ปฏิเสธไม่ได้ว่า แนวทางของจีนต่อสงครามกลางเมืองพม่าถูกกำหนดโดยผลประโยชน์ของตนเอง
หนึ่งในนั้นคือ ท่อส่งน้ำมันและก๊าซที่พาดผ่านพม่า จากยะไข่ไปจนถึงตอนเหนือของรัฐฉาน
หากด้วยเหตุผลใดก็ตามที่จะทำให้เกิดการชะงักงันของการทำงานของท่อน้ำมันและก๊าซ ก็อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจในจีน
อีกเหตุผลหนึ่งคือ ผลกระทบของสงครามในพม่าต่อการค้าชายแดน ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นเลือดหล่อเลี้ยงประชากรบริเวณดังกล่าว
การค้าชายแดนมูลค่ากว่า 5 พันล้านดอลลาร์ต่อปี (กว่า 170,000 ล้านบาท)
และสงครามช่วงหลังที่ฝ่ายต่อต้านสามารถยึดครองที่ตั้งทางทหารของกองทัพพม่าหลายจุด ตรงบริเวณชายแดนตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ก็ทำให้การค้าชายแดนหยุดชะงักไปอย่างมีนัยสำคัญ
ประการที่สาม จีนต้องการจะปกปักรักษาเขตเศรษฐกิจพิเศษจอก์พยูในรัฐยะไข่
ซึ่งมีความสำคัญเพราะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่ม หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางระดับโลก หรือ Belt and Road Initiative (BRI)
จีนเชื่อว่ารัฐบาลทหารและฝ่ายต่อต้านอาจไม่สามารถทำลายอีกฝ่ายหนึ่งอย่างราบคาบได้
นั่นแปลว่าการสู้รบจะยืดเยื้อ
ยิ่งการสู้รบถูกลากยาวไปเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีน
ดังนั้น จีนจึงพยายามจะเล่นบทกาวใจให้มีการเจรจา อย่างน้อยก็ให้มีการหยุดยิงชั่วคราวเพื่อจำกัดความเสียหาย
ปักกิ่งประเมินแล้วว่า แม้ระบอบการปกครองของทหารภายใต้มิน อ่อง หล่าย จะดูอ่อนแอลงไปมาก แต่ก็ยังไม่ถึงกับล่มสลายในระยะอันสั้นนี้
ที่น่าสนใจคือ มุมมองเดียวกันนี้ก็เป็นของสหรัฐฯ พันธมิตรตะวันตก และเพื่อนบ้านของเมียนมาอย่างไทย, อินเดีย, บังกลาเทศ และ สปป.ลาวด้วย
ประเทศเพื่อนบ้านย่อมไม่ต้องการเห็นความไร้เสถียรภาพตรงชายแดน
และไม่อยากเห็นการค้าชายแดนหดตัวลง
ที่สำคัญคือ ไม่ต้องการเห็นภาพผู้ลี้ภัยหลั่งไหลเข้ามาเพราะความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น
สาเหตุล่าสุดเพราะกองทัพพม่าประกาศบังคับเกณฑ์ทหาร
หลายประเทศในภูมิภาคสนับสนุนบทบาทไกล่เกลี่ยของจีนที่ไม่โฉ่งฉ่างนัก
แกนนำของรัฐบาลทหารพม่าออกมาเตือนประชาคมระหว่างประเทศอยู่เสมอว่าอย่าแทรกแซงกิจการภายในของตน
แม้บางครั้งก็ยังชี้นิ้วกล่าวหาว่าอาเซียนพยายามจะก้าวก่ายเรื่องภายใน
แต่พอจีน “เบ่งกล้าม” ขึ้นมาบ้าง มิน อ่อง หล่าย ไม่กล้าหือเพราะจีนถือเป็น “พี่ใหญ่ทางเหนือ” ที่มีทั้งอำนาจและบารมี
อีกทั้งเป็นที่รู้กันว่า จีนกำลังช่วยทั้งฝ่ายต่อต้านโดยเฉพาะกลุ่มโกกั้งและฝ่ายกองทัพ
เพราะปักกิ่งต้องการรักษา "ดุลแห่งอำนาจ" ในพม่าเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อตนเอง
จีนมีความเชื่อว่า จะให้ระบอบทหารเมียนมาล่มสลายไม่ได้เพราะจะทำเกิดความสับสนอลหม่าน ยิ่งจะทำให้วิกฤตที่มีอยู่เลวร้ายลงไปอีก
และในสถานการณ์เช่นนั้น ผลประโยชน์ของจีนก็จะยิ่งถูกกระทบหนักขึ้นอีก
แต่ขณะเดียวกัน จีนก็เห็นว่ากลุ่มต่อต้านเริ่มจะมีอิทธิฤทธิ์มากขึ้น หากไม่คบหาเอาไว้อาจจะไม่ปลอดภัยสำหรับจีน
เพราะจีนรู้ดีว่า อย่างไรเสียกองทัพพม่าก็ไม่สามารถจะปราบปรามกลุ่มต่อต้านติดอาวุธทั้งหลายให้หมดไปได้
ปักกิ่งผลักดันให้มีการหยุดยิง ในขณะที่กลุ่มพันธมิตรภราดรภาพกำลังเตรียมโจมตีเมืองลาเสี้ยว ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐบาลทหาร
หากมีการหยุดยิงแม้แต่เพียงระยะสั้นๆ ก็จะเป็นการเปิด “พื้นที่หายใจ” สำหรับทหารที่ตกอยู่ในภาวะเพลี่ยงพล้ำ ที่ต้องสูญเสียดินแดนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
บางสำนักข่าวบอกว่าจีนกำลังผลักดันให้รัฐบาลพม่าเจรจากับนางอองซาน ซูจี และผู้นำคนอื่นๆ ของรัฐบาลพลเรือนที่ถูกโค่นในการรัฐประหารเมื่อ 3 ปีก่อน
และมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องหานายทหารมาแทนที่มิน อ่อง หล่าย
ซึ่งน่าจะเป็นนายพลสายกลางที่พอจะพูดจากับกลุ่มต่อต้านอย่างมีเหตุมีผลมากขึ้น
เพราะจีนและหลายฝ่ายเชื่อว่ามิน อ่อง หล่าย อาจจะมีจุดยืนแข็งกร้าวเกินกว่าที่จะช่วยหาทางออกจากวิกฤตที่ยืดเยื้อนี้
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปรับเปลี่ยนระดับนำของกองทัพในจังหวะนี้
โดยเฉพาะขณะที่ยังมีปัญหาในการปฏิบัติการปราบปรามแก๊งหลอกลวงที่ชายแดน ซึ่งเป็นหนามยอกอกปักกิ่งอยู่ขณะนี้
ข่าวบางกระแสบอกว่า จีนมีการเชื่อมต่อกับองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ (EAO) 7 องค์กรตามชายแดนของตน
ขณะเดียวกันก็เพิ่มการติดต่อกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) และ PDF ซึ่งเป็นหน่วยติดอาวุธของรัฐบาลคู่ขนาน
ข่าวบอกด้วยว่าปักกิ่งกำลังเชิญ NUG ให้เปิดสำนักงานในจีนเมื่อต้นปีนี้ที่
แน่นอนว่า กองกำลังต่อต้านจะต้องใช้ยุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาดในการเจรจาเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของตนกับทั้งฝ่ายจีนและฝ่ายกองทัพพม่า
ค่อนข้างจะชัดเจนว่า จีนเข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจการภายในของเมียนมามากขึ้น นับตั้งแต่กลับมามีส่วนร่วมกับรัฐบาลทหารอีกครั้งในปลายปีที่แล้ว
การเจรจาที่คุนหมิงซึ่งมีจีนเป็นคนกลาง กำลังส่งผลกระทบต่อการเมืองของพม่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพราะตัวละครหลักของสงครามกลางเมืองพม่า จะไม่ยอมให้การสู้รบดำเนินต่อไปอย่างไร้ความหวังที่จะหาทางสงบศึก
แต่เมื่อไม่มีใครมีอำนาจเบ็ดเสร็จที่จะกำหนดทิศทางที่แน่นอนได้ เราคงจะต้องหวังว่าประเทศไทยจะทำหน้าที่เป็น “สะพาน” เชื่อมกับ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ทั้งหลายที่จะแสวงหาสูตรที่จะตอบโจทย์ของทุกฝ่ายได้
นั่นคือการแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง
ซึ่งเป็นงาน “ยากแสนยาก” เพราะความซับซ้อนของปัญหา
แต่เพราะมันยาก เราจึงต้องยิ่งทุ่มเทสรรพกำลังมากขึ้น!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ