคัญแล้ว อยู่ที่เราจะใช้ศักยภาพของเราเองให้เต็มที่กว่าที่ผ่านมาอย่างไรเท่านั้น

เขามีหลักคิดที่ว่า หากจะสำเร็จในระยะกลางและระยะยาวต้องสร้างบุคลากรที่เก่งขึ้นมาตลอดเวลา

การสร้าง “ทุนมนุษย์” หรือ human capital ต้องไม่มองว่าเป็น “ค่าใช้จ่าย” หากแต่เป็นการ “ลงทุน” เพื่ออนาคตและความยั่งยืน

ส่วนหนึ่งของแผนงานคือการเปิดกว้างให้นักศึกษาของสถาบั้นชั้นสูงของมาเลเซียมาเป็นนักศึกษาฝึกงานและวิศวกรของบริษัทได้ในอนาคตอันใกล้นี้

นี่คือตัวอย่างเล็กๆ ของการรุกคืบของบริษัทในภูมิภาคที่มองเห็นอาเซียนเป็นโอกาสใหม่

ขณะที่เราพยายามจะสร้างตัวเองเป็น “ฮับ”  โน่น “ฮับ” นี่ สิ่งสำคัญคือต้องตอบคำถามเรื่อง supply chain และ human capital

สองเรื่องที่ผมยังมองไม่เห็นยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนของรัฐบาลนี้ ขณะที่คนอื่นเขากระโดดเข้ามาใกล้บ้านเราพร้อมกับ “ปัจจัยที่ขาดไม่ได้” ค่อนข้างจะล้ำหน้ากว่าเราไปแล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว

อองซาน ซูจี: เสียงกังวล จากลูกชายในวันเกิดที่ 79

วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาคือวันเกิดที่ 79 ของอองซาน ซูจี...ในวันที่เธอยังถูกคุมขังเป็นปีที่ 4 หลังรัฐประหารโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021