ฝ่ายธรรมะ-ฝ่ายอธรรม

เรื่องนายพลสีกากี คงต้องว่ากันอีกหลายยก

มันไม่มีทางจบที่รุ่นเราหรอกครับ

เพราะตัวองค์กร ทัศนคติของคนในองค์กร ยังเหมือนเดิมทุกประการ

แนวทางแก้ไขก็พูดกันไปเยอะแล้ว แต่มันไม่เคยมีการลงมืออย่างจริงจัง เพราะการเมืองยังได้ประโยชน์จากตำรวจ และตำรวจเองก็ยังรับประโยชน์จากการเมืองอยู่

จบเรื่อง "บิ๊กต่อ" กับ "บิ๊กโจ๊ก" ก็มีเรื่องใหม่ให้คาวคละคลุ้งอยู่ดี

คงคล้ายปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันกระมัง

ปลดปล่อยเรื่องอื้อฉาวไม่มีจบสิ้น

ฉะนั้นข่าวตำรวจไม่มีเก่า

จะใหม่สดอยู่เสมอ

แต่จะพูดถึงทุกวันคงได้วิงเวียน คลื่นไส้ พะอืดพะอม เป็นแน่แท้

เรื่องความเห็นแตกแยกเป็น ๒ ฝ่าย หากคิดโดยบริสุทธ์ใจ ถือเป็นความต่างที่งดงามตามระบอบประชาธิปไตย

เมื่อไหร่ก็ตามที่เห็นต่างเพราะผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ในด้านไหน มันก็คือจุดเริ่มต้นของความฉิบหาย

เห็นเขายังถกเถียงกันเรื่อง หนังเรื่อง "2475 Dawn of Revolution"

"วิวัธน์ จิโรจน์กุล" ผู้กำกับหนังเรื่องนี้บ่นผ่านโซเชียล ดูแล้วน่าเห็นใจจริงๆ

"...วันนึง ผมไม่รู้จะไปต่อยังไงแล้ว ผมจึงไป พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า พนมมืออธิษฐานต่อพระองค์ว่า ถ้าผมทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ขอให้ผมหมดหนทางไปต่อ ให้งานนี้ล้มเหลว และไม่สามารถเผยแพร่ได้ แต่ถ้าผมทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ขอพระองค์ทรงช่วยให้มีปาฏิหาริย์ ทำให้ผมสามารถทำงานนี้เสร็จ และประสบผลสำเร็จ

ผมไม่รู้หรอกว่า ปาฏิหาริย์ หรือ ความดันทุรัง แอนิเมชันตัวนี้ มันจึงมาถึงจุดหมายปลายทางได้ เราเจ็บปวดที่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของพระองค์ท่านที่เป็นผู้ซึ่งคอยประนีประนอม ประสาน และประคอง ให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด แต่กลับถูกกล่าวร้าย ถูกกระทำต่างๆ นานา แม้จนปัจจุบัน

ผมไม่ค่อยสนใจเรื่องการถูกชี้ว่าเป็นฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ ทุกคนต่างเป็นตัวเอกในเรื่องราวของตัวเอง เป็นเรื่องปกติ เราเพียงแค่ต้องการคืนความเป็นธรรมให้พระองค์ท่าน และคนไทยจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้..."

ก็สืบเนื่องจากความเห็นต่าง ของ "สุดา พนมยงค์" "ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล" ทายาท "ปรีดี พนมยงค์" มีความเห็นโต้แย้งหนังเรื่องนี้ ผ่านสื่อโซเชียล

"...เมื่อประมาณสองปีที่แล้ว เคยมีการสร้างสื่อในลักษณะใส่ร้ายและโจมตีการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ แต่ไม่ได้รับความสนใจจากสังคม จึงไม่ประสบความสำเร็จในการปลุกกระแสดังกล่าว

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การต่อสู้ระหว่างฝ่ายธรรมะ และฝ่ายอธรรม ยังคงดำเนินต่อไปในสังคมอีกยาวนาน

ขอบคุณกรรมการทุกท่าน ที่ได้ช่วยกันพิจารณาวิถีทางรับมือกับกระแสดังกล่าว และขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านยืนหยัดอยู่กับความถูกต้องเสมอไป"

มันมีประเด็น "ฝ่ายธรรมะ" กับ "ฝ่ายอธรรม" ขึ้นมา

แล้วใครจะเป็นคนตัดสิน

เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ มีหลากหลายแง่มุม แม้กระทั่งในหมู่คณะราษฎรเอง ก็ยังแยกเป็น ฝ่ายธรรมะ กับ ฝ่ายอธรรม

ตัดสินยากครับว่าใครเป็นฝ่ายไหน แต่จารึกในอดีตมันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ และพอจะบอกได้ว่า ใครคือฝ่ายธรรมะ ใครเป็นฝ่ายอธรรม

มีข้อมูลยาวยืดจากสถาบันพระปกเกล้า หอจดหมายเหตุแห่งชาติ รวมไปถึง ห้องสมุดสภาผู้แทนราษฎร

"หลวงพิบูลสงคราม" กล่าวไว้เมื่อครั้งการแก้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมบทเฉพาะกาล พุทธศักราช ๒๔๘๓ ในสภาผู้แทนราษฎร

"...ผมขอยืนยันว่า ในชั่วชีวิตเรา บางทีลูกเราด้วย จะต้องรบกันไปอีก และแย่งกันในระบอบเก่ากับระบอบใหม่นี้ เพราะเหตุเราจะต้องประสานกัน เราต้องการความสงบสุข เราต้องการสร้างชาติ

เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น เราจึงไม่ได้ทำอะไรเลยกับพวกที่เห็นตรงกันข้าม ใครจะไปไหนก็ได้ ทำอะไรก็ได้ เมื่อเปรียบกับในต่างประเทศ ท่านทั้งหลายจะเห็นว่า เราทำมาผิดกันไกล เช่น ฝรั่งเศสปฏิวัติกัน เขาก็ฆ่ากันนับพันๆ คน จนถึงกับเอาใส่รถใส่เกวียนไปฆ่ากัน

ส่วนเราเปลี่ยนกัน เปลี่ยนทั้งพระมหากษัตริย์ เปลี่ยนทั้งอำนาจอะไรต่ออะไรด้วย เราก็ไม่ได้ทำอะไรกันเลย มิได้มีการเสียเลือดเนื้อกันเลย

และผมว่า ในชีวิตเรา ในชีวิตลูกของเรา พวกรักระบอบเก่าแก้แค้นก็ไม่หมด เพราะว่าเราปล่อยไว้ อย่าว่าแต่การเปลี่ยนระบอบการปกครองและเปลี่ยนพระมหากษัตริย์เลย ขอให้มองดูใกล้ๆ การเปลี่ยนแต่พระมหากษัตริย์ ตัวอย่าง สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เปลี่ยนจากพระเจ้าตากมาแล้ว ฝ่ายพระเจ้าตากเป็นอย่างไร ฝ่ายพระเจ้าตากต้องถูกประหารชีวิตหมด ถึงกระนั้นก็ดี ตอนหลังก็ยังปรากฏว่าจะมีการแย่งกันอีกเล็กน้อย

นี่ตัวอย่างที่เราเป็นมาแล้ว แต่เราไม่ได้ทำอันตรายใครเกินเหตุ จึงทำให้พะวักพะวนอยู่ แต่ห่วงพวกรักระบอบเก่า พวกผมขอให้หมด ปิดฉากพยาบาทกัน แต่พวกตรงข้ามเขาไม่ยอม ก็ไม่ทราบจะทำอย่างไร เขาแสดงทีท่าว่า ต่อให้ถึงลูกหลานเหลนของเราก็ต้องรบกันอยู่นั่นเอง..."

ความหมายของ "หลวงพิบูลสงคราม" คือควรจะถอนรากถอนโคนตั้งแต่แรก

อีกด้านหนึ่ง บันทึกของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล่าถึงเหตุการณ์ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ปรากฏความตอนหนึ่งว่า

"....ถ้าเราจะรบโดยใช้ทหารหัวเมืองหรือ นั่นเป็นของแน่ที่เราอาจทำได้ แต่ฉันไม่ยินยอมเลยแม้แต่ชั่วขณะเดียว เพราะเจ้านายในกรุงเทพฯ อาจจะถูกฆ่าหมด

ฉันรู้สึกว่าฉันจะนั่งอยู่บนราชบัลลังก์ที่เปื้อนโลหิตไม่ได้ สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ แนะนำตลอดเวลาให้ยินยอมกลับกรุงเทพฯ และช่วยคณะราษฎรจัดตั้งการปกครอง โดยมีกษัตริย์และรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เป็นของที่ฉันเคยอยากจะทำมานานแล้ว แต่ว่าฉันเสียขวัญ...."

และความจริงขณะนั้นคือ คณะผู้ก่อการได้จับพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่เป็นตัวประกัน อาทิ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ อภิรัฐมนตรี, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อภิรัฐมนตรี, พลตรี หม่อมเจ้านิลประภัศร เกษมศรี เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก, พลตรี หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร (พลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ และพลโท พระยาสีหราชเดโชชัย (สวัสดิ์ บุนนาค) เสนาธิการทหารบก เป็นต้น

และเมื่อคณะราษฎรได้ตัวประกันคนสำคัญมาครบ จึงได้ออกประกาศว่า

"ด้วยบัดนี้ คณะราษฎรได้จับพระบรมวงศานุวงศ์มาไว้เป็นประกันแล้ว ถ้าผู้ใดขัดขวางคณะราษฎร ผู้นั้นจะต้องถูกลงโทษ และพระบรมวงศานุวงศ์จะต้องถูกทำร้ายด้วย"

การพูดถึงคณะราษฎรในระยะเริ่มแรก ต้องเหมารวมทั้งหมด มิอาจแยกย่อยเป็นฝักฝ่ายเพราะมีความขัดแย้งกันเองได้

ฉะนั้นเริ่มแรก ๒๔๗๕ จึงปรากฏฝ่ายธรรมะ กับฝ่ายอธรรม ขึ้นมา

ก็ตัดสินกันเองว่าใครเป็นฝ่ายไหน

แต่ที่แน่ๆ ฝั่งที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายธรรมะ แย่งชิงอำนาจกันเองอย่างดุเดือด หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ไม่นาน

 "ปรีดี พนมยงค์" ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นรัฐบุุรุษ ก็เป็นหนึ่งในตัวละครช่วงชิงอำนาจ

"กบฏวังหลวง" เกิดขึ้นหลังรัฐประหารปี ๒๔๙๐ กลุ่มปรีดีหมดอำนาจและต้องหนีไปต่างประเทศ

๒ ปีให้หลัง พยายามกลับมาชิงอำนาจคืนจากรัฐบาล "หลวงพิบูลสงคราม" ผ่านเครือข่ายขบวนการเสรีไทยและกำลังจากทหารเรือ

"ปรีดี" เชื่อมั่นว่าจะได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากกองทัพเรือ

เมื่อเตรียมการแล้ว "ปรีดี" และคนสนิท เดินทางจากกวางตุ้งพร้อมด้วยอาวุธจำนวนมาก มาถึงประเทศไทยในราววันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ และได้จอดเรือที่บริเวณเกาะเสม็ด

"หลวงพิบูลสงคราม" ระแคะระคาย สุดท้ายจบอย่างที่ทราบกัน คณะของปรีดีเป็นกบฏ

แต่หากวันนั้น "ปรีดี" ชนะ ก็จะเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร ที่ฝ่ายประชาธิปไตยแสดงความรังเกียจกันหนักหนา

อยากให้ใครเป็น ฝ่ายธรรมะ ฝ่ายอธรรม ก็จิ้มเอาครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เบื้องหลังผู้ลี้ภัย

เริ่มต้นปีก็ประกาศกันคึกคักแล้วครับ ทั้งฝั่งตรวจสอบ "ทักษิณ" ยัน "ผู้ลี้ภัย" สำหรับ "ทักษิณ" ปีนี้น่าจะโดนหลายดอกตั้งแต่ต้นปี

วันนี้ของ "วันนอร์"

ไม่ค่อยได้เขียนถึง "อาจารย์วันนอร์" สักเท่าไหร่ เพราะไม่มีเหตุให้ต้องวิพากษ์วิจารณ์ แม้แต่ฉายา “รูทีนตีนตุ๊กแก” ที่นักข่าวรัฐสภาตั้งให้ ก็ยังแอบเคืองแทน หาว่ากอดเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯ แน่น

๒๕๖๘ อันธพาลการเมือง

ที่สุดแห่งปีในปีที่แล้วไม่มีใครเกิน "หมูเด้ง" เกิดมาเพื่อดังจริงๆ ไม่ใช่ดังธรรมดา แต่ดังข้ามทวีป คนรู้จักไปทั่วโลก

'ยิ่งลักษณ์' จะกลับมา

สิ้นปีแล้ว...แทนที่จะได้พักหูบ้าง "พ่อริ-ลูกยำ" สมุนตาม ชาวบ้านด่ากันขรม ยังไม่พออีกหรือ

'ทักษิณ' ไม่ไกลคุก

เหตุบ้านการเมืองก่อนสิ้นปี เป็นไปตามสภาพครับ คะแนนนิยมของ "แพทองโพย" ลดลง ตามนิด้าโพล ที่เขาสำรวจ คะแนนนิยมทางการเมือง ไตรมาสสุดท้าย ที่ ๒๙.๘๕ % จากไตรมาส ๓ ที่สูงกว่านิดหน่อย ๓๑.๓๕%