ปูติน-เซเลนสกีแลกหมัด กรณีเหตุก่อการร้ายมอสโก

ตกลงใครอยู่เบื้องหลังเหตุก่อการร้ายต่อโรงคอนเสิร์ตชานเมืองมอสโกที่มีคนตายกว่า 130 คนเมื่อค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา จนกลายเป็นเหตุการณ์ระดับโลก?

คอนเสิร์ตฮอลล์ยอดนิยมในกรุงมอสโกแห่งนี้กลายเป็นสถานที่เกิดเหตุเลวร้ายในตอนเย็นของวันที่ 22 มีนาคม

กลุ่มมือปืนสวมหน้ากากพร้อมปืนไรเฟิลอัตโนมัติ เปิดฉากยิงใส่ฝูงชนในงานแสดงดนตรีร็อก

คอนเสิร์ตฮอลล์ชื่อ Crocus ถูกถล่มโจมตีโดยมือปืน 4 คนที่ยิงกราดใส่ผู้คนอย่างบ้าเลือด

ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังเหตุการณ์ กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ออกแถลงการณ์อ้างความรับผิดชอบ

ต่อมา กลุ่มไอเอสออกคลิปผ่านโซเชียลมีเดีย อ้างว่าเป็นรูปที่มือปืนของตนเป็นคนถ่ายเอาไว้ในขณะปฏิบัติการอันโหดเหี้ยมนั้น

แต่ในคำปราศรัยของประธานาธิบดีปูตินค่ำวันต่อมา มีการโยงไปถึงยูเครน

ผู้นำรัสเซียบอกว่ามือปืนทั้ง 4 ถูกจับได้ขณะพยายามจะหนีข้ามไปยูเครน

และอ้างว่ายูเครนได้เปิดช่องทางไว้ช่วยเหลือการหลบหนีของมือปนกลุ่มนี้ด้วย

แต่ประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนออกมาโต้ว่าปูตินพยายามจะโยนบาปให้คนอื่นทั้งๆ ที่เป็นความผิดพลาดของตนเองอย่างปฏิเสธไม่ได้

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นสองสัปดาห์หลังจากสถานทูตตะวันตกเตือนถึงการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในกรุงมอสโกที่กำลังจะเกิดขึ้น

พร้อมแนะนำให้ประชาชนของตนหลีกเลี่ยงการรวมตัวขนาดใหญ่

ในวันเดียวกันกับที่มีการเตือนนี้ออกมา หน่วยรักษาความปลอดภัยของรัสเซียประกาศว่าได้ขัดขวางการโจมตีสุเหร่ายิวแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 9 มีนาคม

มีรายงานว่าชาวคาซัค 2 คนถูกสังหารในการยิงต่อสู้กับหน่วยต่อต้านการก่อการร้าย

ปูตินไม่เชื่อคำเตือนของตะวันตก

ในคำปราศรัยประจำปีต่อสายลับอาวุโสของรัสเซียเมื่อวันที่ 19 มีนาคม เขาบอกว่า

 “ทั้งหมดนี้คล้ายกับการแบล็กเมล์ และเป็นความตั้งใจที่จะข่มขู่และทำให้สังคมของเราไม่มั่นคง”

เป็นช่วงจังหวะที่กำลังจะมีการเลือกตั้งที่ต่อมามีผลให้ปูตินกลับมาดำรงตำแหน่งสูงสุดของประเทศอีก 6 ปี

ปูตินอาจคิดว่าคำเตือนเรื่องก่อการร้ายในมอสโกของอเมริกาน่าจะเป็นการสร้างบรรยากาศที่ไม่ปกติให้กับคนรัสเซียก่อนจะมีการเลือกตั้ง

แต่เมื่อเหตุร้ายเกิดขึ้นจริง ปูตินจะชี้แจงย้อนหลังก็คงจะไร้ผล

Crocus City เป็นย่านทันสมัย อยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือชานเมืองมอสโก ที่ประกอบด้วยร้านค้าปลีกและความบันเทิงสุดหรู

อีกทั้งเป็นห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป ซึ่งมีสถานีรถไฟใต้ดินเป็นของตัวเอง

ที่นี่เป็นที่จัดแสดงคอนเสิร์ตของกลุ่มใหญ่ๆ เป็นประจำ เช่น Piknik นักดนตรีร็อกรุ่นเก๋าซึ่งมีกำหนดแสดงในคืนวันศุกร์

สถานที่จัดงานแห่งนี้มีความโดดเด่นด้วยเหตุผลอื่นด้วย เพราะเจ้าของคือ Aras Agalarov ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รัสเซีย-อาเซอร์รี ซึ่งมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับปูติน

รายงานบางสื่อระบุว่า อากาลารอฟเป็นคนเชื่อมต่อระหว่างเครมลินและโดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงการเลือกตั้งปี 2016

คำถามใหญ่ตอนนี้ก็คือ ใครบ้างที่อาจอยู่เบื้องหลังเหตุก่อการร้ายครั้งนี้?

เป้าแรกก็คงจะคือกลุ่ม ISIS-K ที่ประกาศอ้างความรับผิดชอบค่อนข้างรวดเร็ว

แต่นักวิเคราะห์หลายสำนักก็บอกว่ายังมีกลุ่มผู้เข้าข่ายสงสัยได้เช่นกัน

ต้องไม่ลืมว่าสงครามที่ยืดเยื้อมาสองปีในยูเครนได้ก่อให้เกิดศัตรูรายใหม่สำหรับรัสเซีย

ทหารรัสเซียที่กลับจากสมรภูมิในยูเครนมาพร้อมอาวุธที่หลุดเข้าไปในแวดวงต่างๆ มากขึ้น

อีกทั้งยังเกิดขบวนการชาตินิยมหัวรุนแรงและระบบศาลเตี้ยที่มีอิทธิพลกว้างขวางขึ้น

มิหนำซ้ำ รัสเซียยังพัวพันกับความขัดแย้งนองเลือดภายในเชชเนียและดาเกสถาน

เพิ่มความเสี่ยงให้กับรัสเซียที่ตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มก่อการร้ายอิสลามิสต์จากหลากหลายแนวมาเป็นเวลานาน

รัสเซียเข้าไปแทรกแซงกิจการในซีเรียเพราะปูตินสนับสนุนรัฐบาลอัล อัสซาด ที่นั่น

ยูเครนปฏิเสธทันควันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีครั้งนี้

รัฐบาลยูเครนกังวลว่าเครมลินอาจพยายามสร้างเหตุการณ์ก่อการร้ายประเภทนี้ เพื่อใช้เป็นอาวุธในการหาข้ออ้างเพื่อยกระดับการถล่มโจมตียูเครน

แต่ไม่ว่าจะสรุปอย่างไร ปูตินก็พยายามจะดึงยูเครนเข้ามาเกี่ยวข้องจนได้

ส่วนกลุ่มรัฐอิสลามโคราซาน (ISIS-K) ที่อ้างความรับผิดชอบนั้นมีประวัติที่น่าศึกษาไม่น้อย

 “โคราซาน” เป็นชื่อเก่าที่ใช้เรียกภูมิภาคนี้ ซึ่งรวมถึงบางส่วนของอิหร่าน เติร์กเมนิสถาน และอัฟกานิสถาน

กลุ่มนี้ถือกำเนิดขึ้นในอัฟกานิสถานตะวันออกเมื่อปลายปี 2014

และสร้างชื่อเสียงอย่างรวดเร็วในเรื่องความโหดร้ายแบบสุดโต่ง

ISIS-K เป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายระดับภูมิภาคที่แข็งขันมากที่สุดของกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอซิส)

แต่จำนวนสมาชิกของกลุ่มนี้ลดลงนับตั้งแต่จุดสูงสุดประมาณปี 2018 เพราะกองกำลังตอลิบานและกองกำลังสหรัฐฯ โหมสกัดกั้นจนเกิดความสูญเสียอย่างหนัก

ISIS-K มีประวัติการโจมตีเป้าหมายหลายอย่าง รวมถึงต่อมัสยิดทั้งในและนอกอัฟกานิสถาน

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ดักฟังได้ถึงการสื่อสารที่ยืนยันว่ากลุ่มนี้ก่อเหตุระเบิดสองครั้งในอิหร่าน คร่าชีวิตผู้คนไปเกือบ 100 คน

ในเดือนกันยายน 2022 กลุ่มติดอาวุธ ISIS-K ออกมาอ้างความรับผิดชอบต่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายที่สถานทูตรัสเซียในกรุงคาบูล

กลุ่มนี้ยังเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุโจมตีสนามบินนานาชาติในกรุงคาบูลในปี 2021 ซึ่งทำให้ทหารสหรัฐฯ เสียชีวิต 13 นายและพลเรือนอีกจำนวนมากระหว่างการอพยพของสหรัฐฯ ออกจากประเทศที่ค่อนข้างวุ่นวาย

ISIS-K จับจ้องไปที่รัสเซียในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยมักวิพากษ์วิจารณ์ปูตินว่ามีนโยบายต่อต้านคนมุสลิมอย่างต่อเนื่อง

สรุปว่าหากปูตินไม่สามารถจะพิสูจน์ว่ายูเครนมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุร้ายครั้งนี้ ก็ต้องยอมรับทฤษฎีว่า IS อยู่เบื้องหลังจริง

ซึ่งก็สะท้อนว่าการบริหารประเทศอีก 6 ปีของปูตินจะเต็มไปด้วยขวากหนามทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

อีกทั้งยังไม่รู้ว่าสงครามยูเครนจะยุติได้เมื่อใด

เพิ่มความเสี่ยงให้กับรัสเซียทั้งประเทศอย่างเห็นได้ชัดขึ้นทุกวัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว

อองซาน ซูจี: เสียงกังวล จากลูกชายในวันเกิดที่ 79

วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาคือวันเกิดที่ 79 ของอองซาน ซูจี...ในวันที่เธอยังถูกคุมขังเป็นปีที่ 4 หลังรัฐประหารโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021